วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ พระธรรมเทศนา : หล่อพระประธาน เพื่ออัญเชิญประดิษฐาน ณ อาคารภาวนา ๖๐ ปี

 

เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนาพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)
เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘

             การหล่อองค์พระประธานที่จะนำไปประดิษฐาน ณ อาคารภาวนา ๖๐ ปีนี้ มีเพียงองค์เดียวเท่านั้น หลวงพ่อได้พยายามที่จะถอดรูปแบบลักษณะมหาบุรุษ ซึ่งใช้เวลายาวนานกว่า ๓๐ ปี พยายามปรับปรุงเรื่อยมาเพื่อที่จะให้ได้ลักษณะใกล้เคียงลักษณะมหาบุรุษมากที่สุด องค์พระพุทธปฏิมากรนี้ มีหน้าตักเกือบ ๒ เมตร จะนำไปประดิษฐาน ณ อาคารภาวนา ที่จะศึกษาวิชชาธรรมกายในขั้นสูงต่อไป

           พระประธานองค์นี้ จะเป็นจุดเชื่อมโยงพี่น้องวงบุญที่ยังพลัดกันอยู่ให้ได้มารวมกัน เพื่อจะได้มาสร้างบุญร่วมกัน มีสายบุญเชื่อมโยง ชาติต่อไปก็จะได้ไม่ต้องพลัดพรากจากกัน บางคนก็พลัดกันมายาวนานหลายกัป หลายพุทธันดรก็มี บางคนก็พุทธันดรเดียว

           นี่ก็เป็นหน้าที่ที่เราจะต้องตามกันกลับมาให้ได้ เป็นภารกิจที่พวกเราจะต้องทำ ไม่ทำไม่ได้ พี่น้องวงธรรมะของเราจะกระจัดกระจาย เมื่อรู้เรื่องราวเกี่ยวกับพี่น้องวงบุญของเราที่พลัดกันไป เราจะได้ไม่เสียดายในตอนนั้น รู้อย่างนี้เราไปชวนเขาก็ดี อย่าให้ความเข้าใจผิดว่า เราเกรงใจเขา กลัวจะไปรบกวนเขา เลิกคิดนะลูกนะ เราไม่เคยรบกวนใคร เพราะเราไม่ได้ไปขอเขา หรือไปเอาเงินเขามาเข้ากระเป๋าเราก็ไม่ใช่ แต่เรากำลังจะไปเป็นผู้ให้ ให้ธรรมทาน ให้เขารู้เรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต ให้เขาเอาชนะความตระหนี่ในใจเขา แล้วก็ตามรักษาสมบัติ ของเขาติดไปในภพเบื้องหน้า เราเป็นผู้ให้ เพราะฉะนั้นเลิกคิดซะเถอะว่า เกรงใจ กลัวจะไปรบกวนเขา กลัวเขาลำบาก

             วิธีแก้ที่จะไม่ให้เขาลำบากยากจน ต้องแก้แบบวิธีของพระพุทธเจ้า คือ เราดูตัวอย่างของมหาทุคตะ ก็แปลว่า คนจนสุดๆ จนจนกระทั่งไม่มีที่อยู่อาศัย ต้องขอเขากินอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านอยู่ท่ามกลางพระราชา มหาเศรษฐี เสนาบดี คหบดีก็เยอะ ทำไมท่านไม่พูดอย่างนี้บ้าง พวกเธอเห็นมหาทุคตะนั่นไหม อดอยากยากจน พวกเธอมีทรัพย์เยอะ ทำไมเธอไม่บริจาคทรัพย์ มารวมกันแล้วให้มหาทุคตะนั้นเล่า ทำไมท่านไม่พูดอย่างนี้ แต่สมัยนี้เขาพูดกันอย่างนี้นะ เรามาเรี่ยไรกันชักชวนกัน เอามาคนละบาทสองบาทให้คนจน แต่เชื่อไหมจ๊ะว่า เขาก็ยังจนต่อไป เพราะผังจนยังไม่ถูกรื้อ

             พระพุทธเจ้าท่านมีพุทธญาณที่ไม่มีขอบเขตจำกัด ท่านไม่ให้เขาแค่มีอิ่มไปมื้อ ๆ ในชาตินี้เท่านั้น แต่ท่านต้องการรื้อผังจน ทีนี้จะรื้อผังจนได้มันต้องทำเอง ใครล่ะจะไปทำให้ได้ ทำเองทำอย่างไร ก็ต้องเอาชนะความตระหนี่ในใจของตัวเองให้ได้ ได้ในขนาดเกิดมหาปีติ พูดคำว่า ชิตัง เม! เราชนะแล้ว ความตระหนี่ในใจ หลุดร่อนไปหมดแล้ว แล้วบริจาคนำทรัพย์ที่เรามีอยู่ออก ด้วยใจที่ปลื้มปีตินั่นละ ผังจนจึงจะถูกรื้อออกไป ถามว่า มหาทุคตะที่มีผ้าผืนซอมซ่ออย่างนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านต้องการผ้านั้นไหม ไม่ได้ต้องการเลย ก็ขนาดสมบัติจักรพรรดิ ท่านยังสละแล้วมาบวชอย่างนี้ กับผ้าของมหาทุคตอย่างนี้ ท่านไม่ได้ต้องการเลย

             เพราะฉะนั้น การที่เราไปทำหน้าที่กัลยาณมิตรอย่างนี้เรียกว่า เราไปรบกวนเขาไหม เป็นสิ่งที่ควรทำหรือไม่ นี่เป็นเรื่องที่สำคัญนะลูกนะ หลักวิชชาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศึกษาไว้เถิด แล้วเราจะเข้าใจ แล้วเราจะมีข้อมูลเอาไปให้กับผู้ที่เขายังไม่รู้อีกเยอะแยะ ที่เขาทำบุญสงเคราะห์โลก ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ถูกหลักวิชชา เอาเสื้อ เอาผ้า เอาอาหาร ไปให้คนจน เขาได้เสื้อ ได้ผ้า ได้อาหาร แต่ได้แค่นั้น แล้วก็เลิกให้ พอรู้ข่าวทุกข์ทีก็เอาไปให้อีก แต่ผังจนก็ยังมีอยู่

             วิธีที่ถูกต้องบอกว่า เธอรู้ไหม เธอจนเพราะอะไร ที่เธออดอยากยากเข็ญลำเค็ญอย่างนี้เพราะอะไร ผังจนมันอยู่ในตัวเธอ มันจะดึงดูดความจนมาสู่เธอ ไปที่ไหนก็จะดึงดูดแต่ความลำเค็ญมาให้ เธอต้องรื้อผังจน ด้วยการนำออก ด้วยการบริจาคอย่างถูกหลักวิชชา เธอเอาไปให้ซะ เธอเอาเรี่ยวเอาแรง ที่เธอยังพอมีอยู่ไปหาทรัพย์ มาให้ได้ด้วยกำลังแรงของเธอ หรือกำลังสติปัญญาของเธอเท่าที่เธอมี ไปทำมาซะ อย่าไปคำนึงถึงว่าเราได้มาเท่าไหร่ แต่ได้มาแล้วให้เอามาทำด้วยความปลื้มใจ เพราะทรัพย์ก้อนนี้หมายถึงชีวิตของเธอ ก็ผ้าผืนเดียวสละออกไป แต่ผืนนั้นคือชีวิตของมหาทุคตะ แต่ผังจนถูกรื้อออกไปเลย เพราะเอาชนะได้ขาดลอย นั่นก็ชีวิตลำเค็ญ ทรัพย์นี่กว่าจะได้มาก็เลือดตาแทบกระเด็น แต่ว่าสละออกไปด้วยความปีติ นั่นละจ้ะผังจนไม่มีเหลือหรอก ถ้าจนขนาดไหนก็ไม่เหลือนะจ๊ะ นี่ก็เป็นเรื่องราวที่เราจำเป็นจะต้องศึกษาไว้ทีเดียว

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 37 พฤศจิกายน ปี 2548

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล