วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ทันโลก ทันธรรม : อัจฉริยะ สร้างได้

ทันโลก ทันธรรม
เรื่อง : พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ (M.D.,Ph.D.) จากรายการทันโลก ทันธรรม ออกอากาศทางช่อง DMC


       ในพระพุทธศาสนาของเรามีอัจฉริยะมากเหมือนกัน แต่เราเรียกว่า "เอตทัคคะ" คือ เป็นเลิศ หรือเป็นอัจฉริยะ ในด้านต่างๆ นั่นเอง ทางวิทยาศาสตร์เขาแบ่งเป็น ๗ - ๘ ด้าน แต่ในทางพุทธศาสตร์ของเรา พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแบ่งอัจฉริยะออกเป็นหลายสิบด้าน ของพระมี ๔๑ รูป แล้วยังมีภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกาอีก แบ่งกัน ละเอียดยิบ ความเป็นเลิศในด้านต่างๆ ทั้งหมดนี้ ล้วนเกิดจากการสร้าง การฝึกฝนตัวเองทั้งสิ้น ทั้งในปัจจุบันชาติและในอดีตชาติที่สั่งสมกันมา

       การฝึกตัวเองให้เป็นอัจฉริยะต้องทำอย่างไร ประการแรก ก็คือ จะต้องมีความปรารถนา มุ่งมั่น อยากที่จะเป็นเลิศในด้านนั้นๆ จริงๆ ไม่ใช่แค่อยากวูบๆ วาบๆ วันนี้อยาก พรุ่งนี้เลิก อย่างนั้นยังไม่ได้ แต่ว่าต้องมีความปรารถนาจริงๆ พร้อมที่จะทุ่มเทฝึกฝนตัวเองอย่าง จริงๆ จังๆ อุปสรรคอะไรจะเกิดขึ้นมา ก็ไม่ย่อท้อ อย่างนี้ถึงจะมีสิทธิ์ ซึ่งในพระพุทธ ศาสนาของเรา ส่วนใหญ่ มักจะเกิดจากการที่ได้เห็นบุคคลต้นแบบ คือ ไปเห็นว่าในสมัย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ มีพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ได้รับการยกย่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นเลิศ เช่น เป็นเลิศในการแสดงธรรม พอเห็นแล้วรู้สึกประทับใจมาก อยากจะเป็นอย่างนั้นบ้าง เลยเกิดแรงบันดาลใจตั้งจิตอธิษฐานว่า ด้วยบุญทั้งหลายที่ข้าพเจ้าทำ ขอให้ได้เป็นเลิศทางด้านการแสดงธรรม ในสมัยพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งข้างหน้า แล้วก็ตั้งใจฝึกตัวเอง มาข้ามภพข้ามชาติเป็นแสนมหากัปทีเดียวสุดท้ายก็สำเร็จสมปรารถนา

      ในยุคนี้เหมือนกัน ถ้าเราเจอบุคคลต้นแบบ เห็นใครเขาเด่นทางไหนแล้วมีความรู้สึกประทับใจ แล้วก็อยากจะเป็นอย่างนั้นจริงๆพร้อมจะตั้งใจทุ่มเทฝึกฝนตัวเองจริงๆ แล้วละก็ ถึงจะได้ นี่คือแรงบันดาลใจ พร้อมจะเอาจริงเอาจังให้ได้อย่างนั้น

ประการที่ ๒ คือ การฝึกตัวเอง ต้องพร้อมที่จะทุ่มเทฝึกจริงๆ ถ้าเอาจริง เราก็จะพัฒนาศักยภาพตัวเราเองขึ้นมาได้ ดังตัวอย่างเช่น ดิสราเอลี (Benjamin Disraeli) นายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งของประเทศอังกฤษ มีผลงานโดดเด่นมาก เป็นผู้ที่มีวาทศิลป์ พูดแล้วก็สะกดผู้ฟังให้หยุดนิ่งได้ประเด็นแม่น เฉียบแหลม ลีลาวาทะกินขาดกันเลย แต่เชื่อไหมว่า
ดิสราเอลีเมื่อตอนเด็กๆ เป็นคนพูดติดอ่าง โตแล้วก็ยังติดอ่างอยู่ ก็รู้สึกขัดใจตัวเอง เพราะอยากจะเล่นการเมือง อยากจะเป็นผู้นำประเทศ แต่ถ้ายังพูดติดอ่างอยู่จะเป็นนักการเมืองได้อย่างไรสุดท้ายเลยไปกักตัวเองอยู่ในถ้ำ เขาเล่าว่า ดิสราเอลีเอาดาบแขวนไว้รอบตัวเลย เวลาพูดต้องยืนนิ่งๆ ถ้าขยับตัวคมดาบก็จะบาด เรียกว่าต้องตั้งสติดีๆ ให้ตัวสงบนิ่งใจสงบนิ่ง แล้วค่อยๆ พูดออกมา สุดท้ายฝึกจนกระทั่งเอาชนะการติดอ่างได้ กลายเป็นผู้มีวาทศิลป์เป็นเลิศ

       ฉะนั้นพวกเราที่คิดว่าอัจฉริยะสร้างได้จริง หรือเปล่า ดูแค่ด้านการใช้คำพูดอย่างเดียว จากคนติดอ่างมาเป็นผู้นำประเทศที่มีวาทศิลป์ เป็นเลิศได้ ก็เป็นตัวพิสูจน์ว่าอัจฉริยะสร้างได้ แน่นอน เราเองก็มีสิทธิ์จะทำได้ ถ้าเราเอาจริง

       อีกตัวอย่างหนึ่ง ไอน์สไตน์ ที่ถือว่าเป็น นักวิทยาศาสตร์ที่ฉลาดที่สุดในโลกในรอบ ๑๐๐ ปี ที่ผ่านมา เชื่อไหมว่าตอนเรียนชั้นประถม ไอน์สไตน์ถูกอาจารย์ให้ออกจากโรงเรียน บอกว่าเรียนไม่ไหวหรอก หัวทึบ แต่อาศัยที่แม่มีความเข้าใจ ค่อยๆ สอนจนกระทั่งเขาค่อยๆ เรียนขึ้นมาได้ จนเป็นอัจฉริยะของโลก พวกเรามีใครไหมที่เรียนชั้นประถมแล้วถูกอาจารย์ไล่ออก บอกว่าหัวทึบเรียนตามเพื่อนไม่ไหว ไม่มี เรายังเรียนสู้เพื่อนได้ เรียนไปกับเพื่อนได้ แสดงว่าเราก็มีสิทธิ์จะฉลาดอย่างไอน์สไตน์เหมือนกันถ้าเอาจริง

        แต่สิ่งที่พิสูจน์ความเอาจริงของไอน์สไตน์อย่างหนึ่งก็คือว่า เวลาใจจดจ่อเรื่องอะไรจะทุ่มไปทั้งตัวเลย อย่างมีคราวหนึ่ง ไปต่อแถวที่อำเภอ เพื่อจะไปลงทะเบียนเสียภาษีหรืออะไรทำนองนี้ ระหว่างที่ยืนรอคิว เนื่องจากคิวยาว ใจก็คิดถึงเรื่องโจทย์ฟิสิกส์ไป ทีนี้พอมาถึงคิวตัวเองปั๊บ เสมียนถาม "คุณชื่ออะไร" งง ตอบไม่ได้ เพราะใจไปจดจ่อกับโจทย์ฟิสิกส์ตรงนั้นงงอยู่พักหนึ่ง กำลังคิดว่าตัวเองชื่ออะไร เสมียนเห็นว่าคนนี้ยืนงงๆ ก็เลยบอกว่า "เสียเวลา คุณไปต่อคิวใหม่ก็แล้วกัน" ให้ย้ายไปต่อแถวหลังสุด ก็ต้องยอมไปต่อคิวใหม่ เพราะนึกไม่ออกว่าตัวเองชื่ออะไร ตอนนั้นเป็นนักฟิสิกส์ชั้นหนึ่งแล้ว ยังเป็นอย่างนี้เลย เป็นตัวบอกเลยว่า เมื่อไอน์สไตน์คิดเรื่องอะไรแล้วละก็ ทุ่มไปทั้งตัวทั้งใจ ใจจดจ่อ อย่างอื่นทิ้งหมดเลย ขนาดชื่อตัวเองกะทันหัน ยังนึกไม่ออกเลยว่าชื่ออะไร แต่คนส่วนใหญ่มักจะเป็นลักษณะ คิดอะไร ทำอะไรฉาบฉวย ยังไม่ได้เอาจริง อันนั้นนิดอันนี้หน่อย ถ้าเราอยากจะค้นพบสิ่งที่สำคัญ อยากจะเป็นอัจฉริยะอย่างไอน์สไตน์ เราต้องทุ่มอย่างไอน์สไตน์ จดจ่อมีสมาธิ แต่ไม่ได้หมายความว่าให้พวกเราทำอะไรแล้วลืมชื่อตัวเองไปเลย ไม่ต้องถึงขนาดนั้น แต่อย่างน้อยก็จะต้องเอาจริงเอาจัง มีใจจดจ่อ มีสมาธิตั้งมั่น แล้วเราจะเอาศักยภาพในตัวเราเองมาใช้ได้อย่างเต็มที่

        ลองสังเกตเด็กเกิดใหม่ ตาเขาจะลืมโพลง ตาแป๋วเลย คือเขาจะอยากรู้อยากเห็นสิ่งรอบตัวไปหมดทุกอย่าง แล้วพยายามสังเกต เอ๊ะ..คุณแม่ พูดอย่างนี้ ขยับปากอย่างนี้ มีเสียงออกมาอย่างไร มีเสียงอย่างนี้แล้วคนอื่นมีปฏิกิริยาอย่างไร ค่อยๆ สังเกต เด็กก็จะค่อยๆ จับได้ว่า อ๋อ..คำว่าแม่ นี่คือคำเรียกแม่ ออกเสียงว่าแม่เมื่อไร แม่หัน ออกเสียงว่าพ่อเมื่อไร พ่อหัน ค่อยๆ เรียนรู้ ในเวลาเพียงแค่ ปี สองปี เด็กเรียนรู้อะไรได้มากมาย เราเองไปเข้าโรงเรียนภาษา จะฝึกภาษา ปี สองปี บางทียังพูด ไม่ค่อยคล่องเลย เด็กๆ พูดได้เป็นธรรมชาติมากกว่า เพราะว่าเขาพร้อมจะเรียนรู้ ทุกอย่าง

       ฉะนั้น ถ้าเรามีความพร้อมในการเรียนรู้ เราจะเรียนรู้อะไรได้เยอะแยะ แต่เมื่อไรเราปิดใจตัวเอง นึกว่าเรารู้มากแล้ว
อัตราการเรียนรู้ของเรา การฝึกของเราจะลดลงไปทันทีเลย ฉะนั้นให้เรารักษาสภาพใจของเราให้เหมือนเด็ก ตื่นตัว ใจเปิด พร้อมจะเรียนรู้ตลอดเวลา

       ประการที่ ๓ วิธีการฝึกตัวเองให้เป็นอัจฉริยะ จะต้องไม่ดูเบาหรือดูหมิ่นคนอื่น มีตัวอย่างมาแล้วในครั้งพุทธกาลมีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อพระจูฬปันถก พระพี่ชายชื่อพระมหาปันถก ท่านเป็นพระอรหันต์ แล้ว ก็เลยมาชวนน้องชายไปบวช ตั้งใจจะสอน น้องให้เป็นพระอรหันต์ตามมาด้วย ปรากฏว่า แค่สอนคาถาให้คาถาเดียว มีอยู่ ๔ บาท บาทหนึ่ง ก็ประมาณครึ่งบรรทัด พระน้องชายเรียนอยู่ ๔ เดือน แม้แต่บาทเดียว คือ ครึ่งบรรทัดยังท่องไม่ได้เลย จนพระพี่ชาย บอกว่าไม่ไหว คงไม่มีวาสนาในการบวช บอกน้องว่า สึกเถอะ เธอไปไม่รอดแล้ว

        พระจูฬปันถกเสียใจมาก ไม่รู้จะทำอย่างไรก็เลยคิดว่าจะสึกระหว่างที่กำลังน้อยอกน้อยใจ ในโชควาสนาของตัวเอง ขณะที่จะเดินไปสึกนั่นเอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็น เลยถามว่า "จูฬปันถก เธอจะไปไหน" พระจูฬปันถกกราบทูลว่า จะมา ลาสิกขา พระเจ้าข้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบอก ว่าไม่ต้องสึก แล้วก็ประทานผ้าขาวให้ผืนหนึ่ง ให้ถือไว้ และให้ลูบไป
พร้อมทั้งให้บริกรรมภาวนาไปด้วยว่า "รโชหรณํ รโชหรณํ" แปลว่า ผ้าเช็ดธุลี ผ้าเช็ดธุลีพระจูฬปันถกดีใจ ก็เอาผ้าขาวมาลูบ แล้วก็ ภาวนาไป ลูบไปๆ หลายชั่วโมงเข้า ลืมตาดู เอ๊ะ.. ผ้าขาวเริ่มเป็นสีมอๆ แล้ว มันเปื้อนเหงื่อไคล เป็นสีมอๆ เลยได้คิดว่า ผ้าขาวที่ขาวบริสุทธิ์ พอถูกต้องมือของเรานานๆ เข้า ยังเป็นสีมอๆ ได้เลย ตัวเรานี่ช่างไม่สะอาดจริงๆ เลย เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

       พอใจเริ่มคลายความยึดมั่นถือมั่นตรงนี้ไปได้ ใจก็เริ่มเป็นสมาธิตั้งมั่นมากขึ้นๆ ดิ่งลงไป เจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนสุดท้ายหมดกิเลสเป็น พระอรหันต์ตรงนั้นเอง บรรลุปฏิสัมภิทาญาณ ๔ คือ แตกฉานในอรรถ ในธรรม ในนิรุตติ ในปฏิภาณ
การแสดงธรรมทุกเรื่องพรั่งพร้อมทุกอย่าง สุดท้ายได้รับการยกย่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เป็นผู้ที่เลิศ เป็นอัจฉริยะทางด้านมโนมยิทธิ คือ มีฤทธิ์ทางใจมาก

        เหตุที่พระจูฬปันถกท่องคาถาบาทเดียวตั้ง ๔ เดือนยังจำไม่ได้ เป็นเพราะว่า ภพในอดีตเคยเป็น พระภิกษุที่ฉลาดมาก เห็นเพื่อนพระภิกษุรูปหนึ่งพยายามจะร่ำเรียนพุทธวจนะแล้วก็จำไม่ค่อยจะได้ เลยไปหัวเราะเยาะเขาว่าโง่ วิบากกรรมนั้นทำ ให้เกิดมาชาตินี้โง่ คาถาบาทเดียว ๔ เดือนจำไม่ได้ แต่พอตั้งใจทุ่มปฏิบัติธรรมตามคำแนะนำของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนทำลายกิเลสทั้งปวง ลงไปได้ วิบากกรรมนั้นมันหมดไป จึงกลายเป็นพระอรหันต์ที่พรั่งพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ๔
ครบถ้วนบริบูรณ์ แล้วก็เป็นเลิศทางด้านมโนมยิทธิ

        เพราะฉะนั้นถ้าพวกเราเห็นใครเขาด้อยกว่าเราด้านไหน ห้ามดูถูกเขาเด็ดขาด วิบากกรรมจะเกิดเกิดตั้งแต่เริ่มคิดแล้ว คิดดูถูกเขาวิบากกรรมเกิดแล้ว ยิ่งพูดยิ่งเกิด เกิดทั้งชาตินี้ ทั้งชาติหน้า เพราะพอเราดูหมิ่นเขา ภาพของเขาจะปรากฏขึ้นในใจของเรายิ่งดูหมิ่นมากยิ่งตอกย้ำ แล้วสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นมาเป็นผังในใจของเรา ไม่ว่าจะเป็นความโง่ หรือว่าเรื่องการพูด เห็นใครพูดติดอ่าง ก็อย่าไปดูถูก ดูหมิ่นเขา เห็นใครเขาทำอะไรดีไม่เท่าเรา อย่าดูถูกดูหมิ่นเขาเด็ดขาด วางใจเรานิ่งๆ เฉยๆ เพราะว่าเราเองก็มีข้อบกพร่องเยอะแยะที่ต้องฝึกตัวเองให้มากขึ้นต่อไป ให้มองดูแต่เพียงว่า ใครเขามีอะไรดี แล้วชื่นชมอนุโมทนาเขา น้อมนำมาเป็นต้นแบบ ปั๊มไว้ในใจของเรา เราจะได้ฝึกตัวเองรอบด้าน ให้ดีขึ้นๆ ๆ
อย่างนี้ละก็ เราจะเป็นที่รวมของความดี ความสามารถ ประหนึ่งมหาสมุทรเป็นที่รวมของน้ำ แต่ถ้าไปดูถูกดูหมิ่นคนนั้นคนนี้ว่าเขาสู้เราไม่ได้อย่างนั้นอย่างนี้ ไปหัวเราะเยาะเขา อะไรไม่ดีๆ จะมารวมที่ตัวเราหมดเลย ฉะนั้น อย่าดูหมิ่นใคร เด็ดขาด

        ในช่วงสุดท้ายนี้ มีอีกเรื่องหนึ่งคือ สมองกับใจทำงานกันอย่างไร จริงๆ สมองเป็นเหมือนเครื่องมือของใจ ใจเป็นตัวควบคุมแล้วใช้งานสมอง ดังคำว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว สมองเป็นส่วนหนึ่งของกาย ก็เป็นบ่าวไปด้วย
ถ้าเปรียบสมองเหมือนกับคอมพิวเตอร์ ใจ ก็คือ ยูสเซอร์ (User) สมองเป็นเครื่องมือ ใจเป็นผู้สั่งงาน ผู้กำกับดูแลทุกอย่าง แต่สมองเป็นเครื่องมือที่ปรับ ตัวเองได้ ใช้ทำอะไรบ่อยๆ ก็จะพยายามปรับตัวเองให้มีประสิทธิภาพในการทำงานนั้นให้ดีขึ้น ฉะนั้น พอเราตั้งใจฝึกตัวเองจริงๆ จังๆ สมองก็ จะปรับตัวเอง มีไขมันมาหุ้ม มี ชวานเซลล์ (schwann cell) มาหุ้ม ทำให้ทำงานได้คล่องแคล่วรวดเร็วขึ้น หลังจากทำต่อเนื่องไป ๓ สัปดาห์ ๒๑-๒๒ วัน เหล่านี้เป็นต้น แต่หลักจริงๆ จะอยู่ที่ใจ เมื่อเราตั้งใจฝึก จริงๆ จังๆ แล้ว ผลจากสมองที่เนื่องถึงใจโยงใยกันแล้ว มันจะติดอยู่ในใจเราไปข้ามภพข้ามชาติได้ เป็นความทรงจำที่อยู่ในใจข้ามภพข้ามชาติ เป็นล้านชาติ อสงไขยชาติ ก็ยังเก็บกันอยู่ได้ เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อนมาก

      พอรู้อย่างนี้แล้ว เราอย่ากังวลว่า เอ๊ะ.. แล้วประสิทธิภาพของสมองหรือของใจเราในปัจจุบัน ที่เกิดมาแล้วอย่างนี้ จะเป็นตัวกำจัดการฝึกตัวของเราเองไหม มันก็มีส่วน แต่ว่าแค่ศักยภาพของสมองและใจเราที่มีอยู่นี้ ถ้าตั้งใจฝึกให้ใช้มันได้เต็มประสิทธิภาพ แค่นี้ก็เหลือเฟือแล้วที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในชีวิต แล้วก็เป็นอัจฉริยะ ในด้านต่างๆ ตามที่เรามุ่งหวัง

        เพราะฉะนั้นก่อนจะไปกังวลว่า สงสัยคงแก้ไม่ได้ เอาไว้แก้ชาติหน้าก็แล้วกัน อย่าไปคิดอย่างนั้น ใช้สิ่งที่ติดตัวมาตอนนี้ ให้เต็มศักยภาพก่อน ตอนนี้เรายังใช้แค่ไม่ถึง ๑๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ถ้าเรามีความมุ่งมั่นปรารถนาจริงๆ ตั้งใจฝึกตัวเอง ทุ่มจริงๆ
ใจจดจ่ออย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ ๒๑ วัน ๒๒ วัน แต่ว่ากันเป็นปี ว่ากันเป็นห้าปี สิบปี เอาจริงเอาจัง ไม่เก่งให้มันรู้ไป แล้วไม่ดูเบาไม่ดูหมิ่นใครเลย มองแต่ คนที่เขาดีมีจุดเด่นที่ควรศึกษา แล้วเอาเป็นต้นแบบ ในใจ อย่างนี้ละก็เราจะเป็นอัจฉริยะไม่ใช่แค่ ด้านเดียว แต่จะเป็นอัจฉริยะรอบด้านทีเดียว

 
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 68 มิถุนายน ปี 2551

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล