วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ตำรับยอดเลขา ตอนที่ ๙ จรรยาข้อที่ ๑๗

ตำรับยอดเลขา
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว

 

ตำรับยอดเลขา
จากคัมภีร์ “จรรยาบ่าว”  วิธีฝึกผู้นำในยุค ร.ศ. ๑๓๑

ตอนที่ ๙ จรรยาข้อที่ ๑๗

 

      “ตำรับยอดเลขา” นำมาจากหนังสือ “จรรยาบ่าว” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ ๗๕ ปีที่แล้ว โดยไม่ได้ระบุชื่อ    ผู้เขียน เมื่อหลวงพ่อทัตตชีโวอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ท่านอยากให้ญาติโยมรู้เรื่องราวดี ๆ จึงเมตตานำมาเทศน์ให้ฟังเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ต่อมาพิมพ์รวมเล่มและตั้งชื่อใหม่ว่า “ตำรับยอดเลขา”       โดยลำดับเนื้อความตามต้นฉบับเดิม และคัดลอกของเก่าไว้ให้ดูด้วย เพื่อรักษาศัพท์บางคำไว้ และเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เขียน

 

๑๗
ว่าด้วยการปลุกนายตามทุ่มโมงที่สั่งไว้

คนที่จะทำงานไม่ผิดพลาด
คือคนที่รู้จักวางแผนล่วงหน้า
และทำงานตรงต่อเวลาอยู่เสมอ
ทำให้มีการเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา
เพราะรู้ล่วงหน้าว่า วันไหน ที่ไหน เวลาใด
จะต้องทำอะไร จะต้องเตรียมอะไรไปบ้าง
และต้องไปถึงที่หมายกี่โมงกี่ยาม

 

๑๗. ว่าด้วยการปลุกนายตามทุ่มโมงที่สั่งไว้

    นายท่านจะมีราชการฤๅธุระอันสำคัญ ไปแต่ดึกฤๅแต่เช้าก็ดี เมื่อท่านสั่งไว้ให้ปลุกเวลานั้น เราก็ต้องผูกใจจดจำคอยปลุกท่านตามสั่งอย่าเหลวไหล ถ้ามีเวลาน้อยอยู่ที่จะถึงกำหนดเราก็ไม่ควรจะนอน หาหนังสือมาดูเสียให้เพลินอย่างหนึ่ง ฤๅเราชอบเล่นอะไรทำอะไรก็ทำไปตามความประสงค์ อย่าให้หลับลงไปได้จะเสียการ ฤๅว่าเวลายังมีมากพอจะนอนได้บ้างจึงควรนอน แต่ถึงกระนั้นก็อย่าปล่อยใจให้เผลอ ควรที่จะไปสั่งกับคนแก่ ๆ ที่เขาเคยตื่นดึก ตื่นเช้าไว้ด้วย เพื่อใช้เขาปลุกเราอีกทีจึงจะดี ถ้าคนแก่นั้นเขามีนาฬิกา ฤๅรู้ทุ่มโมงถูกต้อง ก็พอวางใจได้ ถ้าแกเลื่อนหลง ฤๅไม่แน่นอนในเวลาทุ่มโมงแล้ว ต้องให้แกปลุกเราเนิ่น ๆ ไว้จะได้ไม่พลาด แต่เราต้องปลุกท่านตามคำสั่ง และเวลาที่ยังมีก่อนปลุกท่านนั้น เราต้องตระเตรียมสิ่งที่ท่านจะต้องใช้ มีชงน้ำชากาแฟ เป็นต้น ให้พร้อมไว้ ฤๅพาหนะรถเรืออะไรที่จะใช้นั้น ก็ให้พร้อมด้วย ฤๅอะไร ๆ อีกด้วยบ้าง ก็ให้เรียนถามไว้เสียด้วย แล้วก็จัดเตรียมให้พร้อมตามสั่ง เมื่อกระทำเช่นนี้ได้ละดีนักแล

    จะเห็นว่าผู้ที่เขียนหนังสือเล่มนี้ เป็นคนรอบคอบมาก คงทำงานมามาก จึงเก็บรายละเอียดได้ถึงขนาดนี้ เราเคยสอนลูกน้องได้อย่างนี้กันไหม ถ้าเคยสอนไว้ก็จะมีคนไว้ใช้สอยได้ดังใจ แต่ถ้าไม่เคยอบรมลูกน้องไว้เลย ถึงคราวจะไปโน่นไปนี่ ก็ไม่ได้ดังใจสักที เมื่อก่อนหลวงพ่อก็ตอบไม่ถูกว่าทำไม แต่พอมาเจอหนังสือจรรยาบ่าวเล่มนี้จึงเข้าใจว่า ที่คนโน้นคนนี้ทำอะไรให้เราไม่ได้อย่างใจ เพราะไม่ได้ทำอย่างที่ควรจะเป็นนั่นเอง

    เวลาจะไปไหนดึก ๆ ดื่น ๆ หรือว่ามีงานด่วน สิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องการมาก นอกจากจะช่วยปลุกท่านตามเวลาแล้วก็คือ ต้องการความพร้อมของเราซึ่งเป็นผู้ติดตามนั่นเอง

    สมมุติว่าจะต้องออกเดินทางตอนตีสอง สำหรับหลวงพ่อกว่าจะทำงานประจำวันเสร็จก็ดึก ปกติจะสรงน้ำเวลาเที่ยงคืน ต่อจากนั้นก็สวดมนต์ทำวัตร เสร็จก็ราวเที่ยงคืนสี่สิบห้าหรือตีหนึ่งแล้ว ถ้าจะนอนก็คงมีเวลาหลับเพียงชั่วโมงเดียว ป่วยการหลับ เพราะเวลาน้อยเหลือเกิน ก็อาจหยิบหนังสือมานั่งอ่านหรือขีดเขียนรอเวลาไป ที่จริงแล้วการได้หลับสักชั่วโมงสองชั่วโมงอาจจำเป็น เพราะเมื่อไปถึงที่แล้วต้องลงมือทำงานเลย แต่ถ้าผู้ติดตามก็ไปนอนด้วย แล้วตั้งนาฬิกาไว้กระชั้นชิดเกินไป พอถึงเวลาจวนตีสอง ตื่นขึ้นมาด้วยอาการงัวเงียทั้งคู่ เดี๋ยวก็หลงลืมอะไรกันบ้าง เสียงานจนได้

    ผู้ติดตามหรือลูกน้องที่ดีต้องกระปรี้กระเปร่าอยู่ตลอดเวลา ต้องคอยตระเตรียมทุกอย่างไว้ ให้พร้อม เช่นว่าอาจจะตื่นขึ้นมาก่อนสัก ๒๐ นาที พออีก ๑๕ นาที จะถึงเวลาเดินทาง เจ้านาย ตื่นขึ้นมาก็ให้ท่านรองท้องด้วยปาท่องโก๋ โอวัลตินหรือกาแฟ พาหนะที่ใช้ในการเดินทางควรเช็ก  ให้พร้อมอยู่เสมอ อย่างนี้จึงจะดี บางครั้งหลวงพ่อโชคดีได้เด็กเก่ง ๆ อย่างนี้มาช่วยงาน เมื่อจะเดินทาง ไปที่หนึ่งเพื่อทำงานเรื่องนั้น ๆ ความที่ใจจดจ่ออยู่กับงานจึงเตรียมเฉพาะเรื่องงานเท่านั้น ไม่ค่อยห่วงเรื่องส่วนตัว ทำให้หลงลืมไม่ได้เอายาไปฉันตามเวลาที่หมอสั่ง เด็กเขาจะเตรียมเอาไปให้เสร็จ ไม่บกพร่อง ก็สบายไป

    บางครั้งเดินทางไปทำงานในที่แห่งหนึ่ง ซีึ่งอยู่ไม่ไกลจากอีกแห่งหนึ่ง สามารถแวะทำธุระได้อีกอย่าง แต่ทีแรกไม่ได้คิด ไม่ได้เตรียมการมา ก็เลยทำไม่ได้ เสียเที่ยวไปเปล่า ๆ แต่บางครั้งได้เด็กที่รู้ใจมาคอยดูแลว่า หลวงพ่อจะไปทำงานอะไร เขารู้ระยะทาง รู้ระยะเวลา และรู้ความจำเป็นมากน้อยทั้งหมด แล้วก็เตรียมงานต่าง ๆ ไปให้เสร็จสรรพ เผื่อแวะหรือเลยไปทำงานอื่นได้ด้วย ทั้งหยูกยา เครื่องอัดเทป วิดีโอ สไลด์ ฯลฯ บางทีหลวงพ่อเห็นเขาหอบพะรุงพะรังก็เอ็ดเอาเสียอีกว่าจะเอาไปทำไมมากมาย เขาก็บอกว่า “เผื่อหลวงพ่อทำธุระตรงนี้เสร็จ อาจจะแวะไปตรงนั้นได้         เลยเตรียมมาให้ ถึงไม่ได้ใช้งานก็ไม่เป็นไร ไม่หนักหนาอะไร ผมหิ้วติดมือมาด้วย เผื่อจะได้ไม่เสียเที่ยว” อย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน ทำให้เราคล่องตัวทำงานได้มาก ไม่ติดขัด ไอ้ชนิดที่สั่งหนึ่งได้แค่      จุดห้า จุดเจ็ด ละก็แย่หน่อย ก็ได้แต่ทนใช้งานกันไปอย่างนั้นเอง

    การที่บุคคลจะได้บริวารอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงเคยเจอปัญหามาแล้ว สมัยที่พระองค์ทรงประกาศพระศาสนาไปได้สัก ๑๕-๒๐ ปี คราวหนึ่งทรงเดินทางไปกับพระภิกษุผู้ติดตามอุปัฏฐากรูปหนึ่ง ผ่านป่ามะม่วงร่มรื่นน่าแวะพักผ่อน แต่พระองค์ทรงมีกิจจะต้องเดินทางไปต่อ ทรงหยุดพักไม่ได้ พระภิกษุรูปที่ติดตามมาด้วยกราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า           ป่ามะม่วงนี้ร่มรื่นดี ข้าพระพุทธเจ้าขอพักอยู่ที่นี่แหละ เพื่อเจริญภาวนา” พระพุทธองค์ทรงค้านว่า “อย่าเลย ไปกับเราก่อนเถิด เราจะไปเทศน์ที่หมู่บ้านข้างหน้า” พระภิกษุทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าไม่ไปด้วยหรอกพระเจ้าข้า จะหาป่าร่มรื่นอย่างนี้ได้ที่ไหนอีก ข้าพระพุทธเจ้าขอนั่งทำภาวนาอยู่ที่นี่แหละ”

    แม้พระพุทธองค์จะทรงเอ่ยชวนอีกหลายครั้งก็ไม่ยอม กลับวางบาตรของพระองค์ลงกลางถนน แล้วก็เข้าป่ามะม่วงไป พระพุทธองค์จึงต้องทรงถือบาตรไปเอง ตอนนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมายุประมาณ ๕๐-๕๕ พรรษา เมื่อจะเสด็จไปเทศน์ที่ไหนก็ทรงมีภารกิจหลายอย่าง เช่น ต้องประกาศให้ชาวบ้านชาวเมืองรู้ว่าจะมีการเทศน์ที่ไหน เมื่อใด เรื่องอะไร และต้องนำของใช้ เช่น บาตร      ไปด้วย และยังต้องไปจัดอาสนะเอง ซึ่งนับว่าเป็นภาระยุ่งยากเกินไปสำหรับผู้สูงอายุเช่นพระองค์ ในที่สุดพระองค์จึงทรงเลือกพระอานนท์มาเป็นอุปัฏฐากคอยรับใช้ และเป็นเลขานุการส่วนพระองค์ด้วย ถ้าเป็นในวงการทหารก็บอกว่าเป็นตำแหน่ง ทส. (ทหารคนสนิท) นั่นเอง

    เมื่อพระอานนท์ได้เป็นพระอุปัฏฐากประจำก็ปฏิบัติภารกิจที่ทรงมอบหมายได้อย่างยอดเยี่ยม จนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่า จะหาพุทธอุปัฏฐากที่มีความสามารถเกินกว่าพระอานนท์นั้นไม่ได้แล้ว งานประกาศพระศาสนาของพระองค์จึงรุดหน้ารวดเร็วยิ่งขึ้น

    กว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงได้พระอานนท์มาเป็นเลขาฯ หรือเป็นอุปัฏฐากส่วนพระองค์ ก็ทรงเจอเลขาฯ ประเภทไม่เป็นโล้เป็นพาย ทำให้พระองค์ต้องทรงลำบากลำบนเสียหลายครั้ง เช่น คราวหนึ่งพระภิกษุรูปหนึ่ง ขณะร่วมทางไปกับพระองค์ดี ๆ พอไปได้ครึ่งทางกลับขอแยกไปทางอื่นเสียนี่ ปล่อยให้ทรงถือบาตรไปเอง พระองค์ทรงห้ามถึง ๓ ครั้ง ก็ไม่เชื่อ แยกทางไปจนได้ แล้วก็ไปโดนโจรทุบหัวเอา วิ่งเลือดโชกมาทีเดียว ร้องว่า “พระพุทธเจ้าข้า รอด้วย ๆ โจรมันทุบหัว       ข้าพระพุทธเจ้า เจ็บเหลือเกิน”  พระพุทธองค์ตรัสว่า “เราบอกแล้วไงว่าอย่าไป” พระภิกษุนั้นกลับตอบว่า “แล้วทำไมพระองค์ไม่บอกข้าพระพุทธเจ้าก่อนว่าไปแล้วจะโดนตีหัวแบบนี้”

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “ถ้าบอกเธออย่างนั้น เธอก็จะคิดว่าเราหลอกลวงขู่เธอ เพื่อว่าเธอจะได้ไปกับเรา เราออกปากห้ามเธอหลายครั้งก็ไม่ยอมเชื่อ จึงต้องปล่อยให้เป็นอย่างนี้”

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีบารมีมากขนาดนี้ กว่าจะได้อุปัฏฐากที่รู้ใจมารับใช้ยังยาก เพราะฉะนั้นให้ตั้งใจศึกษาและปรับปรุงตัวให้ดี เผื่อจะได้เป็นเลขาฯ พระพุทธเจ้าพระองค์หน้า ได้บุญมากทีเดียว

    ยังมีแง่คิดเกี่ยวกับการเลือกอุปัฏฐากของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งน่าสนใจสำหรับผู้ที่เป็นนายที่ต้องการผู้รับใช้ใกล้ชิดรู้ใจสักคน จะได้ศึกษาไว้เป็นตัวอย่าง ตอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าต้องการอุปัฏฐาก ก็มีพระเถระผู้ใหญ่หลายท่านอาสา องค์แรกคือพระสารีบุตร แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงรับ ตรัสว่า “อย่าเลยสารีบุตร เธอมีความรู้ความสามารถมาก เธอไปทางทิศไหน ประชาชนก็จะดีอกดีใจเหมือนอย่างได้เห็นเราไปเอง ถ้าเธอไปกับเราเสียแล้ว ประชาชนที่เขารอเธอหรือรอเราทางทิศอื่น ๆ ก็จะตั้งตาคอย ทำให้เสียประโยชน์ของงานพระศาสนา” 

    จากพระดำรัสนี้ ทำให้เราได้เห็นน้ำพระทัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ทั้ง ๆ ที่พระสาวกมือดีที่สุด ทรงปัญญาเป็นเลิศ อาสาขอเป็นเลขาฯ ส่วนพระองค์ แต่พระองค์กลับไม่ทรงยอมรับ ด้วยเกรงว่าประชาชนทั้งหลายจะเสียประโยชน์ไป ส่วนพระองค์เองจะทรงเหนื่อยยากอย่างไรก็ไม่เป็นไร ครั้นเมื่อไม่ทรงรับพระสารีบุตรแล้ว พระโมคคัลลานะจึงอาสาขอเป็นอุปัฏฐากเอง แต่พระองค์ก็ทรงห้ามเอาไว้อีก ด้วยเหตุผลเดียวกันนั้น พระอรหันต์ผู้ใหญ่ทั้งหลายพากันอาสา เหตุการณ์ก็เป็นเช่นเดียวกัน จนกระทั่งเหลือพระอานนท์เพียงรูปเดียว ท่านนั่งเฉยอยู่ไม่ได้อาสาแต่ประการใด      เหตุที่ท่านไม่อาสาเพราะมีเหตุผลอยู่ในใจ ๓ ประการ คือ


        ประการแรก ท่านคิดว่าท่านเองก็ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ยังไม่หมดกิเลส เป็นแค่พระโสดาบัน

  ประการที่สอง ท่านมีอาวุโสน้อย ขนาดพระผู้ใหญ่ทั้งหลายพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ทรงรับไว้เป็นอุปัฏฐาก ถึงอาสาไปพระองค์อาจไม่ทรงรับก็ได้

       ประการที่สาม ถ้าพระพุทธองค์ทรงต้องการจะให้ท่านเป็นอุปัฏฐากก็คงมีรับสั่งเอง และในที่สุดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงเจาะจงชี้มาที่พระอานนท์ ทรงบอกให้มาเป็นอุปัฏฐาก

    แสดงว่าการจะเลือกเอาผู้ใดมาเป็นอุปัฏฐากหรือเป็นเลขานุการส่วนตัวนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลที่ทรงคุณธรรมอันเลิศไปเสียทั้งหมด แต่ขอเพียงเป็นผู้ที่รู้ใจนายดี และที่สำคัญจะต้องไม่มีข้อบกพร่อง และสามารถป้องกันไม่ให้เกิดข้อครหาต่าง ๆ แก่เจ้านายได้ อย่างเช่นพระอานนท์นั้น ขนาดพระพุทธองค์ทรงชี้ตัวเรียกให้มาเป็นอุปัฏฐาก ท่านยังไม่รับทันที ขอตั้งเงื่อนไขก่อน เงื่อนไขที่ขอไว้นั้น เพื่อป้องกันคำครหาว่ารับเป็นอุปัฏฐากเพราะเห็นแก่ความสะดวกสบาย และเพื่อป้องกันไม่ให้ใครตำหนิพระพุทธเจ้าได้ว่าทรงลำเอียงเพราะรัก เพราะเป็นคนโปรด ท่านขอไว้หลายข้อ เช่น ไม่ให้ประทานของดี ๆ เสมอของพระพุทธเจ้า ไม่ให้พักในที่เดียวกัน มีหลายข้อล้วนแต่ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของท่าน แต่เพื่อประโยชน์ของพระพุทธองค์และของพระศาสนาทั้งนั้น

    มีโอกาสหลวงพ่อจะเอาเรื่องพระอานนท์ทำหน้าที่เลขาฯ มาเล่าให้ฟัง จะได้รู้ว่าเลขาฯ ดี ๆ นั้น เขาคิดกันอย่างไร ตอนนี้ศึกษาจากที่ท่านผู้เขียนหนังสือ “จรรยาบ่าว” ให้ไว้ไปก่อนก็แล้วกันนะ.. 
       

 

 (อ่านต่อฉบับหน้า)

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๔๓ เดือนกันยายน ๒๕๕๗

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล