วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ หลวงพ่อตอบปัญหา "ความสงบของโลก เริ่มต้นจากความสงบภายใน"

 

เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนา พระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว)



            ตลอดระยะเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมาโลกของเรา ได้มีความพยายามในการแก้ไขปัญหา ความไม่สงบมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของความพยายามปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของโลก การปรับโครงสร้างทางการเมืองการปกครอง การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และอื่นๆ อีกมากมาย

             แต่ไม่ว่าจะปรับระบบบริหารเป็นอะไรก็ตาม ควันสงครามก็ยังไม่จางหายไปจากโลกสักที ผู้บริสุทธิ์มากมายยังคงล้มตายกลายเป็นเหยื่อสงคราม โลกยังคงมีเรื่องเล่าขานถึง โศกนาฏกรรมที่วนเวียน ซ้ำซากอยู่ในโลกใบนี้อยู่เรื่อยๆ จนบางทีเราเองก็มีความรู้สึกว่า เหตุใดมนุษย์เรามาชิงดีชิงเด่น ในสิ่งที่ไร้สาระแก่นสาร ทั้งๆ ที่วันหนึ่งเมื่อความตายของชีวิตมาถึง ทุกคนก็ต้องทิ้งทุกสิ่ง ทิ้งสมบัติทั้งที่รักและที่ชังไว้เบื้องหลังอยู่ดี

             เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเราเริ่มต้น แก้ไขปัญหา ความไม่สงบผิดที่ อุปมาเหมือนกับโลกนี้เป็นหม้อน้ำ ที่ตั้งอยู่บนเตาไฟใหญ่ แล้วก็มีประชากรโลก กว่าหกพันล้านคน ซึ่งเปรียบเหมือน ฟืนในเตาหกพันล้าน ดุ้นเผาผลาญอยู่ เท่ากับว่าความร้อนในตัวของแต่ละคน ก็มีส่วนทำให้โลกร้อนขึ้นทั้งนั้น แต่ถ้าต่างคนต่าง ชักฟืนของตัวเองออกจากเตา ความร้อนของโลก ก็จะถูกลดลงไป อย่างน้อยที่สุดแม้ว่าความร้อนของโลก จะยังไม่หมด แต่โลกก็ไม่ได้ร้อนเพราะเรา

             โปรดอย่าให้ความขัดแย้งทางการเมือง ทางเศรษฐกิจและผลประโยชน์อื่นใด ทำให้ผู้บริสุทธิ์เดือดร้อน ล้มตาย และจะเป็นเช่นนี้ได้ ต้องแก้ไขปัญหาด้วยหลักการที่ถูกต้อง นั่นคือ ความสงบของโลกใบนี้ ต้องเริ่มจากความสงบของแต่ละคนก่อน เมื่อแต่ละคนสงบแล้ว หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ประเทศ และโลกใบนี้ จึงจะสงบตามมา

             ความสงบของทุกคนต้องเริ่มต้นจากภายใน เพราะคนจะสงบได้ ใจต้องสงบก่อน เมื่อใจสงบ วาจาก็จะสงบ กายก็จะสงบ

             การทำใจให้สงบ มีหลักง่ายๆ ที่ทุกศาสนามีอยู่แล้ว นั่นคือ การหมั่นฝึกสมาธิเป็นประจำ ใจจะเกิดความสงบ แต่เนื่องจากระหว่างที่ฝึกสมาธิอยู่นี้ บางคนเพิ่งหัดใหม่ ก็เลยจำเป็นต้องฝึกควบคุม วาจากับกายให้อยู่ด้วย ไม่ให้ไปก่อความเดือดร้อนกับใคร รวมทั้งตัวเอง ซึ่งตรงนี้ทุกศาสนามีหลักปฏิบัติอยู่แล้ว เช่น ศาสนาพุทธก็ให้ยึดหลักศีล ๕ ศาสนาอื่นก็มีข้อบัญญัติคุมกาย และวาจาของตัวเอง

             แต่ละศาสนาก็จะมีข้อปฏิบัติเพื่อควบคุมวาจากับกายให้สงบอย่างนี้ ซึ่งเมื่อเราเริ่มคุมใจให้สงบ จากง่ายไปหายากอย่างนี้ ในที่สุด กาย วาจา ก็จะสงบไปพร้อมกับใจ

             ในช่วงแรกๆ อาจจะต้องมีการฝืนกันบ้าง แต่เมื่อฝึกคุมกาย วาจา ใจตัวเองจนคุ้นแล้ว ก็จะสงบเป็นธรรมชาติเอง โดยไม่ต้องไปควบคุม


            การที่แต่ละคนจะฝึกใจให้สงบได้ผลดี ต้องมีสถานที่สงบ แต่ทว่าในสังคมขณะนี้ มีความหนักหนาสาหัสที่ก่อให้เกิดความไม่สงบอย่างมาก คือ อบายมุข เลยทำให้สิ่งแวดล้อมภายนอก ของแต่ละคนเสียหาย ใจจึงสงบได้ยาก เพราะอบายมุขเป็นตัวกระตุ้นให้ขาดสติควบคุมกาย วาจา ใจให้สงบ

             การที่จะฝึกใจของตัวเองให้เกิดความสงบ ก็ต้องสร้างสถานที่สงบให้มากๆ แต่จะไปหาที่สงบจากไหน ก็มีหนทางเดียวคือ ต้องควบคุมอบายมุขให้อยู่ อย่าให้กระแทกกระทั้นจนสังคมเกิดความวุ่นวาย ถ้าสังคมร่วมมือกัน ไม่ให้อบายมุขระบาด สถานที่สงบจะเกิดขึ้นมาก ความสงบก็จะเกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง

             นอกจากอบายมุขแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องระมัดระวังตัวเองให้ดี คือ อย่าทำอะไรด้วยใจอคติ

             ไม่อคติ คือ ไม่ลำเอียงเพราะรัก ไม่ลำเอียง เพราะโกรธ ไม่ลำเอียงเพราะโง่ ไม่ลำเอียงเพราะหลง

             การก้าวเข้าสู่สังคม เราต้องระมัดระวังเรื่องนี้ให้มาก ซึ่งจะทำได้ต่อเมื่อใจนิ่งดีแล้ว อยู่ในความพินิจพิจารณา แล้วความอคติก็จะไม่เกิด

             เมื่อความอคติไม่เกิดแล้ว ความสงบสุข ของสังคมก็จะเกิดขึ้น แล้วเมื่อควบคุมเศรษฐกิจให้ดี เศรษฐกิจก็จะไม่ล้มเหลว ปัญหาที่เกิดจาก อาชญากรรม คอรัปชั่น การค้าประเวณี ต้มตุ๋นหลอกลวง และอาชีพผิดกฎหมาย อีกสารพัดก็จะหมดไป




             เมื่อบุคคลฝึกตนเองให้มีความสงบกาย วาจา ใจได้ระดับหนึ่งแล้ว ย่อมระมัดระวังไม่ให้ตนเอง ทำสิ่งใดด้วยความอคติ สังคมย่อมไม่เดือดร้อนเพราะตนเองเป็นสาเหตุ และก็ยังมีความเมตตา ต่อผู้อื่นด้วย การชักชวนให้ทำความดี ไม่ปล่อยให้คนอื่นๆ ในสังคมจมอยู่กับอบายมุขต่อไป เขาย่อมปฏิบัติตน เข้าสู่ความเป็นมาตรฐานของคนดี

             เมื่อแต่ละคนต่างก็ฝึกควบคุมใจบ่อยๆ จนคุ้น คุณสมบัติของคนดีที่โลกต้องการ ย่อมเกิดขึ้น ในตัวของเขา ตามไปด้วยโดยอัตโนมัติ

             การแก้ไขปัญหาอะไรก็ตาม ทุกคนต้องดูข้อบกพร่องตัวเองก่อน จะต้องนับหนึ่งที่ตัวเองก่อน แก้ไขตัวเองเป็นคนแรก เมื่อแก้ไขตัวเองเป็นคนแรกแล้ว ก็ต้องชักชวนคนอื่นให้ทำความดีตามมา โดยชักชวนในสิ่งที่ตนเองสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีได้แล้ว

            แต่คนส่วนมากในโลกนี้ รักที่จะตั้งกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมแก้ไขคนอื่นก่อน แต่จะแก้ไขข้อบกพร่อง ของตัวเองไว้เป็นคนสุดท้าย

             เรื่องร้อนๆ ในโลกนี้ ไม่ว่าเกิดขึ้นที่ไหนก็ตาม มักล้วนมุ่งไปแก้ไขที่ฝ่ายตรงข้าม แล้วไม่แก้ไข ตัวเองก่อน เพราะฉะนั้นยิ่งแก้จึงยิ่งร้อน ยิ่งแก้ยิ่งจับผิดยิ่งแก้ตัวเอง ก็ยิ่งสร้างปัญหาไปด้วยโดยไม่รู้ตัว

             แล้วยังไม่พอ ความที่โลกนี้มีการสื่อสารกันได้กว้างขวาง ก็เลยทำให้เกิดการแทรกแซง จากภายนอกเข้าไปอีก กลายเป็นการสาดน้ำมันเข้ากองไฟเข้าไปอีก กลายเป็นยิ่งเพิ่มปัญหา

             ธรรมชาติของคนในโลกนี้ ตอนลืมตาก็มองเห็นคนทั้งโลก แต่ไม่เคยเห็นหน้าตัวเองเลย ลูกนัยน์ตาของตัวเองยิ่งร้าย เห็นแต่คนอื่น ของตัวเองกลับไม่เห็น อย่างดีก็เห็นแค่เงาในกระจก

             เมื่อมีความผิดพลาดอะไรขึ้นมา มักมุ่งวิจารณ์จับผิดชาวบ้านก่อน ความผิดจึงไปตกที่คนอื่นทั้งหมด จนไม่มีใครดี เมื่อทุกคนคิดอย่างนี้ ตัวเองก็ไม่ยอมแก้ไขข้อบกพร่องของตัวเอง ก็มีแต่พังกับพัง
เพราะหลงว่าตัวเองดี ทั้งที่มีความไม่ดีมากมาย

             เพราะฉะนั้น การจะเริ่มต้นแก้ไขอะไรก็ตาม ต้องเริ่มจากมองเห็นข้อบกพร่องของตนเองก่อน ทำอย่างไรจึงจะเห็นข้อบกพร่องของตนเอง ก็ทำได้โดยหลับตาทำสมาธิให้ใจเป็นกลาง พอใจเป็นกลาง ก็จะเห็นพฤติกรรมของตัวเอง ถูกก็มองเห็น ผิดก็มองเห็น แล้วก็ลงมือแก้ไข ให้ตรงจุด ที่ถูกก็ทำให้ถูกยิ่งขึ้นไป ที่ผิดก็แก้ไขให้ถูก

            ด้วยวิธีที่ต่างคนก็เริ่มต้นแก้ไขที่ตัวเองนี้ โดยไม่ปล่อยให้ใครมาแทรกแซง ประเดี๋ยวก็แก้ไขได้ ยกเว้นว่า คนๆ นั้นเป็นคนบ้าสติไม่ดี หรือคนตายไปแล้วเท่านั้น ที่แก้ไขไม่ได้





             จากหลักการที่ว่า "ความสงบของโลกใบนี้ ต้องเริ่มจากความสงบของแต่ละคนก่อน เมื่อแต่ละคนสงบแล้ว หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ประเทศ และโลกใบนี้ จึงจะสงบตามมา"

             เมื่อเราเข้าสู่ภาคปฏิบัติ ซึ่งแม้ว่าแต่ละบ้านแต่ละประเทศจะมีความแตกต่าง ในด้านขนบธรรมเนียมประเพณี ลัทธิความเชื่อและศาสนาที่ตนนับถือ ก็ตาม แต่สิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นความดีสากล ที่ทุกคนในโลกนี้สามารถเริ่มต้นสร้างความสงบ ในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้ ดังนี้

             ๑. ทาน คือ การแบ่งปันกันกิน แบ่งปันกันใช้ มีสิ่งของใดๆ พอจะแบ่งกันได้ ก็แบ่งให้กัน ไม่หวงกัน ไม่คิดที่จะกินคนเดียวให้หมด ใครจะอดช่างมัน

             ๒. ปิยวาจา คือ การพูดกันด้วยคำที่ดีๆ เพราะๆ ให้กำลังใจกัน ไม่ด่าว่าจับผิดกัน เพราะต่างคนต่างก็มีเชื้อของความไม่รู้ทั้งนั้น วันนี้พูดกันยังไม่รู้เรื่องไม่เป็นไร พรุ่งนี้พูดกันใหม่ได้

             ๓. อัตถจริยา คือ ประพฤติตนให้เป็นประโยชน์กับผู้อื่น ถ้าพอจะมีอะไรที่ช่วยเหลือเพื่อนบ้านได้ก็ช่วย บางครั้งมีความรู้ดีๆ ก็เอาความรู้นั้นไปให้ มีความสามารถดีๆ ก็เอาไปช่วยด้วยความมีน้ำใจ

             ๔. สมานัตตตา คือ ประพฤติตนให้เหมาะสมกับฐานะที่ตัวเองเป็น เช่น
                    ถ้าเป็นพ่อแม่ก็ต้องประพฤติตน ให้สมเป็นพ่อแม่
                    ถ้าเป็นลูกก็ต้องประพฤติตนให้สมเป็นลูก
                    เป็นครูก็ต้องประพฤติตนให้สมเป็นครู
                    เป็นศิษย์ก็ต้องประพฤติตนให้สมเป็นศิษย์
                    เป็นสามีก็ต้องประพฤติตนให้สมกับเป็นสามี
                    เป็นภรรยาก็ต้องประพฤติตนให้สมกับเป็นภรรยา
                    เป็นลูกจ้างก็ต้องประพฤติตนให้สมกับเป็นลูกจ้าง
                    เป็นเจ้านายก็ต้องประพฤติตนให้สมกับเป็นเจ้านาย

             โดยการประพฤติตนให้เหมาะสมนี้ แต่ละบ้านเมืองก็มีการให้คำแนะนำสั่งสอนที่ดีงามกันอยู่แล้ว และนี่ก็คือวิธีการง่ายๆ ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข บนพื้นฐานการแสวงจุดร่วม สมานจุดต่างเข้าหากัน


            สิ่งที่คนทุกคนในโลกนี้ จะต้องหมั่นเตือนตัวเองบ่อยๆ คือ

             "ไม่ช้า เราก็จะต้องตายแล้ว ความตายเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก่อนตายจะฝากความดีอะไรไว้ในโลกใบนี้บ้าง นึกอะไรได้ก็ต้องรีบไปทำ แต่ถ้านึกอะไรไม่ออก ก็ให้ทำความดีอย่างน้อย ๔ อย่างนี้ไปก่อน คือ ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตตา

             อย่างน้อยการทำความดี ๔ อย่างนี้ ถึงแม้ไม่สามารถทำให้โลกเย็นลงในทันที แต่โลกนี้ ก็ไม่ได้ร้อนขึ้นเพราะเรา และที่แน่ๆ ถ้าเราชักชวนให้คนอื่นทำความดีนี้พร้อมกันไปด้วย อย่างน้อยความสงบ จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน"

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๓๑ ประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล