วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ตำรับยอดเลขา ตอนที่ ๒ จรรยาข้อที่ ๒-๔

ตำรับยอดเลขา
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว

 

 

ตำรับยอดเลขา
จากคัมภีร์ “จรรยาบ่าว”
วิธีฝึกผู้นำในยุค ร.ศ. ๑๓๑
ตอนที่ ๒
จรรยาข้อที่ ๒-๔

 

      “ตำรับยอดเลขา” นำมาจากหนังสือ “จรรยาบ่าว” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ ๗๕ ปีที่แล้ว โดยไม่ได้ระบุชื่อผู้เขียน เมื่อหลวงพ่อทัตตชีโวอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ท่านอยากให้ญาติโยมรู้เรื่องราวดี ๆ จึงเมตตานำมาเทศน์ให้ฟังเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ต่อมาพิมพ์รวมเล่มและตั้งชื่อใหม่ว่า “ตำรับ           ยอดเลขา” โดยลำดับเนื้อความตามต้นฉบับเดิม และคัดลอกของเก่าไว้ให้ดูด้วย เพื่อรักษาศัพท์บางคำไว้ และเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เขียน

 


ความจงรักภักดีต่อนาย

ผู้ที่จะมาเป็นนายของเรา นอกจาก
เป็นคนดีแล้ว จะต้องถูกอัธยาศัยกับเราด้วย
และเมื่อตัดสินใจไปอยู่กับเขาแล้ว
ก็ต้องมีความจงรักภักดีด้วยความบริสุทธิ์ใจ
ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นคนหน้าไหว้หลังหลอก
เอาตัวรอดไปวัน ๆ

 

๒. ความจงรักภักดีต่อ

   เราต้องมีความจงรักภักดี ซื่อตรงต่อนายโดยความบริสุทธิ์ และต้องเพียรพยายามหาความดีความชอบต่อนายเราเสมอ เมื่อท่านประสงค์สิ่งใดและพอใจอย่างไร เราก็ควรจะแสวงหาด้วยอาการสืบเสาะและปฏิบัติให้ถูกอกถูกใจ       ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ออกทรัพย์ไปแลกเปลี่ยน ฤๅซื้อหามาก็ดี ก็ยังมีทางที่ควรจะสนองคุณด้วยน้ำพักน้ำแรงแห่งวิธีสืบสวนแนะนำให้ได้รัดได้เปรียบ อย่างนี้เป็นต้น ก็นับว่าเป็นคุณเป็นประโยชน์ ต้องด้วยความจงรักภักดีต่อนายเหมือนกัน

     จรรยาข้อนี้คือ มีความจงรักภักดีและซื่อตรงต่อผู้เป็นนายด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ยอม            ทำตนเป็นคนคดในข้องอในกระดูกอย่างเด็ดขาดนั่นเอง

    สำหรับเรื่องนี้ มีเรื่องเล่าขยายความคือ มีโยมคนหนึ่งเป็นนายทหารได้มาหาหลวงพ่อที่วัด ก่อนเกิดเหตุการณ์วันมหาวิปโยค ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ สัก ๒-๓ อาทิตย์ มาเล่าให้ฟังว่า         มีคนมาทาบทามท่านให้เป็น ทส. คือนายทหารคนสนิทของผู้ใหญ่คนหนึ่งในขณะนั้น เพราะชอบอัธยาศัยกัน ท่านผัดว่าขอเวลาตรึกตรองไว้หนึ่งอาทิตย์ก่อน แล้วจะให้คำตอบ

      แล้วท่านก็มาเล่าความในใจให้หลวงพ่อฟังว่า ขณะนั้นท่านไม่ได้รักเคารพในตัวผู้ใหญ่ท่านนี้เลย การที่จะไปเป็นทหารคนสนิทให้กับผู้ใดนั้น ต้องมีความรักเคารพและศรัทธาในตัวนาย               ทั้งต้องมีความจริงใจต่อกัน ถ้าขาดความจริงใจแล้ว ก็จะกลายเป็นคนประจบสอพลอ เห็นแก่ประโยชน์ไป เพราะการได้เป็นทหารคนสนิทของผู้ใหญ่ ยศตำแหน่งจะขึ้นเร็วกว่านายทหารที่ทำงานไกลตาอย่างแน่นอน ท่านไม่ชอบเจริญเร็วแบบนี้ มันขัดความรู้สึก

     หลวงพ่อยังไม่ทันออกความเห็นอะไร ท่านก็บอกเองว่า ไม่รอเวลาแล้ว จะบอกปฏิเสธเสียวันนี้เลย เพราะถ้ารับตำแหน่งนี้ไปโดยเห็นแก่ลาภยศ ก็กลายเป็นคนหลอกลวง เพราะไม่ได้ทำงานให้เขาอย่างทุ่มเท แล้วท่านก็ลากลับ เป็นอันว่ามาเล่าให้ฟังเฉย

      เดี๋ยวนี้ ท่านผู้นั้นก็ยังเป็นทหารธรรมดา ๆ ยังไม่ได้เป็นนายพลกับเขาเสียที นี่ถ้ารับปากเป็น ทส. เสียคราวนั้น ก็อาจจะได้เป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง คือได้เป็นนายพล หรือไม่ก็ออกนอกประเทศไปแล้ว

   สำหรับข้อนี้ มีข้อคิดที่เป็นประโยชน์ในการเลือกเจ้านาย คือผู้ที่จะมาเป็นนายของเรา นอกจากจะต้องเป็นคนดีแล้ว จะต้องถูกอัธยาศัยกับเราด้วย และเมื่อตัดสินใจไปอยู่กับเขาแล้ว  ก็ต้องมีความจงรักภักดี ซื่อตรงต่อกันด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการเพาะนิสัยเสีย ๆ ขึ้นมา คือกลายเป็นคนหน้าไหว้หลังหลอก เอาตัวรอดไปวัน ๆ เป็นบาปกรรมติดตัวต่อไปภายหน้าได้ เมื่อถึงคราวเรามีลูกน้องใต้บังคับบัญชาบ้าง ก็จะมีแต่ชนิดหน้าไหว้หลังหลอก ไม่มีความจริงใจเช่นกัน



อย่าหาเหตุร้ายเข้าบ้านนาย

ผู้บังคับบัญชามีงานเต็มไม้เต็มมืออยู่แล้ว
อย่านำเอาเรื่องร้อนไปเพิ่มให้ท่านอีก
เพราะเมื่องานต่าง ๆ ประดังเข้ามามาก
หากเกิดความเสียหายกับหน้าที่โดยตรงของท่านแล้ว
ทั้งท่านทั้งเราก็จะพากันเดือดร้อนไปหมด
จึงควรกรองเรื่องราวต่าง ๆ ให้ดี


๓. อย่าหาเหตุร้ายเข้าบ้านนาย

      ญาติมิตรหรือพวกพ้องที่จะไปมาที่เรา เราต้องระวังอย่าให้มามีการทุจริตที่บ้านท่านได้ ฤๅพาถ้อยความชั่วร้ายมาปั้วเปี้ยป้ายเปื้อนมัวหมองกับท่านฤๅกับเราได้ เว้นไว้แต่ถ้าว่าเขาได้รับความเดือดร้อนกดขี่มาโดยถ่องแท้ จำเป็นต้องช่วยคิดอ่าน รับความปฤกษาหาฤๅจะอุดหนุนได้อย่างไรในลำพังตน หรือนำความทุกข์ร้อนขึ้นเรียนท่าน ขอความเมตตาแนะนำและเกื้อหนุนอย่างไรที่ควรก็ควรช่วย แต่เป็นผลที่ควรจำจึงทำ คือคนนั้นเป็นญาติของเราที่เคยอุปการะกันมา หรือมิตร์ที่รักใคร่เคยมีบุญคุณต่อกันเช่นนั้นจึงว่าควร ไม่ใช่เช่นเป็นพาลทุจริตต่อเขา เขาตีหัวแตกมาแล้วดังนี้เป็นต้น เช่นนั้นไม่ควรรับพิจารณาและอุดหนุน สิ่งใดที่จะรบกวนให้ท่านช่วย ต้องคัดเลือกแต่เหตุผลอันสมควร อย่าจู้จี้หยุมหยิม ปราศจากความยำเกรง อันซึ่งเป็นผลเฉภาะตน

    จรรยาข้อนี้อธิบายโดยสรุปคือ อย่าไปนำคนร้าย ๆ เข้ามาที่บ้านท่านนั่นเอง ไม่ว่าคนนั้น จะเป็นพรรคพวก เพื่อนฝูงของเรา หรือญาติมิตรก็ตาม ขอให้ระวัง อย่าให้มาทำความเสียหาย        ใด ๆ ให้เกิดขึ้นได้ เพราะความเสื่อมเสียนั้นมิได้เกิดขึ้นกับเราเท่านั้น แต่ว่าจะเสียหายไปถึง    เจ้านาย ผู้บังคับบัญชาของเราด้วย

     ในกรณีที่พรรคพวกเพื่อนฝูงของเราเหล่านั้น มาปรึกษาขอความช่วยเหลืออะไรก็ตาม  ก็ควรช่วยเฉพาะเรื่องที่สมควร บางเรื่องไม่ควรช่วยก็อย่าช่วย ไม่ใช่ว่าเราได้อยู่บ้านรัฐมนตรี เห็นว่าท่านมีอำนาจมีบารมี พอพรรคพวกเพื่อนฝูงเดือดร้อนมาขอให้ช่วย ก็ช่วยเขาเลย โดยไม่ดูว่า เจ้าเพื่อนหรือญาติของเราคนนั้นไปทำอะไรร้าย ๆ มาก่อน พอรู้ก็ช่วยเหลือกันอย่างไม่ลืมหูลืมตา ผู้บังคับบัญชามีงานเต็มไม้เต็มมืออยู่แล้ว ยังนำเอาเรื่องร้อนไปเพิ่มให้ท่านอีก อย่างนี้       ก็ออกจะหนักข้อเกินไป เว้นไว้เสียแต่ว่าพรรคพวกของเราคนนั้นเป็นคนดี แต่ถูกรังแกมา หรือคน   ผู้นั้นเคยมีพระคุณกับเรามาก่อน แล้วเรื่องนั้น ๆ พอดีตรงสายงานที่ผู้บังคับบัญชารับผิดชอบอยู่พอดี และการช่วยเหลือนั้นท่านก็ไม่ต้องเดือดร้อนขวนขวายมากนัก นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เรา       จะต้องรู้จักพิจารณา และดูคนให้เป็นด้วย

      แต่ถึงอย่างไรก็ตาม อะไรที่บอกปัดได้ก็ให้บอกปัดไปบ้าง อย่าไปเพิ่มภาระหนักกับท่านมากเกินไป เพราะเมื่องานต่าง ๆ ประดังเข้ามามากเข้า ๆ ในที่สุดท่านเองก็อาจจะมีข้อบกพร่อง    ได้ หากเกิดความเสียหายกับหน้าที่โดยตรงของท่านแล้ว ทั้งท่านทั้งเราก็จะพากันเดือดร้อนไปหมด เราในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดี จึงควรกรองเรื่องราวต่าง ๆ ให้ดี อย่าปล่อยให้เรื่องไม่เป็น    เรื่องหลุดมารกสมอง ทำให้เจ้านายหรือผู้บังคับบัญชาไม่สบายใจได้

 


อย่าชักคนเข้า อย่าสาวคนออก

คนดี ๆ มีฝีมือ รู้ใจกันแล้ว ไว้ใจได้
ไม่คดโกง เมื่อต้องออกไปคนหนึ่ง
แม้ได้ ๑๐ คนมาแทน ก็ยังไม่คุ้ม
ท่านจึงกล่าวว่า ‘สิบคนเข้า ก็ไม่เท่าหนึ่งคนออก

 

๔. อย่าชักคนเข้า อย่าสาวคนออก

      ญาติมิตร์อย่างไรก็ดี ที่จะมาอาศรัยค้างวันค้างคืนอยู่กับเราในบ้านท่าน เราต้องนำความร่ำเรียนรับอนุญาตเสียก่อนจึงควร ไม่ควรเพิกเฉยปกปิด ลุอำนาจแห่งท่าน และเราต้องรู้ว่ามาโดยดี หรือมีชะนักติดหลังมาอย่างไรด้วย ถ้ามาดีเราจึงควรรับ ถ้ามาอย่างร้ายก็ควรที่จะปฏิเสธเสีย อย่าให้มามีเหตุเกิดความเดือดร้อนขุ่นเคืองกับท่านได้ และลักษณะนำคนเข้า แนะคนออกนี้ต้องระวังให้ดี คนที่จะนำเข้ามานั้นก็รู้แล้วว่าเป็นคนดี จึงนำเข้ามาหาท่าน อย่าไปนำคนชั่วเหลวไหลเข้ามาให้ท่าน เราจะพลอยเสียไปด้วย 

       การแนะนำคนออกนั้น ข้อนี้ก็สำคัญ ไม่ควรเราจะประพฤติ ไม่ใช่หน้าที่ของเราจะจัดการ เพราะที่ว่าชักนำคนออกนั้นไม่มีทางดีอันใดเลย ย่อมเป็นทุจริตเกี่ยวอามิศแก่ตนทั้งนั้น ผู้ชายก็แนะนำให้ไปอยู่เสียที่อื่นและให้หลบหนีท่าน
ผู้หญิงก็ให้หลบหนีหรือเสือกไสไปกับผู้ชายเป็นต้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรแท้ที่เราจะประพฤติ บุราณติเตียนมากในข้อนี้ เพราะปราถนาดี มันไม่มีอะไรเลยอย่างนี้ จนมีภาษิตกล่าวไว้ว่า “สิบคนเข้าก็ไม่เท่าหนึ่งคนออก” ดังนี้มิใช่หรือ

     จรรยาข้อนี้อธิบายความโดยสรุปคือ การที่เรานำผู้ใดมาค้างแรมที่บ้านของเจ้านาย ก็ดูให้ดีเสียก่อนว่าเป็นคนไม่มีพิษมีภัย จึงจะนำเข้ามาได้ ถ้าไม่เช่นนั้นจะนำความเดือดร้อนมาให้และก่อนจะพาเข้ามาก็ต้องขออนุญาตท่านเสียก่อน อย่าทำไปโดยพลการ ไม่บอกเล่าเก้าสิบ

     ยิ่งถ้าเป็นกรณีนำคนเข้ามาอยู่ในบ้านของนายอย่างถาวร ยิ่งต้องช่วยกันคัดคนให้ดี อย่าปล่อยให้มีชนักติดหลัง เช่น เคยเป็นนักโทษหรือเคยเป็นนักการพนันเข้ามาอยู่ด้วย เพราะอาจ     นำปัญหามาให้ หรือแม้ที่สุดเราจะไม่ได้เป็นคนชักนำมา แต่ว่าเขาสมัครใจขอมาอยู่เอง ถ้าเรารู้ประวัติเขามาว่าเป็นคนไม่ดี ก็อย่าไปปิดบังนาย ต้องเรียนให้ท่านทราบ ไม่เช่นนั้นอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่าง ๆ ได้

     ในกรณีที่คน ๆ นั้นอยู่อาศัยกับนายอยู่แล้ว และเขาเป็นคนดี แต่เกิดต้องการจะลาออกไป ก็ให้ช่วยทัดทานเอาไว้ ตรงกันข้ามหากเขาเป็นคนไม่ดีแล้ว อยากจะออกไป ก็ให้ปล่อยไปตามใจเขา อย่ารั้งเอาไว้

    แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ในกรณีที่คนอยู่เดิมจะออกไป ก็ควรระวังอย่าเที่ยวสนับสนุนยุยงเขาสุ่มสี่สุ่มห้าไป เพราะคนบางคนเขาอาจจะออกด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา หรือด้วยความน้อยใจ    ใด ๆ ก็ตาม ถ้าเราไปสนับสนุนเขาเข้า สักวันหนึ่งเขาอาจจะพูดขึ้นได้ว่า ไม่ได้ตั้งใจจะออกเลย  แต่เป็นเพราะเราไปชี้แนะให้เขาออก เขาเลยออก ก็จะทำให้เราเสียคนได้

     ในเวลาเดียวกัน ถ้าเราไม่ชอบใจผู้ใด ก็อย่าเที่ยวไปยุยงให้เขาออก ทำให้เขาต้องได้รับความลำบาก เป็นการก่อเวรให้แก่เขา
 

    สำหรับเรื่องการรับคนเข้าและคัดคนออกนี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจคือ ไม่ว่าจะเป็นที่ใดในโลกนี้ เมื่อเวลามีคนเข้าไปสมัครงาน เขาจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเต็มแล้ว แต่เวลาลงมือทำงาน กลับบอกว่าคนไม่พอ ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าคนที่ไปสมัครงานนั้น หน้าตาท่าทางไม่ค่อยเอางานเอาการ เขาจึงไม่อยากรับเอาไว้ ก็ไม่ใช่โกหก เพราะตำแหน่งสำหรับคนไม่เอางานเอาการมัน    ไม่มีจริง ๆ

      ส่วนคนที่หน่วยก้านดี ๆ นั้น เขาไม่ต้องเดินหางานเลย แต่งานจะมาหาเขาเอง บางคนถูกจองตัวตั้งแต่ยังเรียนไม่จบด้วยซ้ำ

      ดังนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า “สิบคนเข้า ก็ไม่เท่าหนึ่งคนออก” คือ คนดี ๆ ของเขาหนึ่งคน   ถ้าต้องออกไป แล้วได้คนมีฝีมือธรรมดา ๆ มาแทนตำแหน่งนั้น ๑๐ คน แทนอย่างไรก็ไม่คุ้ม

     คนดีมีฝีมือ รู้ใจกันแล้ว ไว้ใจได้ ไม่คดโกง เข้านอกออกใน รู้ความเป็นไปทุกอย่างในบ้านหรือในที่ทำงานแล้ว บางทีรู้เรื่องส่วนตัว เรื่องเงินทองด้วย แล้วเขาเป็นคนดีมาก ๆ ด้วย ถ้าออกไป ก็น่าเสียดายที่สุด แต่ถ้าเขาเป็นคนเลว เรารู้เข้าก็ยุนายให้ไล่มันออกไปเลย มันคงพาคน             มาเผาบ้านแน่ เรื่องแบบนี้ต้องละมุนละม่อม ให้นายเขาจัดการตัดสินเองจะดีที่สุด

     อีกกรณีหนึ่ง ถ้าเราเป็นบ่าว เรารู้ว่าคน ๆ นั้นเป็นคนดีจริง ๆ แล้วเรากลับยุให้เขาไปทำงานที่อื่น เพราะสวัสดิการดีกว่า เงินเดือนดีกว่า โอกาสก้าวหน้าก็มากกว่า อย่างนี้เราทำเพื่ออะไร  เราเป็นคนที่ใช้ได้หรือเปล่า ก็ลองคิดดู..

 

 

(อ่านต่อฉบับหน้า)

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๓๖ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล