วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ กฐิน ผ้าป่า และอานิสงส์

ข้อคิดรอบตัว
เรื่อง : พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ (M.D.; Ph.D.) จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC

 

กฐิน ผ้าป่า และอานิสงส์

 

กฐินและผ้าป่ามีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร?


    “ผ้าป่า” เราใช้อีกคำหนึ่งว่า “ผ้าบังสุกุล” เป็นผ้าที่ไม่มีเจ้าของ คือเป็นธรรมเนียมของสงฆ์ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลว่า ผ้าที่พระใช้ทำเป็นจีวรเอามาจากผ้าคลุกฝุ่น บางครั้งเป็นผ้าห่อศพก็มี ผ้าที่ไม่ใช้แล้วก็มี พูดง่าย ๆ คือเป็นผ้าที่เจ้าของเขาทิ้งแล้ว สละแล้ว พระภิกษุก็ไปเอาผ้านั้นมาซักและ        มาย้อมด้วยสีจากแก่นไม้ เช่น แก่นขนุน เป็นต้น เสร็จเรียบร้อยแล้วก็เอามาทำเป็นจีวร เวลาพระภิกษุไปชักผ้าป่าจะใช้คำว่า “อิทัง วัตถัง อัสสามิกัง ปังสุกุละจีวะรัง มัยหัง ปาปุณาติ ผ้าบังสุกุลจีวรอันไม่มีเจ้าของนี้ จงสำเร็จประโยชน์แก่ข้าพเจ้าในกาลบัดนี้” 


    ปกติแต่เดิมจริง ๆ ผ้าป่าเป็นผ้าที่ไม่มีเจ้าของเลย แต่ตอนหลังเป็นผ้ามีเจ้าของที่เขาเอามาพาดไว้ ซึ่งเจ้าของเขาก็กล่าวคำถวายแล้วว่า ขอถวายแด่คณะสงฆ์ แล้วเอาไปพาดไว้ ซึ่งต่างจากเวลาถวายของอย่างอื่นที่ใช้วิธีประเคน แต่ผ้าป่าใช้วิธีพาด บางครั้งก็พาดที่ราวไม้ไผ่บ้าง พาดอยู่บนพานบ้าง แล้วพระภิกษุก็มาจับผ้า และกล่าวว่า “อิทัง วัตถัง สัสสามิกัง ปังสุกุละจีวะรัง มัยหัง ปาปุณาติ ผ้าบังสุกุลจีวรอันมีเจ้าของนี้ จงสำเร็จประโยชน์แก่ข้าพเจ้าในกาลบัดนี้” แล้วท่านก็ชักผ้าขึ้นมาพาดไว้ที่แขน เป็นการรักษาธรรมเนียมเดิม คือยังมีการชักผ้า ฉะนั้นการถวายผ้าป่าจึงถวายได้ทั้งปี ไม่จำกัดเรื่องเวลา และถวายพระภิกษุรูปเดียวก็ได้ ถวายเมื่อไรก็ได้ นั่นคือผ้าป่า 


    แต่ถ้าเป็นกฐินไม่ใช่แบบนี้ การถวายผ้ากฐินเป็นสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ถวายแก่พระภิกษุในวัดที่มีพระจำพรรษาครบ ๕ รูป ตลอดพรรษา ๓ เดือน และถวายได้ภายในเวลา ๑ เดือน นับตั้งแต่วันออกพรรษา คือ ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ คือวันลอยกระทงนั่นเอง หมายความว่า พระภิกษุสามารถรับผ้ากฐินได้เฉพาะในเวลาหนึ่งเดือนนี้เท่านั้น ไม่สามารถรับทั้งปี การทอดกฐินจึงถือว่าเป็นกาลทาน คือเป็นทานที่จำกัดด้วยเงื่อนไขของเวลา ไม่ได้ทำได้ตลอดเวลา แล้วยังทำได้เฉพาะกับพระภิกษุในวัดที่มีพระอยู่จำพรรษาตลอดพรรษา และครบ ๕ รูป ถ้าวัดไหนมีพระ ๓-๔ รูป ก็รับกฐินไม่ได้ แต่ถ้าเป็นการทอดผ้าป่าสามารถทำได้ นอกจากนี้วัดหนึ่งยังรับกฐินได้แค่ปีละครั้งเดียวเท่านั้น แต่ผ้าป่าจะทอดกี่ครั้งก็ได้ 

 

กฐินและผ้าป่ามีพิธีกรรมและสิ่งของที่ถวายเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไรในแต่ละยุคสมัย? 


    ในแง่หลักการสำคัญก็ต้องคงเดิมเอาไว้ แต่รูปแบบพิธีการหรือข้าวของที่ถวายอาจจะ        แตกต่างกันไปตามท้องถิ่นบ้าง แต่หลักการของผ้าป่าเป็นอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

 
    ส่วนรูปแบบของกฐินนั้นจะไม่ประเคนหรือประเคนก็ได้ แต่ต้องไปวางไว้ที่หน้าคณะสงฆ์ เสร็จแล้วคณะสงฆ์ต้องมีการอปโลกน์กฐิน คือตั้งพัดแล้วตัวแทนสงฆ์ ๑ รูป จะกล่าวว่า


    “ผ้ากฐินทานกับทั้งผ้าอานิสงส์บริวารทั้งปวงนี้ เป็นของบริสุทธิ์ประดุจเลื่อนลอยมาจาก ท้องนภากาศ แล้วตกลงในท่ามกลางสงฆ์ มิได้เฉพาะเจาะจงแก่ภิกษุรูปหนึ่งรูปใด แต่มีพระบรมพุทธานุญาตไว้ว่า ให้มอบแก่ภิกษุผู้มีจีวรเก่า หรือเป็นผู้มีความสามารถ อาจจะกระทำกฐินัตถารกิจให้ถูกต้องตามวินัยบรมพุทธานุญาตได้ บัดนี้สงฆ์เห็นสมควรแก่ภิกษุรูปใด ขอจงพร้อมใจมอบแก่ภิกษุรูปนั้น เทอญ”   


    นี่คือการอปโลกน์กฐิน เสร็จแล้วก็จะมีพระภิกษุอีกรูปหนึ่ง อาจจะเป็นรูปเดียวกันหรือคนละรูปก็แล้วแต่ ตั้งพัดในท่ามกลางสงฆ์แล้วกล่าวว่า


    “ผ้ากฐินทานกับทั้งผ้าอานิสงส์บริวารทั้งปวงนี้ ข้าพเจ้าเห็นสมควรแก่... (กล่าวชื่อและฉายาของพระภิกษุรูปนี้) ผู้มีความสามารถ อาจจะกระทำกฐินัตถารกิจให้ถูกต้องตามวินัยบรมพุทธานุญาตได้ ถ้าภิกษุรูปใดเห็นไม่สมควร จงทักท้วงขึ้นในท่ามกลางสงฆ์” จากนั้นก็หยุดนิ่ง      นิดหนึ่งเพื่อดูว่าจะมีใครท้วงหรือเปล่า ถ้าไม่มีก็กล่าวต่อไปว่า “หากเห็นสมควรแล้ว ขอจงให้สัททสัญญา สาธุการขึ้นโดยพร้อมเพรียงกัน” แล้วพระทั้งหมดก็สาธุ เป็นอันว่าเห็นชอบตามที่      พระภิกษุผู้ตั้งญัตติเสนอให้มอบผ้ากฐินนี้แก่พระรูปนี้ แต่ถ้ามีสงฆ์รูปใดคัดค้านไม่เห็นด้วยแม้เพียงรูปเดียวก็ไม่ได้ มติต้องเป็นเอกฉันท์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่โดยทั่วไปมักไม่มีใครคัดค้าน 

 

การทอดกฐินมีประวัติความเป็นมาอย่างไร?


    ประเพณีทอดกฐินเกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งพุทธกาล มีอยู่คราวหนึ่งพอออกพรรษาแล้ว พระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ตามที่ต่าง ๆ ก็ส่งตัวแทนเดินทางมาเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (เป็นธรรมเนียมของพระในครั้งพุทธกาล) เพื่อที่จะดูว่าตลอดพรรษาในปีที่ผ่านมา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติ        พระวินัยอะไรบ้าง มีพระธรรมเทศนาใหม่ ๆ อะไรบ้าง จะได้มาศึกษาเล่าเรียนและมากราบ      พระพุทธองค์ด้วย แล้วจะได้กลับไปถ่ายทอดความรู้ใหม่ ๆ แก่พระภิกษุรูปอื่นในท้องถิ่นของตน


    มีอยู่คราวหนึ่ง พระภิกษุเมืองปาไฐยรัฐ ๓๐ รูป เดินทางรอนแรมตากแดด ตากฝน ลัดเลาะคันนาและเดินผ่านป่า ผ่านเขา พอจีวรโดนฝนบวกกับเจอกิ่งไม้ เจอหนาม เจออะไรต่าง ๆ ก็  เปื่อยขาดไปตามสภาพ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงมีพุทธานุญาตให้ถวายผ้ากฐินแก่พระภิกษุได้     ตามเงื่อนไขดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ตั้งแต่นั้นมาจึงเกิดเป็นประเพณีทอดกฐินขึ้น

 

กฐินหรือผ้าป่าเน้นในเรื่องของการถวายผ้า การนำปัจจัยที่ได้จากการ      ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ไปทำประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ มีความเกี่ยวเนื่องกับผ้าป่าหรือกฐินอย่างไร?


    ถือว่าเป็นบริวารกฐินหรือบริวารผ้าป่า เพราะว่าทำไปเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เนื่องจากในช่วงวันทอดกฐิน ทอดผ้าป่า มีสาธุชนมาร่วมบุญที่วัดเป็นจำนวนมาก และเห็นว่าจะต้อง           บำรุงวัดด้วยปัจจัย ๔ เช่น เรื่องผ้า หรือเรื่องเสนาสนะที่เป็นอาคารสถานที่บ้าง เป็นโบสถ์ วิหาร ศาลา หรือกุฏิพระบ้าง ซึ่งแล้วแต่ว่าที่นั้น ๆ ขาดแคลนสิ่งใด จำเป็นจะต้องใช้สิ่งใด หรือว่าจะเป็นกองทุนภัตตาหาร กองทุนยารักษาโรคก็ได้ บางทีก็เป็นกองทุนการศึกษาของพระภิกษุสามเณร คือสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ถือว่าเป็นบริวารกฐินหรือบริวารผ้าป่าไปด้วย 

 

ในฐานะพุทธบริษัทเราควรมีทัศนะและท่าทีอย่างไรในการชวนคนทำบุญ?


    มีตัวอย่างเรื่องจริงในครั้งพุทธกาล อุบาสกท่านหนึ่งไปฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเกิดศรัทธา อยากจะเลี้ยงพระ แต่ตัวเองมีทรัพย์ไม่พอ ก็ไปชวนคนทั้งเมืองมาทำบุญเลี้ยงพระ วันหนึ่งไปเจอเศรษฐีขี้เหนียว อุบาสกก็ชวนเศรษฐีมาร่วมบุญท่ามกลางลูกค้าที่กำลังซื้อของเต็มร้าน ครั้นเศรษฐีจะไม่ทำก็กลัวคนว่าขี้เหนียว ก็เลยจำใจร่วมบุญกับเขาไป แต่ครั้นเวลาจะเอาน้ำมัน    น้ำผึ้ง น้ำอ้อยเทให้เขาครึ่งแก้วก็กลัวจะเยอะเกินไป ก็เลยเปิดจุกขวด แล้วเอามือปิดไว้ กะว่าให้ออกมาสักหยดสองหยด ขอมีส่วนร่วมในบุญด้วยหยดสองหยด อุบาสกก็ไม่ได้ว่าอะไร ได้แต่กล่าวคำว่า “สาธุ” 


    บอกบุญกับเศรษฐีขี้เหนียวแล้ว อุบาสกก็ไปชวนคนอื่นทำบุญต่อไปด้วยความปีติเบิกบานตามหลักวิชชา แต่ฝ่ายเศรษฐีกลัวเขาจะไปต่อว่าทีหลัง เลยเอากริชเหน็บเอวแล้วตามไปแอบฟัง ถ้าอุบาสกคนนี้เอ่ยถึงชื่อตน แล้วทำท่าจะพูดในทางเสีย ๆ หาย ๆ  ก็จะเอากริชแทงให้ตาย  


    พออุบาสกไปถึงสถานที่ที่จะเลี้ยงพระ ก็หุงหาอาหาร แล้วก็เอาน้ำมัน เอางา เอาอะไร       ต่าง ๆ ที่ได้มาจากเศรษฐีอย่างละนิดอย่างละหน่อยใส่ลงไปทุกหม้อ หม้อนี้เม็ดหนึ่ง หม้อนั้น     เม็ดหนึ่ง แล้วก็เอาไปเลี้ยงพระ แล้วกล่าวท่ามกลางหมู่สงฆ์ว่า เศรษฐีร่วมบุญมาด้วย ขอให้มีส่วนแห่งบุญทุก ๆ หม้อเลย ขอให้ได้บุญเยอะ ๆ เหมือนได้เลี้ยงพระทุกรูปเลย 


    เศรษฐีฟังแล้วแทบช็อก เราขี้เหนียวสุด ๆ และทำกับเขาถึงขั้นแอบมาฟังว่า เขาจะว่าอะไรเราหรือเปล่า แต่เขาดีกับเราถึงขนาดนี้ ให้เราได้บุญกับพระทุก ๆ รูป ถ้าหากเรายังทำอย่างนี้     ต่อไป เราก็คงเป็นคนที่แย่ที่สุด ขณะนั้นใจของเศรษฐีเปิดแล้ว จึงได้ร่วมบุญใหญ่ พลิกความคิดจากขี้เหนียวกลับมาเป็นผู้ให้อย่างเต็มที่เต็มกำลัง 


    เรื่องราวนี้แสดงให้เห็นว่า เราควรเคารพในทานของผู้อื่น ไม่ว่าเขาจะทำมากหรือทำน้อย ในใจของเราไม่ควรมีความรู้สึกตำหนิติเตียน หรือกล่าวหาว่าทำไมทำน้อย ไม่ว่าเขาจะทำมากทำน้อยก็เคารพในทานของเขา ให้เราถือหลักที่ว่ามีบุญอะไรก็ชวนให้ทั่ว ๆ อย่าไปเกรงใจ แต่อย่าไป    คาดหวังว่าเขาต้องทำเท่านั้นเท่านี้ ไปอธิบายให้เขาเข้าใจ และอธิบายให้เหมาะกับภาวะของ         แต่ละคน แล้วถ้าเขาร่วมบุญมา ไม่ว่าสลึงหนึ่ง บาทหนึ่ง สิบบาท ร้อยบาท หรือเท่าไรก็แล้วแต่     ให้อนุโมทนาบุญกับเขาจากใจจริง ตรงนี้คือหน้าที่ของผู้ชวน 

 

ถ้าเราไม่ได้ไปร่วมงานทอดกฐิน ทอดผ้าป่า เราจะได้รับอานิสงส์เหมือนกันหรือต่างกัน? การมอบปัจจัยผ่านคนอื่นไปถวายพระ มีอานิสงส์ต่างกับที่เราไปถวายเองอย่างไรบ้าง?


    ถ้าเราได้ไปร่วมงานด้วยความตั้งใจ อานิสงส์จะเต็มที่ เพราะเราจะได้เห็นภาพพระรับของ    ที่เราถวายกับมือ ความปีติเบิกบานในบุญจะเต็มที่กว่า ฉะนั้นการไปทำด้วยตัวเองถึงอย่างไรก็      ได้บุญเต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่าแน่นอน แต่ถ้าฝากเขาไปทำก็ได้บุญเหมือนกัน แต่ได้ตามส่วน ถ้าทำแบบเสียไม่ได้ก็ได้บุญเหมือนกัน ได้แค่ส่วนหนึ่ง ถ้าฝากไปและใจมีศรัทธา แต่เนื่องจากสุขภาพ  ไม่ดีหรือติดธุระจริง ๆ แต่ใจเลื่อมใสเต็มที่ ก่อนให้ก็จบอธิษฐานอย่างดีแล้ว บุญก็จะเพิ่มขึ้นมากกว่าคนที่ทำแบบเสียไม่ได้ สรุปแล้วอยู่ที่ความตั้งใจและความศรัทธาของเราว่ามีแค่ไหนด้วย..    

 

 

พิธีทอดกฐินสามัคคีของวัดพระธรรมกาย ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๗
จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๗
เวลา ๑๓.๓๐ น. ณ สภาธรรมกายสากล (เวลา ๐๙.๓๐ น. มีพิธีบูชาข้าวพระ)
ขอเรียนเชิญสาธุชนทุกท่านไปร่วมพิธีได้ในวันเวลาดังกล่าว
(กรุณาสวมชุดขาวหรือสวมเสื้อขาว เพื่อรักษาวัฒนธรรมชาวพุทธ)

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๔๓ เดือนกันยายน ๒๕๕๗

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล