วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ นักโทษแห่งวัฏสงสาร ตอนจบ สรุปเส้นทางนักสร้างบารมี

พระธรรมเทศนา

 

พระธรรมเทศนา

นักโทษแห่งวัฏสงสาร

ตอนจบ

สรุป

เส้นทางนักสร้างบารมี

นักโทษแห่งวัฏสงสาร
พระธรรมเทศนาโดยพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว)
ในรายการ “โรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง DMC
(Dhammakaya Media Channel) วันพฤหัสบดีที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

        ในช่วงชีวิตขณะนี้ พวกเรากลุ่มหนึ่งก็มาบวชเป็นพระภิกษุ-สามเณรเหมือนกับหลวงพ่ออีกกลุ่มหนึ่งก็เข้ามาอยู่ในเส้นทางธรรมในฐานะอุบาสก-อุบาสิกา ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของวัดส่วนอีกกลุ่มหนึ่งอยู่ในทางโลก เป็นทั้งอาสาสมัครและกองเสบียงเลี้ยงพระพุทธศาสนา

            เหตุปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมให้นักสร้างบารมีประสบผลสัมฤทธิ์ได้จริงมีอยู่ ๒ ประการคือ ความจริงของโลกและชีวิต การปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘

          ปัจจัยสำคัญทั้ง ๒ ประการนี้ เป็นสิ่งที่จะทำให้นักสร้างบารมีสามารถรู้แจ้งเห็นแจ้งอริยสัจ ๔ อันเป็นธรรมสำหรับดับกิเลสและดับทุกข์ ส่งผลให้สามารถฝ่าวงล้อกฎแห่งกรรมกฎไตรลักษณ์ และคุกแห่งวัฏสงสารได้แน่นอน หลังจากนั้นจึงจะมีโอกาสไปศึกษาความรู้ต่าง ๆ เพื่อการบรรลุที่สุดแห่งธรรมต่อไป

๑. ความจริงของโลกและชีวิต

      สิ่งที่นักสร้างบารมีจำเป็นต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องโลกและชีวิตมีดังนี้
           ๑.๑ โลก คือ คุกมหึมา เป็นที่กักขังสัตวโลกทั้งหลาย ไม่ว่าดิรัจฉาน มนุษย์ เทวดาหรือพรหม คือนักโทษรอประหาร แต่มักไม่รู้ตัวว่าเป็นนักโทษ เพราะถูกขังแบบหลวม ๆ ให้เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย อย่างไม่รู้จบ

            ๑.๒ ใช้กฎแห่งกรรมควบคุมนักโทษ คือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แต่เก็บเป็นความลับ

      ไม่มีการเปิดเผย เพราะไม่ต้องการให้ใครพ้นโทษ เหมือนกับเจ้าของฟาร์มไม่ต้องการให้สัตว์เลี้ยงหลุดจากคอกไป

         ๑.๓ ใช้กิเลสซึ่งเป็นธาตุพิษสกปรกที่สุดฝังลึกไว้ในใจ เพื่อบังคับบัญชาสัตวโลกให้คิดชั่ว-พูดชั่ว-ทำชั่ว ซึ่งเป็นการละเมิดกฎแห่งกรรม ผลจากการทำชั่วนั้นย่อมถูกลงโทษโดยไม่ทันรู้ตัว และเพราะไม่รู้กฎที่ใช้ควบคุมคุก จึงอาจทำผิดอีก ซึ่งจะต้องถูกเพิ่มโทษ ยิ่งถูกเพิ่มโทษก็ยิ่งติดคุกต่อไปอีกนาน ตามควรแก่กรรมที่ตนได้ทำไว้ แต่ถึงแม้จะไม่ถูกเพิ่มโทษก็ต้องติดคุกเรื่อยไป แต่อาจจะทุกข์ทรมานน้อยกว่า

             ๑.๔ ใช้ผลของกรรมชั่วบีบคั้นร่างกายให้พิการ แล้วใช้ความพิการนั้นเป็นเครื่องทรมานแทนโซ่ตรวน ยิ่งทรมาน ยิ่งเผลอทำผิดกฎแห่งกรรม ยิ่งถูกเพิ่มโทษ

             ๑.๕ ใช้ทุกข์ภายใน คือ ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ความปวดอุจจาระ ความปวดปัสสาวะ บังคับให้ร่างกายกระสับกระส่าย

             ๑.๖ ใช้ทุกข์ภายนอก คือ ภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ แผ่นดินไหว คลื่นทำลายภูเขาไฟระเบิด ฯลฯ บีบคั้นให้ทุรนทุราย ให้อดอยาก ให้หวาดกลัว จนต้องทำกรรมชั่วเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ทำผิดกฎแห่งกรรมเพิ่มขึ้น จึงถูกลงโทษเพิ่มขึ้นอีก

             ๑.๗ ใช้กามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่น่าใคร่ เป็นเหยื่อล่อให้ติดกับดักในเบื้องต้นเมื่อไปติดกับดักก็ติดใจในความสุขเพียงเล็กน้อย แต่ต้องเป็นทุกข์ในการหวงแหนรักษา จากเดิมที่ยังไม่ได้เป็นเจ้าของ ก็ทุรนทุรายอยากเป็นบ้าง จึงตะเกียกตะกายหลงทำกรรมชั่ว ผลก็คือ ทำผิดกฎแห่งกรรมเพิ่มขึ้น และถูกลงโทษเพิ่มขึ้น

             ๑.๘ ใช้กฎไตรลักษณ์เป็นเครื่องทำลายสัตวโลกทุกประเภทและทุกสรรพสิ่ง ให้มีลักษณะแห่งความเสื่อมในทำนองเดียวกัน ๓ ประการ คือ

       ๑) อนิจจัง ความเป็นของไม่เที่ยง ทุกสรรพสิ่งต่างต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่ความแตกดับ
       ๒) ทุกขัง ความทนอยู่ในสภาพเดิมตลอดกาลเวลาไม่ได้ มีอันต้องเสื่อมลงเป็นระยะ ๆ
      ๓) อนัตตา ความไม่ใช่ตัวตนแท้จริง ใครจะบังคับให้เป็นไปตามที่ต้องการไม่ได้ลักษณะเสื่อมทั้งสามนี้ จะนำสัตวโลกไปสู่ความแก่ ความเจ็บ ความตาย อันเป็นเหตุให้สัตวโลกทุรนทุราย ยิ่งทุรนทุรายก็จะยิ่งละเมิดกฎแห่งกรรม ผลที่ตามมาก็คือทำให้ยิ่งถูกลงโทษเพิ่มขึ้นอีก

๒. การปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘

           ๒.๑ ความหมายของอริยมรรคมีองค์ ๘ อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ หลักปฏิบัติเพื่อกำจัดทุกข์และกิเลสให้สิ้นไปด้วยตนเอง ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต
           ๒.๒ องค์ประกอบของอริยมรรคมีองค์ ๘ ประกอบด้วย

                   ๑) สัมมาทิฐิ ความเห็นถูก            ๒) สัมมาสังกัปปะ ความดำริถูก
                   ๓) สัมมาวาจา การพูดถูก            ๔) สัมมากัมมันตะ การกระทำถูก
                   ๕) สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพถูก   ๖) สัมมาวายามะ ความพยายามถูก
                   ๗) สัมมาสติ ความระลึกถูก         ๘) สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นถูก

           ๒.๓ ในกายมนุษย์มีธรรมชาติบริสุทธิ์ประณีตชนิดหนึ่งสถิตประจำตน เรียกว่า  ธรรม  ธรรมมีลักษณะใสบริสุทธิ์ สว่างยิ่งกว่าแสงอาทิตย์เที่ยงวัน แต่ชุ่มเย็นยิ่งกว่าแสงจันทร์เพ็ญดวงอาทิตย์มีอำนาจกำจัดความมืดในโลกได้ ฉันใด ธรรมก็มีอำนาจในการกำจัดกิเลสในใจได้ ฉันนั้น

           หากใครปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ได้ถูกส่วนสมบูรณ์ ใจของผู้นั้นย่อมนุ่มนวลละเอียดอ่อนสามารถบรรลุธรรมได้ ธรรมนี้เองมีฤทธิ์ฆ่ากิเลสในใจของเขาให้สิ้นไป ภาวะที่กิเลสถูกกำจัดให้สิ้นไปจากใจนี้ มีถ้อยคำสำนวนเรียกอยู่หลายอย่าง เช่น นิพพาน นิโรธ บรรลุอาสวัก-ขยญาณ บรรลุวิชชา ๓ ซึ่งนำไปสู่การตรัสรู้อริยสัจ ๔

๒.๔ ผลดีอย่างยิ่งที่เกิดตามมา คือ

      ๑) ใจบริสุทธิ์ผ่องใสเช่นเดียวกับธรรม
      ๒) เกิดพลังบริสุทธิ์ชนิดหนึ่งขึ้นในใจ เรียกว่า บุญ ไหลขึ้นมาเป็นกระแสเหมือนกระแสฝน กระแสน้ำ กระแสไฟฟ้า บุญนี้มีอานุภาพนำความสุข ความสดชื่น ความสมหวังความเจริญทุกชนิดมาให้เราได้ แม้ความสำเร็จในระดับเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พระอรหันต์พระพุทธเจ้า ก็สำเร็จได้ด้วยบุญ
      ๓) สามารถรู้เห็นโลกและสรรพสิ่งตรงตามความเป็นจริง จึงถือได้ว่า ธรรมเป็นเหตุแห่งปัญญาบริสุทธิ์
      ๔) บังเกิดความรักที่จะคิด-พูด-ทำทุกสิ่งด้วยความจริงใจ ไม่มีการปิดบังแอบแฝงจึงถือได้ว่า ธรรมเป็นเหตุแห่งความบริสุทธิ์
      ๕) บังเกิดความปรารถนาดีแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณ แม้ต่อผู้ที่ตั้งตัวเป็นศัตรู จึงถือได้ว่า ธรรมเป็นเหตุแห่งความกรุณา
     ๖) ด้วยอำนาจแห่งความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ เพราะปราศจากกิเลสนี้เอง ผู้ปฏิบัติจึงสามารถดำรงชีวิตอยู่เหนือกฎแห่งกรรมตลอดไปทุกลมหายใจของพระภิกษุ-สามเณรผู้บรรลุธรรมจึงบังเกิดแต่บุญล้วน ๆ ท่านเหยียบไปถึงไหนก็มีแต่ความสุขกายสุขใจอยู่ตลอดเวลา ย่ำไปถึงไหนก็นำความสุข ความเจริญ ความสมหวังไปแจกมหาชนถึงนั่น หากใครไปถวายทาน รับศีล ฟังพระธรรมเทศนาจากผู้บรรลุธรรมเช่นนี้ก็เหมือนกับการไปต่อกระแสบุญโดยตรงจากท่านมาสู่ตัวเอง จึงได้บุญมากเป็นพิเศษ เพราะบัดนี้ท่านดำรงสภาพเป็นโรงงานผลิตบุญเคลื่อนที่ หรือที่เรียกว่า “(เนื้อ) นาบุญของชาวโลก”ไปเรียบร้อยแล้ว

๒.๕ อริยสัจ ๔ คือ ความจริงอันประเสริฐที่ต้องรู้ต้องทำให้ได้

อริยสัจ ๔ ประกอบด้วย

        ๑) ชีวิตนี้เป็นทุกข์ ทุกชีวิตต่างต้องทนทุกข์ เพราะเป็นนักโทษรอประหาร คือเกิดแล้วต่างต้องก้าวไปสู่ความแก่-ความเจ็บ-ความตาย อยู่ในคุกคือโลกนี้ ซึ่งใคร ๆ หลีกเลี่ยงมิได้ภาวะนี้เรียกว่า ทุกข์

       ๒) ต้นเหตุแห่งทุกข์ทั้งหลาย คือ กิเลสซึ่งฝังอยู่ในใจ กิเลสนี้บังคับใจให้เกิดตัณหาคือคิดทะยานอยากในกามคุณ ๕ และสิ่งต่าง ๆ ในทางร้ายไม่รู้จบ จึงส่งผลให้คิดร้าย-พูดร้าย-ทำร้ายตามมา ภาวะนี้เรียกว่า สมุทัย

     ๓) นิโรธ คือ ภาวะที่ความทุกข์ดับลง อันเป็นผลมาจากการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ได้ถูกต้องถูกส่วน จึงสามารถกำจัดกิเลสออกจากใจได้หมดสิ้น ภาวะนี้ผู้ปฏิบัติเท่านั้นจึงจะรู้ชัดเห็นชัดได้ด้วยตนเอง

       ๔) อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นกระบวนการปฏิบัติเพียงประการเดียวเท่านั้นที่สามารถกำจัดกิเลสได้เด็ดขาด โดยทำใจให้หยุดนิ่งภายในจนสามารถบรรลุธรรม แล้วอาศัยธรรมนั้นกำจัดกิเลสและทุกข์ให้หมดสิ้นไป จึงรู้แจ้งเห็นจริงในสรรพสิ่งทั้งหลายและประสบสุขตลอดกาล

         เพราะฉะนั้น เมื่อนักสร้างบารมีมองเส้นทางแหกคุกออกจากวัฏสงสารทั้ง ๒ ประการข้างต้นได้ชัดเจนดีแล้ว ก็พึงหมั่นตระหนักว่างานกำจัดกิเลสเป็นงานยากและยืดเยื้อ อาจถึงกับต้องทำข้ามภพชาติ ตราบใดที่ยังทำไม่สำเร็จ ตราบนั้นตนเองก็ยังต้องเวียนเกิดเวียนตายไม่รู้จบหากลงมือปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ตั้งแต่วันนี้อย่างจริงจัง แม้ยังต้องตายก็เป็นการตายเพื่อวันหนึ่งจะไม่ต้องตาย นับว่ามีคุณค่าอย่างยิ่ง สมกับคำที่ว่า สู้ก็ตาย ไม่สู้ก็ตาย เราจึงต้องสู้เพื่อวันหนึ่งจะได้ไม่ต้องตาย

        ในโอกาสนี้ หลวงพ่อขออาราธนาบุญบารมีรัศมีกำลังฤทธิ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์นับอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วน ซึ่งปรากฏอยู่ในอายตนนิพพาน ขออาราธนาบุญบารมีรัศมีกำลังฤทธิ์ของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญพระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูงขออาราธนาบุญบารมีรัศมีกำลังฤทธิ์ของบูรพาจารย์ทั้งหลายในประเทศไทย ที่ได้สืบทอดอายุพระพุทธศาสนามาจนกระทั่งถึงพวกเรา และขออาราธนาบุญบารมีรัศมีกำลังฤทธิ์ที่พวกเราทั้งหลายได้สร้างได้บำเพ็ญกันมานับภพนับชาติไม่ถ้วน จงประมวลรวมเข้าด้วยกัน ให้เป็นตบะเดชะ พลวปัจจัย ส่งผลดลบันดาลอภิบาลคุ้มครองปกป้องและรักษา ให้พวกเราทุกคนจงประสบแต่ความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป ด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ รวมทั้งธนสารสมบัติและธรรมสารสมบัติตลอดปีตลอดไป ให้ลูก ๆ ทุกคนจงเข้าถึงพระธรรมกายโดยง่าย แตกฉานในวิชชาธรรมกายได้โดยง่าย สามารถบำเพ็ญบารมีเยี่ยงพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายได้โดยง่าย

         ขอให้บุญบารมีรัศมีกำลังฤทธิ์ทั้งหลายเหล่านี้ จงคุ้มครองป้องกันสัตวโลกให้พ้นทุกข์พ้นโศก พ้นโรค พ้นภัย ให้สัตวโลกทั้งหลายพลิกฟื้นตื่นจากกิเลส หันหน้ามาศึกษาความจริงอันประเสริฐทั้ง ๔ ประการ คืออริยสัจ ๔ และให้สัตวโลกทั้งหลายมีกำลังใจปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ สามารถทำใจหยุดทำใจนิ่งเข้าถึงพระธรรมกาย และปราบกิเลสให้สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษได้เป็นอัศจรรย์โดยพลันเทอญฯ..

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๓๔ เดือนธันวาคม ๒๕๕๖

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล