วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ หลวงพ่อตอบปัญหา "บทบาทสำคัญสำหรับผู้เป็นพ่อ ในการเลี้ยงลูกให้เป็นคนดี"

 


หลวงพ่อเจ้าคะ สังคมปัจจุบันนี้ เกิดปัญหาลูกขาดความกตัญญูต่อพ่อแม่มากขึ้น จะมีวิธีสอนให้ลูกหลานของเราเป็นคนดี มีความกตัญญูได้อย่างไร ?

            บทบาทหน้าที่ของการเป็นพ่อนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ไม่ใช่เป็นแค่งานช้าง แต่เป็นงานยักษ์ เพราะการที่เลี้ยงลูกจะให้เป็นคนดีได้นั้น ก่อนอื่นคุณพ่อต้องรู้ว่าคุณสมบัติของคนดีอยู่ตรงไหนกันแน่ ไม่อย่างนั้นจะเป็นการเลี้ยงลูกผิดทางไป

             คุณสมบัติของคนดี คือ เป็นคนที่มีความรับผิดชอบ

             ผิดก็รับว่าตัวเองผิด แล้วจะแก้ไขให้ดีขึ้น
             ชอบหรือถูกต้องก็บอกว่า นี่แหละ เป็นความรู้ เป็นความสามารถของตน แล้วรักษาความดีความชอบนั้นเอาไว้ให้เป็นมาตรฐาน

             เพราะฉะนั้น ถ้าจะเลี้ยงลูกให้เป็นคนดี ก็ต้องฝึกลูกให้เป็นคนมีความรับผิดชอบ เมื่อลูกของเรามีความรับผิดชอบแล้ว คุณพ่อ คุณแม่ โดยเฉพาะคุณพ่อก็จะได้เบาใจ

             ถามว่าคนดีต้องมีความรับผิดชอบต่อเรื่องอะไรบ้าง? ความจริงมีเรื่องที่จะต้องรับผิดชอบ มากมาย ตั้งแต่มีความรับผิดชอบต่อตัวเอง จนกระทั่งมีความรับผิดชอบต่อประเทศชาติบ้านเมือง แต่เอาว่าอย่างต่ำสุด มีอยู่ ๔ ประการ ได้แก่


ประการที่ ๑ มีความรับผิดชอบต่อตนเอง

            หรือมีความรับผิดชอบต่อความเป็นมนุษย์ของตนเอง โดยวัดได้จากศีล ๔ ข้อแรกที่เขารักษา คือ ไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่เจ้าชู้ ไม่พูดเท็จ

             ส่วนศีลข้อที่ ๕ นั้นจัดอยู่ในเรื่องของอบายมุข ซึ่งเป็นเรื่องของการมีความรับผิดชอบต่อ ศีลธรรมทางเศรษฐกิจ ที่แยกออกไปอย่างนั้น เพราะว่าศีลข้อที่ ๕ ไม่ใช่ตัวศีลแท้ แต่เป็นตัวยุ เป็นตัวกระทุ้ง เป็นตัวส่งเสริม ให้ศีล ๔ ข้อแรกพัง

             เพราะฉะนั้น ต้องฝึกให้ลูกของเรารักษาศีล ๔ ข้อแรกให้ได้ อย่างชนิดเป็นชีวิตจิตใจกันทีเดียว เพราะถ้าใครสามารถรับผิดชอบศีล ๔ ข้อแรกนี้ได้ดี ความเป็นมนุษย์ของตัวเองก็จะสมบูรณ์ขึ้นมา


ประการที่ ๒ มีความรับผิดชอบต่อทิศ ๖

             ทิศ ๖ คือ หน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม ซึ่งประกอบด้วยตัวของเราเองเป็นแกนกลาง แล้วแวดล้อม ด้วยบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับเราอีก ๖ กลุ่ม คือ

             กลุ่มที่ ๑ ได้แก่ คุณพ่อ คุณแม่

             กลุ่มที่ ๒ ได้แก่ ครูบาอาจารย์ ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนกระทั่งถึงมหาวิทยาลัย

             กลุ่มที่ ๓ ได้แก่ พรรคพวกเพื่อนฝูงในสังคม

             กลุ่มที่ ๔ ได้แก่ สามี หรือว่าภรรยา รวมทั้งลูกของเรา

             กลุ่มที่ ๕ ได้แก่ ลูกน้องและผู้บังคับบัญชา ของเราบ้าง ที่ร่วมกันทำมาหากินเลี้ยงชีพ

             กลุ่มที่ ๖ ได้แก่ สมณชีพราหมณ์ หรือหลวงพ่อ หลวงปู่ทั้งหลาย

             บุคคลทั้ง ๖ กลุ่ม ที่อยู่ร่วมกัน ใกล้ชิดกัน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน คือบุคคลทั้ง ๖ กลุ่มนี้ต้องมีความรับผิดชอบต่อตัวเรา และเราเองก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อบุคคลทั้ง ๖ กลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน

             เพราะฉะนั้น เราต้องมีความสัมพันธ์อย่างดีกับทิศ ๖ รอบตัวเรา เพราะทิศ ๖ ในที่นี้ไม่ใช ่ทิศทางภูมิศาสตร์ แต่เป็นทิศทางศีลธรรม เป็นทิศทางมนุษยสัมพันธ์ของเรา พูดง่ายๆ ความรับผิดชอบ ต่อทิศ ๖ คือ การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับคนที่อยู่รอบข้างเรา


ประการที่ ๓ มีความรับผิดชอบต่อสังคม

             เมื่อต้องอยู่ร่วมกันเป็นสังคม เป็นบ้านเมือง เป็นประเทศชาติ แล้วจะเอาตัวรอดเพียงลำพัง หรือว่าแค่ทิศ ๖ ของเราเท่านั้นไม่ได้ แต่จะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกันด้วย โดยตัวเองต้อง ไม่ลำเอียง เข้าข้างใครในงานที่รับผิดชอบ และถ้าหากสังคมที่อยู่นั้น ปราศจากความยุติธรรม มีความลำเอียงเกิดขึ้น ก็จะนิ่งนอนใจไม่ได้ ต้องรีบเข้าไปช่วยกันแก้ไขให้ได้

             คำว่า "ไม่ลำเอียง" คือ ไม่ลำเอียงเพราะรัก ไม่ลำเอียงเพราะชัง ไม่ลำเอียงเพราะโง่ ไม่ลำเอียง เพราะกลัว ความไม่ลำเอียงทั้ง ๔ ประการนี้เป็นสิ่งที่จะต้องศึกษา และปลูกฝังกับลูกของเรา ตั้งแต่เล็กให้ดี


ประการที่ ๔ มีความรับผิดชอบต่อศีลธรรมทางเศรษฐกิจ

             คือ ไม่ไปแตะต้องอบายมุข ไม่ไปจมอยู่ในอบายมุข เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นที่มาแห่ง ทรัพย์สินเงินทอง ที่มาแห่งความสะดวกสบาย แต่ก็นำความหายนะมาให้กับทั้งตัวเอง ทั้งสังคม ทั้งประเทศชาติบ้านเมืองด้วย

             เพราะฉะนั้น ตัวเองต้องไม่แตะต้องอบายมุขทั้งหลาย และในสังคมนั้นหากมีอบายมุข ต้องช่วยกันแก้ไข ช่วยกันป้องกัน นี่คือความรับผิดชอบ ต่อศีลธรรมทางเศรษฐกิจ ที่คนดีพึงจะต้องมี

             เมื่อทราบแล้วว่าคุณสมบัติคนดีเป็นอย่างไร แล้วทำอย่างไรลูกของเราจึงจะมีคุณสมบัติดีๆ อย่างนี้ ก็ต้องลงมือทำ เพราะว่าคุณสมบัติทั้ง ๔ ประการนี้ ไม่ได้ตกลงมาจากท้องฟ้า แต่เป็นสิ่งที่ต้องสร้างขึ้นมาเอง ปู่ย่าตาทวดของเรา ท่านสอนวิธีเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีเอาไว้ให้แล้ว ว่ามีอยู่ ๔ ข้อ คือ
             ๑. แนะให้จำ คือ ให้ลูกท่องจนขึ้นใจ ว่าความรับผิดชอบทั้ง ๔ ประการนั้นมีอะไรบ้าง

             ๒. นำให้ดู คือ ทำเป็นแบบอย่างให้ลูกดู

             ๓. อยู่ให้เห็น คือ คอยติดตามดูเรื่อยไป ว่าลูกทำตามหรือไม่

             ๔. เคี่ยวเข็ญให้ทำอย่างจริงจัง คือ เคี่ยวเข็ญให้ลูกทำจนกระทั่งกลายเป็นนิสัย มีความรับผิดชอบอยู่เต็มอกเต็มใจ ชนิดเข้าเนื้อเข้ากระดูกไปเลย

             ถ้ากล่าวโดยย่อๆ การที่ลูกของเราจะดีได้นั้น ต้องประกอบด้วย
            
             ๑. มีครูดี ผู้ที่จะเป็นครูดี ก็คือผู้ที่เป็นพ่อแม่

             ๒. มีสิ่งแวดล้อมที่ดี คือ คนรอบข้างและสังคมที่อยู่ต้องดี

             เมื่อการเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีเป็นงานยักษ์อย่างนี้ เพราะฉะนั้นฝากไว้ด้วยสำหรับผู้ที่ยังไม่พร้อม หรือผู้ที่มีคุณสมบัติแห่งความเป็นพ่อไม่พอ ถ้าคิดจะแต่งงาน หลวงพ่อไม่ห้าม แต่ว่าแต่งงานแล้วอย่าเพิ่ง ไปมีลูก อย่าเพิ่งไปเป็นพ่อใครเลย

             เพราะคำว่า "คุณพ่อ" หมายถึง พ่อผู้มีพระคุณต่อลูก อย่างที่ว่ามาทั้งหมดแล้ว ถ้าหากไม่รู้ว่า คุณสมบัติ แห่งความเป็นพ่อจะฝึกอย่างไร ลองมาบวชอยู่กับหลวงพ่อสักพรรษา ๒ พรรษาก็ได้ พร้อมเมื่อไร แล้วค่อยออกไปเป็นพ่อคนกัน

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๓๑ ประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล