วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ๙๗ ปี วันครู ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

เรื่องเด่น
เรื่อง : มาตา

 

พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
พระผู้ปราบมาร

 

๙๗ ปี วันครู
ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย

พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

 


     ย้อนไปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ ตรงกับรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ณ ผืนดินรูปดอกบัว ที่แวดล้อมด้วยธารน้ำแห่งตำบลสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี มีเด็กชายคนหนึ่ง ถือกำเนิดขึ้นในครอบครัวของพ่อค้าข้าว เด็กชายคนนี้ได้ชื่อว่า “สด มีแก้วน้อย” ต่อมาเมื่อเติบใหญ่ได้เข้าพิธีบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ และครองเพศสมณะเรื่อยมาจนกระทั่งกลายเป็นพระมหาเถระ  ผู้มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อพระพุทธศาสนา นามว่า  พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)  ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ 


     ในปีที่เด็กชายสด มีแก้วน้อย ถือกำเนิดขึ้น ระบบการศึกษาของประเทศสยามมีการปฏิรูป    ครั้งใหญ่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมือง เพื่อให้ประชาชนได้รับการศึกษาทั่วถึงกัน 


    อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกของการปฏิรูป การเรียนการสอนส่วนใหญ่ยังคงเป็นรูปแบบเดิม คืออยู่ในวัด โดยมีพระภิกษุเป็นผู้สอน พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำในวัยเยาว์จึงเข้าเรียนหนังสือที่วัดเช่นเดียวกับเด็กชายไทยส่วนใหญ่ในยุคนั้น 


    ณ วัดสองพี่น้อง พระเดชพระคุณหลวงปู่เรียนหนังสือไทยและขอมกับพระภิกษุน้าชายของท่าน ต่อมาพระน้าชายลาสิกขา ท่านจึงย้ายไปเรียนต่อที่วัดบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม จนสามารถอ่านเขียนทั้งหนังสือไทยและขอมได้อย่างคล่องแคล่ว 


    การเล่าเรียนหนังสือไทยและขอมเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อกุลบุตรทั้งหลายในยุคนั้น ซึ่งจะต้องบรรพชาอุปสมบทตามประเพณีของ   ชายไทย เพราะจะทำให้สามารถอ่านจารึก  ในใบลานและศึกษาความรู้ในพระไตรปิฎก ที่ส่วนใหญ่จารึกไว้ด้วยอักษรขอมได้

 

    เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว พระเดชพระคุณหลวงปู่ช่วยบิดาประกอบอาชีพค้าข้าว ต่อมาขณะที่ท่านอายุได้ ๑๔ ปี บิดาของท่านถึงแก่กรรม ท่านเป็นบุตรชายคนโตจึงต้องรับช่วงทำธุรกิจค้าข้าว และสามารถก่อร่างสร้างตัวจนกระทั่งมีฐานะดีพอสมควรทั้งที่ยังอยู่ในวัยเยาว์ 


    ในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ เมื่อพระเดชพระคุณหลวงปู่มีอายุได้ ๑๙ ปี วันหนึ่งท่านเดินทางกลับจากการค้าข้าว ขณะที่นำเรือเปล่ากลับบ้าน ต้องผ่านคลองที่มีโจรชุกชุมและเปลี่ยวมาก เสี่ยงต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะ นั่งเรือไปก็ระแวดระวังอันตรายไปตลอดทาง 


    เมื่อผ่านพ้นอันตรายมาแล้ว ท่านก็มาคิดว่า การหาเงินหาทองเป็นเรื่องที่ลำบากจริง ๆ ต่างคนต่างหา ไม่มีเวลาหยุดด้วยกันทั้งนั้น ถ้าใครไม่รีบเร่งหาให้มั่งมีก็ไม่มีใครนับถือและคบหา บรรพบุรุษของท่านก็ทำมาดังนี้เหมือนกัน แต่ขณะนี้บรรพบุรุษก็ตายไปหมดแล้ว และตัวท่านก็จะต้องตายเหมือนกัน บิดาที่ตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้เลย เสื้อผ้า ข้าวของ หรือแม้ตัวท่าน พี่น้องของท่าน และแม่ของท่าน ก็ไม่ได้ไปด้วยเลย คิดดังนี้แล้ว พระเดชพระคุณหลวงปู่ก็เกิดธรรมสังเวช อยากออกบวชเพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์ ท่านจึงจุดธูปบูชาพระ และตั้งจิตอธิษฐานอุทิศชีวิตแด่พระศาสนาว่า “ขออย่าให้เราตายเสียก่อน ขอให้บวชเสียก่อนเถิด ถ้าบวชแล้วไม่สึกจนตลอดชีวิต” 


    หลังจากตั้งจิตอธิษฐานว่าจะออกบวชตลอดชีวิตแล้ว พระเดชพระคุณหลวงปู่ยังคงตั้งใจทำมาหากินต่อไป รวมเวลาที่ทำอาชีพค้าข้าวได้ ๘ ปี สามารถสะสมเงินได้มากพอสมควร และต่อมาท่านมอบเงินจำนวนนี้ให้มารดาเก็บไว้เป็นทุนเลี้ยงชีวิต จะได้ออกบวชอย่างไม่มีกังวล
 

 

                    


๒ 


    ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ขณะที่อายุ ๒๒ ปี พระเดชพระคุณหลวงปู่เข้าพิธีบรรพชาอุปสมบทที่วัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ฉายาว่า “จนฺทสโร” 


    การออกบวชของพระเดชพระคุณหลวงปู่มิใช่แค่บวชตามประเพณีเท่านั้น แต่เป็นการบวชที่มีเป้าหมายยิ่งใหญ่ คือ “จะทำพระนิพพานให้แจ้ง นำพาตนเองให้พ้นทุกข์” 


    ในเมื่อเป้าหมายที่ตั้งไว้ยิ่งใหญ่สุดประมาณ แค่คิดอย่างเดียวไม่มีทางถึงจุดหมาย ดังนั้น   เมื่อบวชแล้วพระเดชพระคุณหลวงปู่จึงใช้เวลาทุก ๆ วัน อย่างทรงคุณค่า เพื่อก้าวไปให้ถึงจุดหมาย ด้วยการ... 


        ฝึกธรรมปฏิบัติทุกวัน ไม่เคยขาดแม้แต่วันเดียวนับตั้งแต่วันแรกที่บวช 


        ขวนขวายไปศึกษาหาความรู้จากพระอาจารย์หลายรูป รวมทั้งศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเองจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งเป็นคัมภีร์แม่บทของการปฏิบัติธรรม


       ศึกษาค้นคว้าความรู้ในพระไตรปิฎกเป็นเวลาหลายปีจนเชี่ยวชาญภาษาบาลี  จากนั้นจึงมุ่งศึกษาธรรมปฏิบัติให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
                



    พระเดชพระคุณหลวงปู่ทุ่มเวลาให้กับการทำสมาธิภาวนาอย่างต่อเนื่องทุกวัน ค่อย ๆ สั่งสมความบริสุทธิ์ของใจไปทีละน้อย ๆ ทำให้ใจของท่านหยุดนิ่งมากขึ้นตามลำดับ


    ขณะที่ท่านกำลังปฏิบัติธรรมเพื่อแสวงหาความสงบสุขภายในอยู่นั้น ประเทศในอีกซีกโลกหนึ่งกลับทำสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์โดยสิ้นเชิงกับความสงบสุข คือ ก่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ ขึ้น (พ.ศ. ๒๔๕๗)


    ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ (ตรงกับรัชกาลที่ ๖) ประเทศสยามส่งกองทหารอาสาไปร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร ในปีนั้นพระเดชพระคุณหลวงปู่จำพรรษาอยู่ที่วัดโบสถ์บน ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และได้เข้าสู่สมรภูมิเช่นกัน แต่เป็นสมรภูมิแห่งการต่อสู้กับกิเลสอาสวะ 


    ในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ พ.ศ. ๒๔๖๐ ระหว่างพรรษาที่ ๑๒ ณ วัดโบสถ์บน          พระเดชพระคุณหลวงปู่หวนระลึกถึงความตั้งใจเมื่อครั้งแรกบวชที่จะปฏิบัติให้บรรลุธรรมของ         พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากฉันภัตตาหารเช้าแล้ว ท่านจึงเดินเข้าสู่อุโบสถเพื่อปฏิบัติธรรม     โดยตั้งปณิธานว่า หากไม่ได้ยินกลองเพลจะไม่ลุกขึ้นจากที่ 


    ท่านหลับตาภาวนา “สัมมา อะระหัง” ไปเรื่อย ๆ โดยไม่สนใจความปวดเมื่อยใด ๆ ในที่สุดใจก็ค่อย ๆ สงบลงแล้วรวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน เห็นเป็นดวงใสบริสุทธิ์ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ติดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย 


    การเข้าถึงดวงธรรมขั้นต้นนี้ทำให้ท่านมีความสุขตลอดทั้งวัน 

 


    เย็นนั้น ท่านเข้าไปในอุโบสถอีกครั้ง แล้วนั่งลงทำสมาธิภาวนาอย่างไม่อาลัยในชีวิต 
    
    “ในเมื่อเราตั้งใจจริง ๆ ในการบวช จำเดิมอายุสิบเก้า เราได้ปฏิญาณตนบวชจนตาย ขออย่าให้ตายในระหว่างก่อนบวช บัดนี้ก็ได้บอกลามาถึง ๑๕ พรรษา*ย่างเข้าพรรษานี้แล้ว ก็พอแก่ความประสงค์ของเราแล้ว บัดนี้ของจริงที่พระพุทธเจ้าท่านรู้ ท่านเห็น เราก็ยังไม่ได้บรรลุ ยังไม่รู้ ไม่เห็น สมควรแล้วที่จะต้องกระทำอย่างจริงจัง เมื่อตกลงใจได้ดังนี้แล้ว วันนั้นเป็นวันกลางเดือน ๑๐ ก็เริ่มเข้าโรงอุโบสถแต่เวลาเย็น ตั้งสัจจาธิษฐานแน่นอนลงไปว่า ถ้าเรานั่งลงไปครั้งนี้ไม่เห็นธรรมที่พระพุทธเจ้าต้องการ เป็นอันไม่ลุกจากที่นี้จนหมดชีวิต” 

 

    นอกจากความตั้งใจข้างต้นนี้แล้ว พระเดชพระคุณหลวงปู่ยังตั้งจิตอธิษฐานว่า หากรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว “จะขอเป็นทนายของพระศาสนาไปจนตลอดชีวิต”


    จากนั้น พระเดชพระคุณหลวงปู่ก็ทำความเพียรตามสัจจะที่ตั้งไว้ และเข้าถึงพระรัตนตรัย ในตัว (พระธรรมกาย) กลางดึกคืนนั้น


    การแสวงหาธรรมะของท่านด้วยการ “ยอมตายแต่ไม่ยอมแพ้” กลายเป็นแบบอย่างในการสร้างบารมีชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพันแก่ศิษยานุศิษย์ของท่านในยุคต่อ ๆ มา   

 

 


    เมื่อเข้าถึงพระธรรมกายแล้ว พระเดชพระคุณหลวงปู่นำความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติไป    ตรวจสอบกับความรู้ในพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่าง ๆ ที่ท่านเคยศึกษามาเป็นเวลานับสิบปีว่าตรงกันหรือไม่ ก็ปรากฏว่าตรงกัน ทำให้ท่านปลาบปลื้มใจเป็นอย่างยิ่ง


    หลังจากเข้าถึงธรรมแล้ว พระเดชพระคุณหลวงปู่จึงตระหนักว่า ธรรมะของพระสัมมาสัม-พุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งมาก จะเข้าถึงได้ต้องทำให้ “ใจ” หยุดนิ่งสนิทที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เหนือสะดือ ๒ นิ้วมือ ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมในการรับรู้ทางใจ ถ้าใจไม่หยุดก็จะเข้าถึงพระธรรมกายไม่ได้ 


    “ใจ” ในที่นี้ มิได้หมายถึง “หัวใจ” ซึ่งเป็นอวัยวะที่ใช้สูบฉีดโลหิตไปหล่อเลี้ยงร่างกาย แต่หมายถึง “ใจ” ซึ่งเป็นธาตุละเอียด และมีลักษณะเป็นดวงกลมใส มีที่อาศัยอยู่บริเวณศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ในกลางตัวมนุษย์ ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่หากฝึกสมาธิไประดับหนึ่งก็จะสามารถเห็นได้ 


    ในเวลาต่อมาพระเดชพระคุณหลวงปู่เมตตาเทศนาสอนธรรมปฏิบัติ และกล่าวสรุปไว้ว่า “หยุดเป็นตัวสำเร็จ” 

 


    ก่อนที่พระเดชพระคุณหลวงปู่จะค้นพบวิชชาธรรมกายนั้น วิธีการดำเนินจิตเข้าไปใน         เส้นทางสายกลางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายเคยดำเนินไปแล้วนี้ หายไป   เกือบ ๒,๐๐๐ ปี ดังที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่า

 

    “...พระพุทธเจ้าไม่เกิดขึ้นในโลกละก็ ธรรมอันนี้ไม่มีใครแสดง ไม่มีใครบอก ไม่มีใครเล่าให้ฟัง ถึงกระนั้นที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับเสียเกือบสองพันปี มาเกิดขึ้นที่วัดปากน้ำนี้แล้ว อุตส่าห์พยายามทำกันไปอย่าได้   ดูหมิ่นดูแคลนหนา อย่าได้เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อย แก่ยากแก่ลำบากแต่เล็ก ๆ น้อย ๆ เมื่อมาประสบพบพุทธศาสนา พบของจริงละ เข้าถึงของจริงให้ได้...”

 

    การเข้าถึงพระธรรมกายของพระเดชพระคุณหลวงปู่ นอกจากเป็นการค้นพบวิชชาธรรมกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้กลับคืนมาแล้ว ยังเป็นพยานในการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกด้วย    


    นอกจากนี้ การค้นพบของท่านยังช่วยให้ชาวโลกในยุคนี้รู้ว่า ทุกคนมีพระธรรมกายอยู่ในตัว, หนทางนิพพานหรือทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) อยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน, ทุกคนมีศักยภาพที่ จะบรรลุธรรม ก้าวไปสู่ความเป็นอริยะ จนกระทั่งหลุดพ้นจากความทุกข์ได้โดยเท่าเทียมกัน ด้วยวิธีหยุดใจ 


    คำว่า “หยุด” (หยุดใจด้วยการทำสมาธิภาวนา) จึงเปรียบเสมือนกุญแจดอกเดียวที่ใช้         ไขปริศนาแห่งชีวิตที่มนุษย์แสวงหามาเป็นเวลายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสวงหาความสุขที่แท้จริง 

 

 


    ต่อมา เมื่อออกพรรษาแล้ว พระเดชพระคุณหลวงปู่เริ่มภารกิจปันความสุข เพื่อปลดปล่อยมวลมนุษย์ให้พ้นจากห้วงทุกข์ ด้วยการมองเข้าไปในใจของท่านว่าจะมีใครสามารถรู้เห็นธรรม    ได้บ้าง ก็มีภาพวัดบางปลา ตำบลบางเลน จังหวัดนครปฐม ที่ท่านเคยไปเรียนหนังสือเมื่อครั้ง    ยังเป็นเด็กปรากฏขึ้นในใจ ท่านจึงเดินทางไปสอนธรรมปฏิบัติที่วัดแห่งนี้ ปรากฏว่า มีพระภิกษุ      เข้าถึงพระธรรมกาย ๓ รูป และฆราวาสอีก ๔ คน บุคคลเหล่านี้ถือเป็นพยานในการบรรลุธรรมของท่าน ว่าหนทางที่ท่านปฏิบัตินั้นเป็นของจริง หากใครปฏิบัติถูกต้องก็จะเข้าถึงได้เช่นเดียวกัน 


    ในราวกลางปี พ.ศ. ๒๔๖๑ (กลางรัชกาลที่ ๖) ขณะที่สงครามโลกครั้งที่ ๑ ใกล้จะสิ้นสุดลง พระเดชพระคุณหลวงปู่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ท่านปักหลักค้นคว้าทำวิชชาและสอนธรรมปฏิบัติจนตลอดชีวิต

 


    พระเดชพระคุณหลวงปู่ทุ่มเวลาให้กับการบำเพ็ญภาวนาพร้อมกับพระภิกษุ-สามเณร และอุบาสิกา ในโรงงานทำวิชชา (สถานที่ศึกษาวิชชาธรรมกายชั้นสูง) ทั้งวันทั้งคืนเป็นเวลาเกือบ       ๓๐ ปี (พ.ศ. ๒๔๗๔ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๒) ทั้งนี้เพื่อค้นคว้าความรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ คือ การปราบมาร (กิเลสมาร, เทวบุตรมาร, มัจจุมาร, ขันธมาร และ  อภิสังขารมาร) ซึ่งเป็นสาเหตุของความทุกข์ ความเบียดเบียน และการรบราฆ่าฟันกันในรูปแบบต่าง ๆ ให้หมดสิ้นไปจากชีวิตของมนุษย์และสรรพสัตว์ 


    นอกจากนี้ ท่านยังหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความสุขลงในใจของผู้คนด้วยการสอนทำสมาธิ        ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ทุกวันพฤหัสบดี และส่งลูกศิษย์ออกไปสอนธรรมปฏิบัติเกือบทุกจังหวัด          ในประเทศไทย ทำให้กระแสการปฏิบัติธรรมแผ่ขยายไปอย่างกว้างขวางและคึกคัก มีผู้เข้าถึง     พระธรรมกายและมีผลการปฏิบัติธรรมที่ดีเป็นจำนวนมาก                 


    จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ พระเดชพระคุณหลวงปู่เรียกประชุมศิษย์ทั้งหมด พร้อมทั้งปรารภว่า อีก ๕ ปี ท่านจะมรณภาพ ขอให้ทุกคนช่วยกันเผยแผ่วิชชาธรรมกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปทั่วโลกให้ได้ เนื่องจากวิชชาธรรมกายสามารถช่วยมนุษย์ทั้งโลกให้หลุดพ้นจากความทุกข์ และเปลี่ยนแปลงโลกนี้ให้มีสันติสุขได้อย่างแท้จริง 


    ต่อมา ในวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๒ เมื่อพระเดชพระคุณหลวงปู่มีอายุได้ ๗๕ ปี รวมพรรษาได้ ๕๓ พรรษา ท่านก็มรณภาพตรงตามเวลาที่ท่านเคยปรารภไว้

 


    พระเดชพระคุณหลวงปู่ใช้ทุกคืนวันของท่านบนโลกใบนี้อย่างสุดคุ้มค่า และจากโลกนี้ไปอย่างแสนสง่างาม 


    เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ท่านสามารถบรรลุเป้าหมายอันสูงส่งที่ตั้งไว้ทุกประการ คือ 


        สามารถดำรงเพศสมณะได้จนตลอดชีวิต ดังที่ตั้งมโนปณิธานไว้เมื่อครั้งอายุ ๑๙ ปี 


       สามารถทำพระนิพพานให้แจ้ง ได้รู้เห็นธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังที่ตั้งใจไว้     เมื่อแรกบวช 


      สามารถเป็นทนายให้พระศาสนาได้ตลอดชีวิต ดังที่เคยตั้งสัจจาธิษฐานไว้ก่อนเข้าถึง         พระธรรมกายในคืนวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ พ.ศ. ๒๔๖๐ 


    แม้ละจากโลกนี้ไปแล้ว ความปรารถนาของท่านที่ต้องการให้วิชชาธรรมกายของพระสัมมา-สัมพุทธเจ้าแผ่ขยายไปทั่วโลกก็บังเกิดเป็นจริง โดยมีคณะศิษยานุศิษย์ทุ่มเทชีวิตจิตใจสืบสานปณิธานของท่านตลอดมา และจะยังคงเดินหน้าทำต่อไป 

 

 

๑๐


    เนื่องในวาระ “๙๗ ปี วันครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย” วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ ๘ กันยายน ลูกหลานของพระเดชพระคุณหลวงปู่ทั้งที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศต่างพร้อมใจกันประกอบพิธีบูชาครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย เพื่อแสดงความกตัญญูต่อท่าน นอกจากนี้ยังร่วมกันบูชาข้าวพระ สักการะรูปหล่อทองคำพระเดชพระคุณ-หลวงปู่ที่จะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดโบสถ์บน ในโอกาสต่อไป และที่พลาดไม่ได้ก็คือ การรับผ้าไตรจักรพรรดิ ปวารณาตนเป็นประธานกองกฐิน เพื่อนำผ้าไตรไปอธิษฐานที่บ้านจนกระทั่งถึงวันทอดกฐิน


    หลังจากกระทำอามิสบูชาและตรึกระลึกถึงพระเดชพระคุณหลวงปู่ตลอดทั้งวันจนกระทั่งปีติเบิกบานใจดีแล้ว ค่ำคืนอันศักดิ์สิทธิ์นี้ จะเป็นคืนที่ลูกหลานของพระเดชพระคุณหลวงปู่ทั่วโลกพร้อมใจกันนั่งสมาธิภาวนา เพื่อปฏิบัติบูชาแด่พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระผู้ปราบมาร และเพื่อเป็นการระลึกถึงวันแห่งชัยชนะของท่านเมื่อ ๙๗ ปีที่แล้วอีกด้วย ที่สำคัญค่ำคืนนี้ยังเป็นโอกาสพิเศษสุดในรอบปีของลูกหลานพระเดชพระคุณหลวงปู่ทุกคน ที่จะเก็บเกี่ยวบุญละเอียด อันจะมีผลต่อการเข้าถึงธรรมซึ่งเป็นสาระสำคัญที่สุดในการเกิดมาเป็นมนุษย์อีกด้วย ..

 


ข้อมูลจาก ๑. ชีวประวัติและอมตเทศนา พระมงคลเทพมุนี หลวงพ่อวัดปากน้ำ เล่ม ๓       
               ๒. มรดกธรรมของหลวงพ่อวัดปากน้ำ (พระมงคลเทพมุนี)   
               ๓. เดินไปสู่ความสุข

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๔๓ เดือนกันยายน ๒๕๕๗

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล