วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ การดลจิต กับพุทธวิธีเพาะนิสัย

ทันโลก ทันธรรม

เรื่อง : พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ (M.D., Ph.D.)
จากรายการทันโลก ทันธรรม ออกอากาศทางช่อง DMC

 

 

     การดลจิต ฟังชื่อแล้วน่าสนใจว่า จะดลจิตดลใจเราหรือคนอื่นได้อย่างไร การที่จะเข้าใจเรื่องนี้ ได้ดีต้องมองเห็นความสัมพันธ์ของการทำงานของใจก่อน คำว่า "ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว" พวกเราคงเคยได้ยิน แต่มีโจทย์ว่า อะไรเป็นนายของใจ ที่คอยสั่งการให้ใจทำอย่างนั้น อย่างนี้ คิดอย่างนั้น อย่างนี้ เรื่องนี้พระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว) ท่านอธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่า สิ่งที่เป็นนายของใจ นั้นคือ นิสัยหรือสิ่งที่เราคิด พูด ทำ จนคุ้น จนเกิดเป็นนิสัย สิ่งนี้คือ สิ่งที่ทำให้ใจเราคิดเรื่องนั้นบ่อย ๆ คิดแล้วก็พูดอย่างนั้น ทำอย่างนั้นบ่อย ๆ นิสัยก็เลยเป็นตัวควบคุมใจอีกชั้นหนึ่ง

         ส่วนเรื่องของสมอง ถ้าหากเราคิด พูด ทำ อะไรซ้ำ ๆ พอคิดเรื่องเดิมเส้นทางวิ่งของระบบประสาทก็จะเป็นไปทางเดิมในเซลล์สมอง ทำให้เส้นทางนั้นมีการพัฒนา เหมือนเป็นทางด่วนพิเศษของข้อมูลในสมอง แขนงประสาทจะมีปลอกมาหุ้ม และวิ่งได้เร็วมาก ถ้าทำต่อเนื่อง ๒๑ วันเมื่อไร ก็จะเกิดสิ่งที่คิด พูด ทำบ่อย ๆ ขึ้นมา การสร้างนิสัย ๒๑ วัน คือ พื้นฐานเบื้องต้นที่ทำให้เกิดการปรับตัว ในระบบเซลล์ประสาทและเซลล์สมองในเส้นทางนั้น ทำให้มีการทำงานที่คล่องตัวและเร็วขึ้น แต่ความจริง แล้วยิ่งเราทำต่อเนื่องนานเท่าไรก็ตาม สิ่งนั้นก็จะยิ่งประทับแน่นในใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งนานผลก็ยิ่ง มาก และจะยิ่งหยั่งรากลงลึก

         หากเข้าใจตรงนี้ดีแล้ว เราจะมองเห็นว่า การ ดลจิตด้วยวิธีการทำใจสบาย ๆ โปร่ง ๆ เบา ๆ เปิดเพลงให้ฟังพอใจเริ่มเคลิ้ม ๆ ก็ให้ท่องคำซ้ำ ๆ เช่น ไม่ชอบกินผัก แต่อยากจะกินผักให้ได้ ก็ท่องว่า กินผัก ๆ เป็นต้น วิธีนี้ทำให้เราเกิดความคุ้นเคยกับสิ่งที่เราอยากจะเป็น เสมือนการตอกย้ำ ความตั้งใจของเรานั่นเอง

         เราต้องเข้าใจกระบวนการทำงานของใจอีกอย่างหนึ่ง คือ เวลาเราคิดอะไรก็ตาม ฟังอะไรก็ตาม ลิ้มรส รับความรู้สึกทางระบบประสาทสัมผัส ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็จะเกิดเป็นภาพขึ้นในใจ เช่น เวลา เราฟังเสียงกีต้าร์ ก็จะมีภาพกีต้าร์เกิดขึ้นในใจ เวลา ใครพูดถึงเพื่อนคนโน้น ภาพของเพื่อนคนโน้นก็จะเกิดขึ้นมาในใจ ถ้าคนไหนใจใส ภาพก็จะชัด ยิ่งเคย ฝึกสมาธิภาพยิ่งชัด แต่คนไหนใจขุ่นมัว ภาพก็จะรัว ๆ ราง ๆ บางทีเจ้าตัวรู้สึกว่าไม่เห็นภาพอะไร จริง ๆ แล้วเห็นเป็นภาพ แต่คุณภาพความชัดมีแค่ระดับหนึ่งตามคุณภาพของใจ

         การที่เราได้ทำอะไรซ้ำ ๆ จะเป็นการช่วยตอกย้ำความตั้งใจและตอกย้ำความคุ้นเคย เพราะ ถ้าคิดอยู่ในใจเฉย ๆ เดี๋ยวก็ไปคิดเรื่องอื่น แต่ถ้าได้พูดออกมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ละคำที่พูดออกมาจะ เกิดภาพสิ่งนั้นขึ้น เช่น พูดว่ากินผัก ก็เห็นภาพ ตัวเองกำลังกินผักเกิดขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยิ่งพูดหลาย ๆ ครั้ง ก็ยิ่งประทับอยู่ในใจชัดเจนหนักแน่น ขึ้น ใจก็มีความคุ้นกับภาพนั้นมากขึ้น ๆ นี้เป็นตัวบ่มเพาะนิสัย เป็นการปรับนิสัยไปเองได้อีกแบบหนึ่ง เหมือนกัน

         แล้วทำไมต้องทำตอนใจสบาย? ก็เพราะว่าตอนที่ใจสบาย สิ่งที่เรารับเข้ามาจะไปอยู่ในใจได้มากที่สุด ถ้าใจเรายังไม่นิ่ง ไม่สบาย กำลังเครียดใจจะเกร็งตัว ไม่นุ่ม จะใส่อะไรเข้าไปก็ใส่ไม่ค่อยเข้า เหมือนแก้วที่ฝายังไม่เปิด หรือเปิดแค่แง้ม ๆ จะใส่อะไรก็ไม่เข้า แต่พอใจสบาย โปร่ง เบา ใจจะนุ่มนวล เมื่อใจนุ่มนวลแล้วจะรับภาพอะไรก็รับได้เต็มที่ เปรียบเสมือนกับเครื่องรับสัญญาณวิทยุที่คลื่นมันตรง ภาพไม่สั่น ไม่พร่า เสียงไม่สั่น ถ้าเป็นโทรทัศน์ก็จูนช่องได้ตรงเป๊ะ กระบวนการดลจิตที่ ทางการแพทย์ใช้อยู่ในปัจจุบันก็เป็นอย่างนี้ อาตมา ไม่อยากใช้คำว่าสะกดจิต เพราะฟังดูแล้วน่ากลัว แต่ให้เราเข้าใจกระบวนการทำงานของใจ รู้ว่าใจทำงานอย่างนี้ ความเข้าใจกระบวนการทำงานนี้ จะเป็นประโยชน์มาก เพราะทำให้เราเห็นการพัฒนา ต่อยอดได้ และสามารถปรับไปใช้ประโยชน์ในแง่มุม ต่าง ๆ ได้เต็มที่ขึ้น

         ถ้าอย่างนี้แล้วกระบวนการสร้างนิสัย หรือที่เรียกว่ากระบวนการดลจิต น่าจะเริ่มตั้งแต่เด็กอยู่ ในท้อง ถ้าตอนลูกอยู่ในท้อง คุณแม่ชอบคิดเรื่องไม่ดี เรื่องเครียด ๆ หรือว่าโกรธใครบ่อย ๆ ก็จะมีผลทั้งทางใจที่สื่อกันระหว่างแม่กับลูก ส่วนทางกาย เวลา โกรธระบบการทำงานของหัวใจ การสูบฉีดเลือดและ ความดันจะเปลี่ยนไป ฮอร์โมนในตัวจะเปลี่ยนไป และจะไปถึงลูกโดยตรง เด็กคนไหนอยู่ในท้องแม่ที่ชอบโกรธ เด็กคนนั้นมีแนวโน้มว่าโตมาจะเป็นคนมักโกรธ คนโบราณรู้หลักนี้เพราะฉะนั้นพอมีเด็ก เขาจะพยายามให้แม่ทำใจสบาย ๆ สวดมนต์ไหว้พระ ทำบุญตักบาตร นึกถึงแต่สิ่งดี ๆ นั่นคือ กระบวน การปลูกฝังนิสัยลูกตั้งแต่อยู่ในท้อง แล้วพอเกิดมาไม่ ต้องรอจนเข้าโรงเรียน ลูกยังพูดไม่ได้ ก็พูดสิ่งดี ๆ ให้เขาฟัง ทำสิ่งดี ๆ ให้เขาเห็น ให้เขาได้รับแต่สิ่ง ดี ๆ เข้าไป เด็กจะค่อย ๆ ซึมซับ เพราะตอนอยู่ใน ท้อง ใจเด็กจะโปร่งเบาสบายพร้อมที่จะรับทุกอย่าง ได้มากที่สุด จึงมีคำกล่าวที่ว่า "รอให้ถึงอนุบาลก็ สายไปเสียแล้ว"

 


 

        จริง ๆ แล้วควรจะเริ่มสอนลูกตั้งแต่ก่อนเด็ก เกิด คือ ก่อนตั้งครรภ์ โดยมีหลักว่าทั้งคุณพ่อคุณแม่ ต้องมีศีล มีธรรม ทำทาน และภาวนาให้ครบ ถ้าอยู่ในบุญอย่างนี้ ถึงคราวเด็กจะมาเกิด ก็จะไปดึงเด็กที่มีบุญใกล้เคียงกับพ่อแม่ในช่วงนั้นมาเกิด ถ้าพ่อแม่ใจเป็นบุญเป็นกุศล เด็กที่มาเกิดจะเป็นเด็กมีบุญ อยู่ในท้องแม่ก็ทำใจให้สบาย อยู่ในบุญตลอด เด็กเกิดมาก็ให้เห็นให้ฟังแต่สิ่งที่ดี ๆ โตขึ้นเด็ก คนนี้จะเป็นเด็กที่ดีมาก ส่วนคุณพ่อก็ต้องให้กำลังใจ คุณแม่ ต้องอารมณ์ดี เบิกบาน มีศีลธรรมด้วยกัน ทั้งคู่ บรรยากาศในครอบครัวก็จะสงบร่มเย็น ซึ่งจะ ส่งผลโดยตรงถึงลูกเหมือนกัน

        เมื่อเข้าใจกระบวนการทำงานของใจแล้ว เราก็นำมาประยุกต์ใช้ได้ในรูปแบบต่าง ๆ ได้ ในพระไตรปิฎก ไม่ว่าจะเป็นชาดกหรือธรรมบทก็ตาม เวลามีเหตุอะไรเกิดขึ้น ก็จะมีพระภิกษุมากราบทูลพระพุทธเจ้า พระองค์ก็จะทรงระลึกชาติไปดู แล้วก็เอาเรื่องในอดีตชาติมาเล่าให้ฟัง เช่น มีบางท่านกินอาหารมากไปจนท้องแตกตาย พอมีพระภิกษุไปกราบทูลถาม พระองค์ทรงระลึกชาติไปดู ก็พบว่าบุคคลผู้นี้ในอดีตก็เคยตายเพราะปากเพราะท้องมาแล้ว ไม่ใช่แค่ชาตินี้ นิสัยคนเราข้ามภพข้ามชาติ ได้ ยิ่งถ้าทำมาหลาย ๆ ชาติ ยิ่งลงลึก บางท่านใช้ศัพท์อีกศัพท์หนึ่งว่าเป็นวาสนา ซึ่งแปลว่าสิ่งที่เราคุ้นเคยผูกพันกันมายาวนาน เป็นนิสัยระดับลึก จนกระทั่งตัดขาดได้ยาก ไม่ใช่ตัวกิเลสโดยตรง แต่ เป็นความคุ้น เหมือนอย่างพระสารีบุตร อัครสาวก เบื้องขวาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในอดีตชาติมีช่วงหนึ่งเกิดเป็นลิงต่อเนื่องกันหลายร้อยชาติ ทำให้ มีความคุ้นเคย แม้แต่หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ แล้ว เวลาพาพระภิกษุที่เป็นลูกศิษย์จาริกไปในที่ ต่าง ๆ บางครั้งเจอน้ำนองพื้นอยู่ ถ้าไม่กว้างจนเกิน ไปแทนที่ท่านจะเดินอ้อม ท่านกลับกระโดดข้ามไปเลย หรือบางคืนท่านก็ไปจำวัดอยู่บนคาคบไม้ เพราะ ความคุ้นเคยมาหลายร้อยชาติจนเป็นวาสนา กิเลสหมดแล้ว แต่วาสนายังตัดไม่ขาด

          เพราะฉะนั้นที่ว่า ๒๑ วันสร้างนิสัยนั้น เป็นได้แค่ส่วนของร่างกาย เป็นแค่พื้นฐานเบื้องต้น ความจริงคือยิ่งตอกย้ำมากเท่าไร ก็ยิ่งฝังลึกไปในใจเรามากขึ้นเท่านั้น เมื่อเข้าใจหลักอย่างนี้แล้ว นำไปใช้ปรับตัวเองได้ ถ้าเราเห็นว่าอะไรไม่ดี อยาก จะแก้ ก็ตั้งใจให้จริง ๆ ด้วยวิธีการตอกย้ำ ซึ่งทำได้ หลายวิธี ลักษณะการดลจิตก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้กันอยู่ เราใช้วิธีการอื่นเสริมได้ เช่น การเขียน ตั้งใจ จะทำอะไรก็เขียนลงไปเลย การเขียนก็เป็นการตอกย้ำแบบหนึ่ง แต่ต้องทำตอนใจสบาย ๆ อย่างตอนทำสมาธิ พอใจโปร่งเบาสบายจริง ๆ ตั้งใจอะไรตอนนั้นจะแรง ผลจะเกิดเต็มที่ แล้วก็ย้ำกับตัวเองบ่อย ๆ ทบทวนตัวเองทุกวัน ตั้งใจปฏิบัติให้ได้อย่างจริงจัง ทำได้...ทำได้ แล้วทำต่อเนื่องไปไม่ใช่แค่ ๒๑ วัน แต่ทำไปอย่างสม่ำเสมอ จะยากที่สุดอยู่ ๗ วันแรก แต่พอผ่าน ๗ วันไปได้ถือว่า ชนะไป ๗๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว ให้ประคองต่อไปอีก ๒๑-๒๒ วัน ก็ถือว่าชนะไป ๙๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว จากนั้นก็จะทำไปได้แบบสบาย ๆ ยิ่งนานไปเท่าไร สิ่งนั้นจะยิ่งฝังรากลึกในใจของเรา และจะส่งผล ไม่เฉพาะชาตินี้ แต่ส่งผลข้ามภพข้ามชาติ ไม่ว่าจะ เป็นด้านบวกหรือด้านลบก็ตาม

            เมื่อรู้หลักอย่างนี้แล้ว เรามาดลจิตดลใจด้วย ตัวเราตามพุทธวิธีกันเถิด คือ ตั้งใจนั่งสมาธิให้ใจ ใส ๆ สบาย ๆ เป็นประจำสม่ำเสมอทุกวัน แล้วสำรวจตัวเองให้ดีว่า นิสัยอะไรที่เราอยากจะแก้ เอาทีละข้อสองข้อ แก้ได้เมื่อไรแล้วค่อยเพิ่มข้อใหม่เข้าไป แล้วก็มาทบทวนตัวเอง ตอกย้ำความตั้งใจ ตอกย้ำความคุ้นเคย โดยการบันทึกหรือการพูด แล้วทบทวนทุกวัน ให้ภาพที่ต้องการเกิดขึ้นในใจของเรา สุดท้ายตัวเราก็จะเป็นอย่างนั้น ..นี้คือการดลจิตที่ถูกต้องตามพุทธวิธี

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล