( ทำไมทำบุญแล้วต้องกรวดน้ำด้วย )

วันที่ 01 ตค. พ.ศ.2557

 
 
( ทำไมทำบุญแล้วต้องกรวดน้ำด้วย )
การกรวดน้ำ
 

   เป็นธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติว่า หลังจากทำบุญแล้ว จะกรวดน้ำอุทิศแผ่ส่วนกุศลที่ตนบำเพ็ญแล้วนั้นส่งไปให้   แก่บุรพชน หมู่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลาย และมักจะต่อด้วยการ ตั้งจิตอธิฐานเพื่อคุณงามความดี และในสิ่งที่เจ้าตัวตั้งความปรารถนาเอาไว้ ให้สำเร็จตามความปรารถนา
เมื่อจะต้องกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศล

      ๑. ควรเตรียมน้ำสะอาดใส่ภาชนะที่ง่ายแก่การหลั่งริน

      ๒. มือขวาใช้จับ มือซ้ายประคองหลั่งน้ำ

      ๓. เมื่อพระสงฆ์เริ่มอนุโมทนาบท “ยะถา วาริวหา ปูรา” ให้เริ่มกรวดน้ำ

      ๔. น้ำที่กรวดควรให้ไหลติดต่อกันไม่ขาดสายไม่หลั่งน้ำลงบนฝ่ามือหรือใช้นิ้วรองน้ำ    
  
     ๕. ตั้งใจอุทิศส่วนบุญในใจไปจนจบหรือกล่าวคำอุทิศส่วนบุญว่า“อิทัง เม ญาตินัง  โหตุ”  ขอบุญกุศลนี้ จงสำเร็จประโยชน์แก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าด้วยเถิด

      ๖. เมื่อพระสวดถึงตอนที่ว่า “มะณิ โชติระโส ยะถา” ควรหลั่งน้ำที่มีอยู่ให้หมดแล้วประนมมือรับพรจากพระ
   การกรวดน้ำมี 2 วิธี คือ

   กรวดน้ำเปียก คือ ใช้น้ำเป็นสื่อ นำใจให้เกิดสมาธิ เป็นอุบายในการรวมจิตเพ่งอุทิศเพื่อให้บุญมีกำลัง  รินน้ำลงไปพร้อมกับอุทิศผลบุญกุศลไปด้วย

   กรวดน้ำแห้ง คือ ไม่ใช้น้ำ ใช้แต่สิบนิ้วพนมตั้งจิตอธิษฐาน ด้วยกำลังแห่งสมาธิจิต แล้วอุทิศกุศลผลบุญไปให้ ยิ่งผู้อุทิศมีกำลังแห่งสมาธิจิตมาก กำลังบุญที่ส่งไปยิ่งมีกำลังมาก

  การอุทิศผลบุญมี 2 วิธี คือ
  อุทิศเจาะจง ได้แก่ การออกชื่อผู้ที่เราจะให้ท่านรับ เช่น ชื่อพ่อ แม่ ลูก หรือใครก็ได้

  อุทิศไม่เจาะจง ได้แก่ การกล่าวรวมๆกันไป เช่น หมู่ญาติทั้งหลาย และผู้ที่เคยเบียดเบียนกันมาตลอดถึงสรรพสัตว์ทั้งหลาย ขอจงได้รับกุศลผลบุญที่ข้าพเจ้าอุทิศไปนี้ เป็นต้น ทางที่ถูกควรทำทั้งสองวิธี คือผู้ที่มีคุณหรือมีเวรต่อกันมาก เราก็ควรอุทิศเจาะจง นอกนั้นก็อุทิศแบบรวม ๆ

( ถ้าเรากรวดน้ำไปแล้ว บุญจะลดลงไปไหม ? )

     การทำบุญนั้นเจ้าตัวได้บุญเป็นหลักอยู่แล้ว จะกรวดน้ำหรือไม่กรวดก็ได้ แต่ถ้ากรวดน้ำด้วยจะได้บุญเพิ่มขึ้น จากบุญสำเร็จได้ด้วยการให้ส่วนบุญ (ปัตติทานมัย) คือ การอุทิศส่วนบุญกุศลที่ได้กระทำไว้ ให้แก่สรรพสัตว์ทั้งปวง การบอกให้ผู้อื่นได้ร่วมอนุโมทนาด้วย ทั้งมนุษย์และอมนุษย์ ได้ทราบข่าวการบุญการกุศลที่เราได้กระทำไว้ดีแล้ว

    การอุทิศส่วนบุญนั้น บุญของผู้ทำไม่ได้ลดลง มีแต่จะเพิ่มขึ้นจากความมีใจกว้างเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น ผู้โมทนาที่เราเอาข่าวบุญไปบอกแล้วมีจิตยินดีก็จะมีส่วนแห่งบุญไปด้วย ท่านเปรียบเสมือนการต่อเทียน มีแต่จะสว่างไสวต่อ ๆ กันไป แต่ผู้อนุโมทนาจะได้รับไม่เท่าผู้ทำหรอกนะ ได้แต่เพียงเศษ ๆ

   และการกรวดน้ำจะทำให้เราระลึกถึงบุญเพิ่มขึ้นอีกด้วย ทั้งยังจะตามต่อด้วยการอธิษฐานจิตตั้งผังสำเร็จของชีวิตให้ไปในแนวทางที่ถูกต้องดีงาม เหมือนการทำพิมพ์เขียวเป็นแบบร่างให้เราดำเนินไปตามนั้น

ส่วนหลักการทำบุญที่จะให้ได้ผลบุญมาก ต้องครบองค์ประกอบ 4 ประการ คือ

1. วัตถุบริสุทธิ์ สิ่งที่ทำทานต้องได้มาด้วยความถูกต้อง จากสัมมาอาชีวะ ไม่ไปคดโกงใครเขามา

2. เจตนาบริสุทธิ์ เห็นแก่ประโยชน์ ในทานกุศลที่เราบริจาคไป ตั้งใจที่จะเสียสละ ให้เกิดเป็นบุญกุศลจริงๆ ไม่ได้หวังลาภ ยศ ชื่อเสียง หรือคำเยินยอ

3. ผู้ให้บริสุทธิ์ เป็นผู้มีศีล อย่างน้อย ศีล 5 และมีความปีติทั้ง 3 ขณะ คือ ก่อนให้ก็มีจิตใจผ่องใส ชื่นบาน เมื่อกำลังให้ จิตใจก็ผ่องใสอยู่ หลังจากให้แล้ว ก็มีความยินดี ไม่นึกเสียดายเลย และหมั่นตามระลึกถึงบุญอยู่บ่อย ๆ ด้วยจิตที่ชื่นบาน

4. ผู้รับบริสุทธิ์ พระภิกษุสงฆ์ผู้มีศีล ตั้งใจประพฤติดีปฏิบัติชอบ หรือถ้าให้ต่อองค์กร ก็ต้องเป็นส่วนงานที่ทำประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์และส่วนรวม  ถ้าบริสุทธิ์มาก ก็ได้บุญมาก มีประโยชน์มากก็ได้บุญมาก...
 
 
 
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.03558394908905 Mins