วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ปลื้มทุกครา ต้นเดือนที่ผ่านมา ทำมาหลายบุญ

ทบทวนบุญ
เรื่อง : พระสมศักดิ์ จนฺทสีโล

 

ปลื้มทุกครา
ต้นเดือนที่ผ่านมา ทำมาหลายบุญ

 

 


     เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ที่ผ่านมา เป็นวันที่รวมหลายบุญใหญ่ไว้ด้วยกัน นับตั้งแต่บุญบูชาข้าวพระบุญทำสมาธิภาวนาเนื่องในเทศกาลวันสมาธิโลก บุญแสดงมุทิตาสักการะแด่พระภิกษุสงฆ์ผู้สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค บุญแสดงมุทิตาแก่สำนักเรียนบาลีดีเด่นและคณะภาคดีเด่น ที่ได้รับโล่เกียรติยศ ทุนการศึกษา และตำราอุปกรณ์สนับสนุนการศึกษา บุญถวายภัตตาหารและปัจจัยไทยธรรมแด่พระภิกษุจาก ๓,๐๐๐ วัด และพระภิกษุ ๓๒๓ วัด ใน ๔ จังหวัดภาคใต้รวมทั้งบุญมอบกองทุนหนุนแรงใจแก่คณะครูใน ๔ จังหวัดภาคใต้

 


บูชาข้าวพระและวันสมาธิโลก

    ทุกเช้าวันอาทิตย์ต้นเดือนจะมีพิธีบูชาข้าวพระถวายเป็นพุทธบูชา ณ วัดพระธรรมกาย ซึ่งถือเป็นวันสำคัญที่ศิษยานุศิษย์ กัลยาณมิตรทั้งหลายจะไปวัดพร้อมกันโดยไม่ขาด เพราะทราบดีว่าเป็นวันบุญใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนเช้า


    ในเดือนสิงหาคมนี้ วันอาทิตย์ต้นเดือนซึ่งตรงกับวันที่ ๓ สิงหาคม มีการนั่งสมาธิ เนื่องในวันสมาธิโลก (วันที่ ๖ สิงหาคมของทุกปี) ซึ่งทางองค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (ยพสล.) ประกาศรับรองและเชิญชวนให้ภาคีสมาชิกจัดการปฏิบัติธรรม   นั่งสมาธิตามพุทธวิธี เพื่อแผ่ความสงบสุขภายในจิตใจ ยังให้เกิดสันติภาพอันสงบร่มเย็นแก่โลกและมวลมนุษยชาติทั้งหลาย ดังนั้น     วันอาทิตย์ต้นเดือนที่ผ่านมาจึงถือเป็นวาระพิเศษที่กัลยาณมิตร ผู้นำบุญ และสาธุชนทั้งหลายได้ร่วมกันนั่งสมาธิและบูชาข้าวพระถวายเป็นพุทธบูชาในโอกาสเดียวกัน

มุทิตาสักการะแด่พระ ป.ธ.๙ และเจ้าสำนักเรียนบาลี


    วัดพระธรรมกายนอกจากส่งเสริมทางด้านวิปัสสนาธุระแล้ว ยังส่งเสริมทางด้าน   คันถธุระ คือ การศึกษาเล่าเรียนทั้งด้านนักธรรมและภาษาบาลีตามหลักสูตรของการคณะสงฆ์ด้วย และมีการเรียนการสอนมาอย่างต่อเนื่อง จนมีพระภิกษุ-สามเณรสามารถสอบได้ เปรียญธรรมครบทุกประโยคทุกปี ซึ่งในปีนี้สำนักศาสนศึกษาวัดพระธรรมกายมีผู้สอบได้เปรียญธรรมมากที่สุดของประเทศ คือ ๒๔๘ รูป และมีผู้สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ๑ รูป แม้ในด้านบาลีศึกษาซึ่งเป็นการศึกษาของ  ฝ่ายฆราวาส ก็มีอุบาสก-อุบาสิกาสามารถสอบได้ทั้งประโยค ๓ ประโยค ๖ และประโยค ๙ 


    สำหรับพิธีมุทิตาสักการะแด่พระภิกษุสามเณรผู้สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค จากทั่วประเทศนั้น วัดพระธรรมกายจัดขึ้นอย่าง ต่อเนื่องทุกปี และในปีนี้เป็นครั้งที่ ๒๗ แล้ว ทั้งนี้เพราะพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ให้ ความสำคัญและปรารภเสมอว่า การที่พระภิกษุ-สามเณรสามารถสอบได้เปรียญธรรมถึงประโยค ๙ เป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความปลาบปลื้มปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะพระภิกษุ-สามเณรทั้งหลายเหล่านี้ จะเป็นศาสนทายาทผู้มีทั้ง  ภูมิรู้และภูมิธรรม สามารถที่จะรองรับงานพระพุทธศาสนาต่อไปในอนาคตได้อย่างดียิ่ง 


    ในปีนี้ พิธีมุทิตาสักการะพระภิกษุ-สามเณรผู้สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ซึ่งถือเป็นประโยคสูงสุดของหลักสูตรการศึกษาพระบาลีแห่งการคณะสงฆ์ไทย จัดขึ้น ณ    ห้องแก้วสารพัดนึก สภาธรรมกายสากล โดยมีพระเดชพระคุณพระวิสุทธิวงศาจารย์ รองแม่กองบาลี เมตตาเดินทางไปเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยเหล่าพระมหาเถรานุเถระผู้มีบทบาททั้งด้านการศึกษาและการปกครองคณะสงฆ์ก็เมตตาไปร่วมพิธีกันเป็นจำนวนมากเพื่อแสดงมุทิตาจิตแก่   พระภิกษุ-สามเณรเปรียญธรรม ๙ ประโยค ซึ่งปีนี้มีถึง ๒๖ รูป


    นอกจากพิธีมุทิตาสักการะแล้ว ยังมีพิธีถวายโล่เกียรติยศและทุนการศึกษาแก่สำนักเรียนดีเด่น ถวายตำราอุปกรณ์และปัจจัยสนับสนุนการศึกษาแก่สำนักเรียนที่สอบได้ ๑๐ รูปขึ้นไป ๑๕๑ แห่ง อันเป็นการประกาศเกียรติคุณเจ้าสำนักเรียน เจ้าอาวาส ตลอดจนครูบาอาจารย์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนส่งเสริม จนทำให้เกิดนักปราชญ์บัณฑิตผู้พิชิตธงชัยเป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยคอย่างน่าชื่นชมและอนุโมทนาสาธุการ

 

รายนามสำนักเรียนที่ได้รับโล่เกียรติยศ

 

    ๑. โล่เกียรติยศสำนักเรียนดีเด่นหนกลาง วัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร มีพระภิกษุ-สามเณรสอบผ่าน ๑๕๘ รูป       พระราชปริยัติโมลี (สุทัศน์ วรทสฺสี ป.ธ.๙) 
เป็นเจ้าอาวาส/เจ้าสำนักเรียน 


    ๒. โล่เกียรติยศสำนักเรียนดีเด่นหนเหนือ วัดจองคำ สำนักเรียนคณะจังหวัดลำปาง มีพระภิกษุ-สามเณรสอบผ่าน ๑๕๗ รูป       พระราชปริยัติโยดม (โอภาส โอภาโส) เป็น   เจ้าอาวาส/เจ้าสำนักศาสนศึกษา (พระปิฎกโมลี อาจารย์ใหญ่โรงเรียนปริยัติธรรม เป็นผู้แทนรับโล่)


    ๓. โล่เกียรติยศสำนักเรียนดีเด่นหนตะวันออก วัดโสธรวราราม วรวิหาร สำนักเรียน
คณะจังหวัดฉะเชิงเทรา มีพระภิกษุ-สามเณรสอบผ่าน ๑๕๑ รูป พระเทพสิทธิญาณรังสี (ประยงค์ ปิยวณฺโณ) เป็นเจ้าอาวาส/เจ้าสำนักศาสนศึกษา 


    ๔. โล่เกียรติยศสำนักเรียนดีเด่นหนใต้  วัดหาดใหญ่สิตาราม สำนักเรียนคณะจังหวัดสงขลา มีพระภิกษุ-สามเณรสอบผ่าน ๘๗ รูป พระพิศาลปริยัตยาภรณ์ (สมโภชน์ กิจจสาโร) เป็นเจ้าอาวาส/เจ้าสำนักศาสนศึกษา (พระมหาวิวัฒน์ วิริโย เป็นผู้แทนรับโล่) 

 

รายนามคณะภาคที่ได้รับโล่เกียรติยศ


 
    ๑. โล่เกียรติยศกิตติมศักดิ์ คณะภาคดีเด่น ชนะเลิศอันดับที่ ๑ พระราชวิสุทธิเวที วัดชนะสงคราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร เจ้าคณะภาค ๑ (มีนักเรียนในเขตการปกครองกทม., นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ) มีพระภิกษุ-สามเณรสอบผ่าน ๑,๙๐๙ รูป


    ๒. โล่เกียรติยศกิตติมศักดิ์ คณะภาคดีเด่น รองชนะเลิศอันดับที่ ๑ พระเทพมุนี วัดไตรมิตร-วิทยาราม วรวิหาร เจ้าคณะภาค ๘ (มีนักเรียนในเขตการปกครอง อุดรธานี, หนองคาย, เลย, สกลนคร, หนองบัวลำภู) มีพระภิกษุ-สามเณรสอบผ่าน ๖๑๘ รูป


    ๓. โล่เกียรติยศกิตติมศักดิ์ คณะภาคดีเด่น รองชนะเลิศอันดับที่ ๒ พระธรรมรัตนดิลก วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรวิหาร เจ้าคณะภาค ๔ (มีนักเรียนในเขตการปกครอง นครสวรรค์, เพชรบูรณ์, พิจิตร, กำแพงเพชร) มีพระภิกษุ-สามเณรสอบผ่าน ๕๖๕ รูป

 

ถวายไทยธรรม ๓,๐๐๐ วัด รวมทั้ง ๔ จังหวัดภาคใต้


    หลังจากประกอบพิธีมุทิตาสักการะ พิธีถวายโล่แก่สำนักเรียนและคณะภาคต่าง ๆ แล้ว เป็นพิธีถวายไทยธรรมแด่คณะสงฆ์จาก ๓,๐๐๐ วัด รวมทั้งคณะสงฆ์จาก ๓๒๓ วัด ใน ๔ จังหวัดภาคใต้ และยังมีพิธีมอบกองทุนหนุนแรงใจช่วยครูใต้ ใน ๔ จังหวัดภาคใต้ ซึ่งจัดต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้กำลังใจ และชื่นชมในความเสียสละอันยิ่งใหญ่ ที่คุณครู   ทั้งหลายยืนหยัดทำหน้าที่ในดินแดนที่ยังมี   การก่อความไม่สงบ ซึ่งความปลอดภัยในชีวิตประจำวันมีน้อย เสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน 


    ในวาระโอกาสที่ได้ทบทวนบุญวันอาทิตย์ต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นโอกาสแห่งอนุสตานุตริยะ คือ การระลึกถึงสิ่งที่ยอดเยี่ยม เป็นวันแห่งทัสนานุตริยะ คือ การได้เห็นในสิ่ง    อันยอดเยี่ยม และสวนานุตริยะ คือ การฟัง   อันยอดเยี่ยม อันได้แก่โอวาทของพระเดชพระคุณพระวิสุทธิวงศาจารย์ ประธานสงฆ์ และการแสดงสุนทรพจน์ระดับโลกของพระภิกษุ-สามเณร วารสารอยู่ในบุญขอกราบอนุโมทนาบุญเจ้าสำนักเรียน เจ้าอาวาส และครูบาอาจารย์ทุก ๆ รูป และขอเทิดทูนพระภิกษุ-สามเณร ผู้เป็นเปรียญธรรมสูงสุดทั้งหลาย ที่พากเพียรเฝ้าฝึกฝนอบรมตนเองให้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เพื่อเตรียมพร้อม    ที่จะรองรับงานพระพุทธศาสนาทั้งในปัจจุบันและต่อไปในอนาคต ขอกราบอนุโมทนาสาธุการพระภิกษุ-สามเณรทุกรูป อนุโมทนาบุญกับอุบาสก-อุบาสิกาทุกคนที่มาร่วมงานในครั้งนี้ และขอให้ผลานิสงส์ที่ได้ถวายไทยธรรมครั้งยิ่งใหญ่นี้ จงส่งผลให้ท่านทั้งหลายถึงพร้อมด้วยสิ่งที่ดีงาม สำเร็จตาม   คำอธิษฐานที่ตั้งไว้ดีแล้วทุกประการเทอญ..

 


สัมภาษณ์ยอดนักศึกษาภาษาบาลี

พระมหากฤตชญา สุภาจโร 
วัดสร้อยทอง กรุงเทพมหานคร


    เป็นเกียรติอย่างมากที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อจัดมุทิตาขึ้นเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจของพระภิกษุ-สามเณรที่สอบเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้ ภาษาบาลีมีความจำเป็นมากที่สุด ในเมื่อเราเป็นมหาเปรียญ เราต้องศึกษาพระบาลี เพราะจะเป็นรากฐาน จะเป็นกำลังให้แก่พระศาสนา ถ้าเราเรียนบาลีจบเปรียญธรรม ๙ ประโยคแล้ว ก็เปรียบเสมือนเป็นกุญแจดอกหนึ่งที่จะเอาไปไขตู้พระไตรปิฎก เพื่อที่จะเอามาศึกษาให้กว้างขึ้นไปอีก ปรกติอาตมภาพเป็นอาจารย์สอนที่วัดสร้อยทองและวัดพระธรรมกาย สอนเปรียญธรรม ๔ ประโยค และสอนที่โรงเรียนเทคนิคด้วย ฉะนั้นการเรียนบาลีไม่ใช่เฉพาะพระภิกษุ-สามเณรอย่างเดียว ฆราวาสก็เรียนได้ สอนได้ 

 

พระมหาเกริกสัน ญาณสมฺปนฺโน
วัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) จังหวัดนครปฐม


    การเรียนบาลีเป็นรากแก้วของพระพุทธศาสนา ทำให้พระภิกษุ-สามเณรมีพัฒนาการ อย่างน้อยก็ทำให้มองเห็นตัวเองว่า จะต้องมีความรับผิดชอบมาก ๆ นอกจากนี้การเรียนบาลียังทำให้เราได้อยู่ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้า  ทุกครั้งที่ได้แปล ได้เรียน ก็คือการเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ที่สำคัญการเรียนบาลียังเป็นการเรียนเพื่อออกจากความทุกข์ ดังนั้น การเรียนบาลีจึงมีอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่ 


    รู้สึกดีใจมากที่ได้มาร่วมพิธีมุทิตาพระภิกษุ-สามเณรที่สำเร็จการศึกษาเปรียญธรรม ๙ ประโยค ที่วัดพระธรรมกาย ซึ่งจัดสถานที่ได้สะอาด งดงาม ทุกการต้อนรับนำมาซึ่งความประทับใจ ขอกราบขอบพระคุณในน้ำใจอันยิ่งใหญ่ของพระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี และคณะสงฆ์วัดพระธรรมกาย ขออนุโมทนาญาติโยมทุกคนที่ช่วยกันจัดงานครั้งนี้ 

 

พระมหาสุทธินารถ ญาณชโย 
วัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี


    รู้สึกปลาบปลื้มปีติยินดีที่สอบผ่านเปรียญ ๙ ประโยค ขอถวายมุทิตาสักการะแด่พระเดชพระคุณหลวงพ่อในวาระครบ ๗๐ ปี และเป็นกำลังใจให้รุ่นน้อง ๆ ที่กำลังศึกษาอยู่ ให้มีความเพียรที่จะศึกษาให้สำเร็จตามรุ่นพี่   ที่จบมา เพื่อจะได้มาเป็นกำลังของพระพุทธศาสนาสืบไป 


    ภาษาบาลีเป็นศูนย์รวมคำสอนของพระพุทธเจ้า การที่เราศึกษาภาษาบาลีแตกฉาน เวลาเราไปแปลบาลีก็จะมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งมากขึ้น ใครเรียนรู้ได้มากขนาดไหนก็จะแปลได้ลึกซึ้งแตกฉานมากขึ้นเท่านั้น การเรียนภาษาบาลีจึงมีความสำคัญสำหรับคนที่จะเรียนรู้คำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อนำมาสอนตนเองและชาวโลกให้เข้าถึงความหลุดพ้นและเข้าสู่พระนิพพาน

 

พระมหาจุมพล สีหพโล (นาคหลวง) 
วัดศรีโคมคำ พระอารามหลวง จังหวัดพะเยา 


    สำหรับงานมุทิตาจิตมหาเปรียญธรรม ๙ ประโยค ที่วัดพระธรรมกายนำโดยพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระเทพญาณมหามุนีจัดขึ้น ถือว่าเป็นพิธีที่แสดงออกถึงมุทิตาจิต ซึ่งเป็นจิตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์ที่ปฏิบัติต่อกัน   ซึ่งมีพื้นฐานมาจากความเมตตา วันนี้เป็นที่ปลาบปลื้มและน่าปีติอนุโมทนาสำหรับตัวของอาตมาและเพื่อนสหธรรมิกทุกรูปที่สอบผ่านเปรียญธรรม     ๙ ประโยคในปีนี้ 


    การศึกษาบาลีถือว่าเป็นปริยัติสัทธรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในเสาหลัก ๓ เสา ที่ค้ำจุนพระศาสนาไว้ไม่ให้คำสอนของพระพุทธเจ้าล้มลงได้ นั้นคือ ปริยัติสัทธรรม ปฏิบัติสัทธรรม และปฏิเวธสัทธรรม 


    ปริยัติสัทธรรม คือ การศึกษาพระบาลี เป็นหัวใจหลักในการที่จะไขไปสู่การปฏิบัติและเป็นผลให้เกิดปฏิเวธโดยสมบูรณ์ หากปริยัติไม่ดำเนิน ก็หมายถึงว่า บันไดขั้นแรกไม่มี หรือเครื่องจักรกลไกไม่ทำงาน เมื่อเครื่องจักรตัวแรกไม่ทำงาน ก็ส่งต่อไปยังเครื่องจักรตัวที่ ๒ ที่ ๓ ไม่ได้ ปริยัติสัทธรรมหรือการศึกษาพระบาลีจึงเป็นการศึกษาที่สำคัญที่สุดในพระศาสนานี้ และเป็นการศึกษาที่นำมาซึ่งสันติสุขแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน


  
กัลฯ จุฑารัตน์  เริงหทัยธรรม 
วัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี


    ดิฉันอายุ ๕๓ ปี ทางโลกจบปริญญาโทวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ทางธรรมจบธรรมศึกษา พระไตรปิฎกศึกษา พระอภิธรรม 


    วิธีการเรียนพระบาลีมีหลักอยู่ ๒ อย่าง คือ (๑) จำให้ได้ แล้วต้องไปทำความเข้าใจ (๒) เข้าใจได้แล้ว ต้องไปหาวิธีจำ ที่สำคัญคือการเติมบุญให้สามารถรองรับความรู้พระบาลีที่ทรงคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการทำสมาธิชำระใจให้สะอาดผ่องใสบ่อย ๆ บางทีมาถึงห้องเรียนก่อนก็นั่งหลับตาล้างใจ แม้เพียง ๑-๕ นาที ก็ตาม ในระหว่างวันก็จะไม่เสพเรื่องที่ทำให้ใจขุ่นหรือแกว่งออกไปจากพระบาลีเลย และเติมบุญบารมีตลอดเวลาของการเรียน 


    นอกจากนี้ยังมีเคล็ดลับสำคัญ คือการเตรียมตัวก่อนเรียน ระหว่างเรียน ก่อนอบรม ระหว่างอบรม ก่อนสอบ ระหว่างสอบ หลังสอบเสร็จจนถึงประกาศผล 


    การเรียนบาลีนั้น ยิ่งเรียน ยิ่งซึ้งว่า ชีวิตมีค่าที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ยิ่งศึกษา ยิ่งมีความสุข รสพระธรรมชนะรสทั้งปวงจริง ๆ น่าแปลกใจเมื่อเรียนจบแล้ว ดิฉันรู้สึกว่าใบหน้าอ่อนเยาว์ลง สุขภาพดีขึ้นมาก ฉลาดมากขึ้นเยอะ มีทรัพย์มากขึ้นแยะ อยากให้ทุกคนได้ลองเรียนเองค่ะ

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๔๓ เดือนกันยายน ๒๕๕๗

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล