วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ “เทพธิดาคองโก” ยอดหญิงแห่งกาฬทวีป ผู้รู้คุณพระรัตนตรัย

บทความบุญ

เรื่อง : ธรรมยันตี

 



 

“เทพธิดาคองโก”

ยอดหญิงแห่งกาฬทวีป ผู้รู้คุณพระรัตนตรัย

           ในวันท้องฟ้าแจ่มใส เสียงสวดทำนองเสนาะทั้งจับใจและสูงส่ง ค่อย ๆ เล็ดลอดออกมาจากบ้านของชาวพุทธ หญิงสาวผิวเข้มที่กำลังทำอาหารจานเด็ด อาจไม่มีมือว่างพอสำหรับงานอื่น แต่หัวใจและเสียงอันงามของเธอนั้น ยังคงมีให้แก่พระศาสดาอันเป็น ที่เคารพรักเสมอ แม้ตัวเธอจะอยู่ไกลถึงกาฬทวีป

           เป็นอีกวันที่เธอนึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องยากเลย เพราะกลุ่ม ชาวพุทธในลูบุมบาชี ทางใต้สุดของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ก็ทำอย่างนี้กันนานแล้ว อาจเรียกได้ว่าเป็นทศวรรษ นับตั้งแต่ “ท่านโพธิราชา” (ชาวคองโกผู้ได้พบกับพระภิกษุชาวอินเดียตั้งแต่อายุ ๑๕ ปี) ได้นำพาผู้คนรอบกายมุ่งตรงสู่ หลักธรรมของพระพุทธองค์ ชีวิตประจำวันของชาวพุทธในดินแดนห่างไกลก็เริ่มดำเนินไปเช่นนี้เรื่อยมา พวกเธอไม่ได้สวดแค่เพียงตอนปรุงอาหารเท่านั้น แม้กำลังซักผ้าและกวาดลานบ้านก็ทำด้วย

 

 

           เหตุใดหนอ คนเหล่านี้จึงต้องการที่พึ่ง คงต้องนึกทบทวนดูว่า หากบ้านเกิด คือ โลก ใบแคบ ๆ ที่ทุกคนใฝ่หา พวกเธอคงรู้สึกขอบคุณอย่างเหลือล้นที่บ้านเล็ก ๆ หลังนี้ได้ทิ้งสมบัติใต้ดินไว้มากมาย เพชรและทองคำที่คนทั้งโลก ต่างแย่งชิง กำลังนอนนิ่งลึกลงไปใต้ฝ่าเท้าของเธอนี่เอง แต่เสียงขอบคุณนั้นอาจไม่ทันได้ปรากฏ เพราะสิ่งที่อยู่ควบคู่เสมอมา คือ สงคราม (นับแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ชาวคองโกต้องเผชิญความทุกข์ยากครั้งใหญ่จากพิษสงครามโลกแอฟริกัน ซึ่งเกิดขึ้นในคองโก) จากความสูญเสียครั้งแล้วครั้งเล่า พวกเธอคงอดคิดไม่ได้ว่า จริง ๆ แล้วบ้านเล็ก ๆ หลังนี้ ก็ไม่ได้สวยหรูเท่าใดนัก....

วางใจเบา ๆ สบาย ๆ

           เสียงนำนั่งสมาธิของพระอาจารย์ดังขึ้นอย่างแผ่วเบา แม้ท่านไม่ได้ใช้คำนี้โดยตรง แต่ก็พอจะแปลได้เช่นนี้เมื่อเป็นภาษาไทย เพื่อละลายเรื่องราวและภาพเก่า ๆ ที่ผ่านมาของพวกเธอให้หมดไป และนำพาชาวพุทธในถิ่นห่างไกล เข้าใกล้โลกสงบที่อยู่ภายในใจเป็นครั้งแรก นับเป็นเวลาเกือบ ๒ สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ ๑๓-๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ที่พระอาจารย์ได้เดินทางจากวัดพุทธโจฮันเนสเบิร์ก เซาท์แอฟริกา เพื่อจัดอบรมอุบาสิกาแก้วครั้งแรกถึงคองโก ด้วยความเมตตาของคุณครูไม่ใหญ่ที่ปรารถนาให้พระพุทธศาสนา เจริญรุ่งเรืองไปทุกดินแดนทั่วโลก

           หญิงชาวพุทธหลายสิบชีวิตที่กำลังนั่ง ต่อหน้าพระอาจารย์ ไม่ต่างจากชาวพุทธคองโกคนอื่น ที่เชื่อมั่นว่าพระพุทธศาสนาจะเป็นยาแก้ทุกข์ขนานเอก แต่ที่ผ่านมายังคงปฏิบัติได้ไม่มากนัก เพราะความห่างไกลจากต้นแหล่งคำสอนและความรู้ที่มีอยู่จำกัด

           การนั่งสมาธิในอาการสงบนิ่งวันนี้ จึง ไม่ต่างจากชีวิตที่รุกคืบไปสู่ความสุขตามคำสอนดั้งเดิม ๒ มือ ที่ประสานบนตักอย่างนุ่มนวล ดั่งความมั่นคงที่จะยึดมั่นพุทธศาสนาตลอดชีวิต

           ผ้านุ่งสีขาวที่พาดไหล่ด้วยสไบสีเดียวกัน พร้อมสัญลักษณ์มหาธรรมกายเจดีย์สีทองตรงหน้าอกด้านซ้าย คือ หัวใจสำคัญที่จะทำให้พุทธศาสนาปักหลักอยู่ได้เพราะมีวัฒนธรรมชาวพุทธที่ถูกต้อง

 


 

           แต่ละวันทั้งสาวน้อย สาวใหญ่ ไม่เว้นแม้แต่หนุ่มบึ้กอกสามศอก ยังอดใจไม่ไหว พากันมา ฟังธรรมและเรียนรู้วัฒนธรรมชาวพุทธที่ไม่มีใครเคยรู้ นั่นหมายถึง การได้มีโอกาสเรียนรู้การกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ ได้หัดนั่งแบบหญิงซ้ายชายขวาตามคำสอนของคุณยายอาจารย์ฯ ที่สำคัญคือ ได้ใส่บาตรเป็นครั้งแรกในชีวิตการเป็นชาวพุทธ ทุกคนค่อย ๆ รับรู้ว่า การกระทำในวันนี้ กำลังเกิดผลอันมหาศาลต่อชีวิต เพราะเท่ากับได้หลักสูตรการเป็นคนดีที่โรงเรียนยังไม่มีให้

           ในโลกที่คุณความดียังหลงเหลือ ทุกคนคงไปถึงจุดแห่งสันติภาพไม่ยากเกินไปนัก แค่ปฏิบัติตามคำสอนอันดีงาม เพียงแต่ทุกคนต้องพยายามไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งในหมู่ชาวพุทธคองโกทราบดีว่า ถ้าเป็นหญิงต้องบวชอุบาสิกาแก้ว ถ้าเป็นชายก็ต้องบวชพระ

 





 

           “ดีใจมากที่สุด ที่ได้เห็นท่านไปบวช เพราะท่านเหน็ดเหนื่อยกับการยืนหยัดปกป้องพระพุทธศาสนาในคองโกมานานกว่า ๔๕ ปีแล้ว อยากบอกท่านว่า ไม่ต้องเป็นห่วงพวกเราที่นี่ ขอให้ตั้งใจเรียนรู้หลักธรรม และฝึกฝนตนเองให้ดีที่สุด ทุกคนที่นี่รอได้ นานแค่ไหนก็รอได้ ไม่ต้องห่วง” อดีตภรรยาของพระโพธิราชา สัปปัญโญ กล่าวด้วยความปีติ หลังจากท่านโพธิราชาเดินทางมาบวชธรรมทายาทในเมืองไทยอยู่ขณะนี้ ผลพวงที่เกิดขึ้น เมื่อฝ่ายอุบาสกเห็นรูปท่านโพธิราชาออกบวช มีอาการสงบเสงี่ยม สง่างาม หน้าตาที่ผ่องใส ดูสว่างทั้ง ๆ ที่มีผิวสีคล้ำ ก็เกิดศรัทธาอยากออกบวชตามท่านอีกหลายคน เพื่อการเผยแผ่ธรรมะไปให้ครบทุกจังหวัดในคองโก

           นี่คือหน้าที่อันแตกต่าง สำหรับมนุษย์ ผู้บวชได้ต้องออกทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมะให้ กว้างไกล ขณะที่ฝ่ายหญิงก็จำเป็นต้องบวชอุบาสิกาแก้ว เรียนรู้หลักธรรมและวัฒนธรรม ชาวพุทธไว้คอยดูแลชุมชนของตนไม่ให้ออกห่างพระรัตนตรัย และอบรมลูกน้อยให้รักการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาตั้งแต่วัยเยาว์


           จากความเพียรพยายามในการศึกษาธรรมะตลอด ๑๓ วัน ทำให้คำสอนดั้งเดิมใน พุทธศาสนาหยั่งรากลึกสู่วิถีชาวพุทธคองโก ได้อย่างน่าอัศจรรย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรู้จัก ใช้สมาธิให้เป็นประโยชน์กับตัวเองมากที่สุด ตัวอย่างเช่น อุบาสิกาแก้วโจเซฟฟีน วัย ๑๘ ปี เธอไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่า ๒ อย่าง คือ ๑. นึกถึงองค์พระที่กลางท้อง และ ๒. ภาวนา “สัมมา อะระหัง” ให้กังวานออกมาจากกลางท้อง ผลที่ได้คือ โจเซฟฟีน “รู้สึก” ตลอดเวลาว่ามี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ในกลางกายของเธอ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อใจละเอียดขึ้น ความรู้สึก ดังกล่าวได้กลายเป็นของจริง คือ โจเซฟฟีน “เห็น” องค์ท่านอยู่ในกลางกายในขณะทำสมาธิ ตลอดเวลาเช่นกัน

           เช่นเดียวกับอุบาสิกาแก้วอึนดายา มายา เธอกำลังเรียนสายวิชาวรรณกรรม มีบุคลิกสงบ แต่ทว่ายิ้มแย้มเบิกบาน หลังจากภาวนา “สัมมา อะระหัง” ได้เพียงครู่เดียว มายาก็หยุดภาวนา ภาพของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในกลางท้องที่ชัด อยู่แล้วก็ยิ่งชัดยิ่งขึ้น หรือแม้แต่หนุ่มชาวคริสต์ ที่มีจิตอาสาขอทำหน้าที่เป็นล่ามให้พระอาจารย์ เขาคือ แซ็ดดี ชีเซ็ง มูโตมบะ เมื่อทำใจว่าง ๆ ในกลางความสงบ เขาก็สามารถเห็นพีระมิดในกลางตัวได้ทุกครั้ง และมีความสว่างอยู่ในกลางพีระมิดทุกครั้งเช่นกัน

 



 

“เพชรและทองคำที่คนทั้งโลกต่างแย่งชิง
วันนี้ไม่มีค่าสำคัญเท่ากับ
ความสุขจากสมาธิ ที่พวกเธอได้สัมผัส”

           สมาธิในคำสอนดั้งเดิมเป็นสุขสากลที่หากใครทำ ใครก็ได้ เพื่อมุ่งสู่ความรู้ภายในที่ยิ่งใหญ่ ขณะเดียวกันวิถีพุทธที่ถูกต้องจะคอยสร้าง สิ่งแวดล้อมที่ดี มีแต่กัลยาณมิตรคอยเปิดทางสวรรค์ นั่นคือเหตุผลที่พระอาจารย์จำเป็นต้องมาเพื่อให้ทุกคน “สุขให้เป็น” ด้วยหลักสำคัญเหล่านี้

ก่อนสิ้นสุดการอบรม

           ลึกเข้าไปในอาคารชั้นเดียวที่เป็นเสมือนโบสถ์ แสงจากหน้าต่างบานเล็ก เผยให้เห็นผนัง สีปูน และรูปพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ยังคงเด่นสง่าอยู่บนผนังด้านหลังสุด ถัดลงมาจากรูปนั้น เป็นภาพใส่กรอบที่เพิ่งตั้งขึ้น ภายในคือคุณครูไม่ใหญ่ผู้ให้กำเนิดการบวชอุบาสิกาแก้ว และชุบชีวิต พวกเธอให้กลายเป็นชาวพุทธที่แท้จริง หญิงสาวกับชุดสไบแก้วห่มกาย ยังคงพนมมือนิ่งเพื่อเก็บภาพประวัติศาสตร์ที่อยู่ในอาคารหลังนี้ไว้ใน ความทรงจำ แต่ละคนอาจมีภาพมากมาย ไม่เหมือนกัน แต่ทุกภาพย่อมทรงคุณค่าเหมือนกันและแน่นอนว่า จะได้กลับมาฉายซ้ำในใจเสมอ

           ประเทศคองโก...แม้พื้นที่นี้ไม่มีสันติ ไม่มีสุขสบาย แต่เพราะศรัทธาจากชาวพุทธกลุ่มหนึ่ง ที่ต้องการตามรอยพระพุทธเจ้า วันนี้ ทุกคนจึงเริ่มรับรู้แล้วว่า ยังคงมีพื้นที่มากมายให้แก่คำว่า สันติภาพ

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล