วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ วิธีป้องกันบริษัทล้มละลาย

ถาม : พระพุทธศาสนา มีวิธีป้องกันบริษัท ไม่ให้ล้มละลายไหมครับ?

ตอบ :
      โดยทั่วไป เวลาองค์กร หน่วยงานใดๆ ไม่ว่าจะเป็นทางธุรกิจทั้งภาครัฐ เอกชน จะประสบความสำเร็จในด้านการบริหาร ก็เพราะอาศัยคนที่มีฝีมือดี มีคุณธรรมดีเข้ามาทำงาน และบริหารงาน ในขณะเดียวกัน เมื่อองค์กรใดจะล่มสลาย ล้มละลายลงไป ก็เพราะมีคนพาลเข้ามาทำงาน มาบริหารเช่นกัน 


     ความยากก็คือ ในครั้งแรกที่เรารับคนเข้ามาทำงาน ก็ดูท่ามีฝีมือดี มีท่าทางแข็งขันดี แต่พอทำไปสักระยะ ทำไมยังไม่สามารถเกิดผลตอบแทนที่คุ้มค่าต่อการลงทุนเท่าที่ควรจะเป็น 


     เมื่อทดลองพยายามเพิ่มเทคโนโลยีลงไปในหน่วยงานก็แล้ว ลดต้นทุน ทุ่มโฆษณาก็แล้ว สร้างความต้องการเทียม ความต้องการแท้ขึ้นมาก็แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถประสบความสำเร็จได้เท่าที่ควรจะเป็น 


     ครั้นพอประชุมปรึกษาหารือทีไร ความเก่งกล้าสามารถของทีมงานก็ยังเฉียบคมเช่นเดิม ดูความพร้อมแล้วก็น่าจะขยายงานไปได้เร็วด้วย แต่ก็ไม่เป็นไปอย่างที่คิด และผลที่ออกมาคือ ขาดทุนตลอด
เราก็มานั่งสงสัย กลุ้มอกกลุ้มใจว่า บุญไม่ช่วย พระไม่ช่วย เทวดาไม่ช่วย ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป บริษัทต้องล้มละลายแน่ๆ แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะสาเหตุอะไร เพราะดูรวมๆ ทีไร ก็ไม่พบข้อบกพร่องสักที ถ้าหากเกิดกรณีอย่างนี้ขึ้นในบริษัทของคุณ คุณจะทำอย่างไร 


     ถ้าพูดไปแล้ว ก็แทบไม่น่าเชื่อว่า สิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบอกสาเหตุของความล้มละลายเอาไว้แล้ว แต่เพราะหลายๆ คนมองข้ามไปนี่แหละ ถึงได้มองไม่ออกว่า ในบริษัท องค์กร หน่วยงานของตัวเอง มีรูรั่ว รูโหว่ด้านจิตสำนึกต่อส่วนรวมรูเบ้อเร่อ จึงทำให้มีโอกาสล้มละลายโดยไม่ทันตั้งตัว และเพราะว่ารูโหว่นี้มันซ่อนอยู่ในจิตใจของคนนี้เอง จึงยากจะดูออกกัน แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดูออก แล้วพระองค์ก็ตรัสถึงเหตุที่ทำให้ตระกูลล่มสลายและเหตุที่ทำให้ตระกูลตั้งอยู่ได้นาน 


เหตุที่ทำให้ตระกูลล่มสลายก็คือ 
     ๑. ของหายแล้วไม่หา
     ๒. ของเสียไม่ซ่อม
     ๓. ใช้ของไม่รู้จักประมาณ 
     ๔. ตั้งคนพาลเป็นหัวหน้า 
เหตุที่ทำให้ตระกูลตั้งอยู่ได้นานก็คือ 
     ๑. ของหายให้หา 
     ๒. ของเสียให้ซ่อม 
     ๓. ใช้ของให้รู้จักประมาณว่าอะไรคือ ความคุ้มค่า 
     ๔. ตั้งคนดีมีคุณธรรมเป็นหัวหน้างาน 


ทำไมของหายไม่หาจึงทำให้องค์กร หรือหน่วยงานล่มสลาย? 
     ข้าวของทุกชิ้นที่ใช้ในองค์กรหน่วยงาน ล้วนต้องใช้งบประมาณลงทุนซื้อมา เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานแก่สมาชิกของตนเอง ถ้าหากมีการสูญหาย แล้วไม่ยอมหา ปัญหาที่ตามมาก็คือ ไม่มีใช้ เมื่อไม่มีใช้ ก็ไปเอาของคนอื่นมาใช้ เมื่อไปเอาของคนอื่นมาใช้ แรกๆ เจ้าของเขาก็ให้ยืมไปใช้เป็นครั้งเป็นคราวได้ แต่พอขอยืมบ่อยๆ เจ้าของก็จะไม่มีใช้ เขาก็ต้องขอคืน แต่ถ้าให้คืน ตัวเองก็จะไม่มีใช้ คราวนี้ไม่ยอมคืนเจ้าของง่ายเสียแล้ว 


     ปัญหาลำดับแรก คือการกระทบกระทั่งในหน่วยงาน ก็เกิดขึ้น 
     ปัญหาที่สอง คือ ปัญหาเพิ่มต้นทุนโดยไม่จำเป็น 
เมื่อขอยืมเขาไม่ได้ ก็ของบประมาณไปจัดซื้อของใหม่ ก็เป็นการเพิ่มต้นทุนในการบริหารขึ้นมาอีก 
     ปัญหาที่สาม คือ ปัญหาการลักขโมย เมื่อของหายแล้วไม่หา รอจะจัดซื้อใหม่ แต่ถ้าไม่มีงบประมาณมาซื้อใหม่ คราวนี้ยุ่งแล้ว ขโมยจะเกิดขึ้นในหน่วยงาน คือตัวเองก็ไม่มีของ แต่จะต้องทำงาน เพราะยังต้องกินต้องใช้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เกิดการลักขโมยในหน่วยงาน ขึ้นมา ความหวาดระแวงต่อกันก็จะยิ่งสูงขึ้น หน่วยงานก็ยากจะสร้างความสามัคคีต่อกันขึ้นมาได้ 
     ปัญหาที่สี่ คือ คุณธรรมของตัวเองหายก็ไม่รู้ตัว เพราะว่าของหาย ก็ไม่ใส่ใจที่จะหา คราวนี้ตัวเองมีนิสัยดีๆ อะไรบ้างที่หายไป ก็เลยไม่รู้ มองไม่ออกเสียแล้ว โดยเฉพาะสำนึกในการรับผิดชอบต่อหน่วยงานที่มันหายไปแล้ว เมื่อคุณธรรมหาย ความเลวจะเข้ามาแทนที่ คราวนี้ก็จะได้พนักงานประเภทเขี้ยวชักงอก หางชักยาวเป็นกิโลเมตร เข้ามาอยู่ร่วมในหน่วยงาน 
     ปัญหาที่ห้า คือ นิสัยเสียๆ มีเท่าไรก็ไม่ซ่อม เพราะมักง่ายไปเสียแล้ว และเพราะเมื่อของหาย ก็คิดแก้ปัญหาตื้นๆ ด้วยการมักง่ายไปเอาของคนอื่นมาใช้อยู่เรื่อยไป จนเกิดการกระทบกระทั่งไปทั่วแล้ว ผลที่ตามมา ก็คือ มักจะมีคนไม่ชอบขี้หน้ารอบด้าน แต่แทนที่จะมองออกว่า ตัวเองทำไม่ถูกและกลับไปแก้ไขตัวเอง ความมักง่ายจนเคยจึงสอนตัวเองว่า ทั้งองค์กรนี้ บริษัทนี้ มีแต่คนใจแคบ เห็นแก่ตัว ยืมของใช้นิดๆ หน่อยๆ ทำเป็นหวง ซึ่งนั่นก็เป็นอาการของคนที่คุณธรรมในตัวได้เสื่อมลงไปแล้ว เพราะเวลาของหายไม่รีบหา แล้วแก้ปัญหามักง่ายด้วยการเอาของคนอื่นๆ มาใช้นั่นเอง 
     เพียงแค่มีคนลักษณะนี้อยู่ในองค์กร ไม่ต้องมากเพียงแค่คนเดียว ถึงแม้ว่า เขาจะเก่งแสนเก่งขนาดไหน แต่ว่าเขาจะเป็นตัวกระตุ้นให้บริษัท องค์กร หน่วยงานพังโดยเร็วไว 

ทำไมของเสียไม่ซ่อม จึงทำให้หน่วยงาน องค์กร บริษัทล่มสลาย? 


     ที่เป็นเช่นนี้ เพราะสมาชิกเกิดการเกี่ยงกันรับผิดชอบต่อส่วนรวม
     องค์กรหน่วยงาน ที่มีบุคลากรปล่อยปละละเลยเช่นนี้ จะทำให้มีขยะเต็มไปหมด เพราะถ้าของเสียแล้วไม่ซ่อม ของนั้นก็เอามาใช้ไม่ได้ เมื่อของนั้นใช้ไม่ได้ ก็ไม่แตกต่างจากขยะ ถ้ามีหลายๆ ชิ้น ก็คือ กองขยะดีๆ นี่เอง แต่นี่เป็นภายนอกที่เราเห็น ส่วนภายในใจก็คือ หน่วยงานนั้น จะมีปัญหาการเอารัดเอาเปรียบกันสูง มีแต่คนเห็นแก่ตัวมาก ระบบงานจะเฉื่อยชา เพราะมีแต่คนรักสบาย เห็นแก่ตัว และแน่นอน ถ้าของเสียแล้วไม่ซ่อม มีของใช้ก็เหมือนไม่มีใช้ ก็ไม่แตกต่างจากของหาย ปัญหาอะไรที่เกิดเพราะของหายไม่หา ซึ่งมีอย่างน้อย ๕ ปัญหา ก็จะเกิดขึ้นตามมาเช่นกันบวกกับปัญหา ความเห็นแก่ตัว รักสบาย จ้องเอารัดเอาเปรียบกันเข้าไปอีก ๓ ปัญหา กลายเป็น ๘ ปัญหา เพียงเท่านี้ ก็มากพอจะทำให้หน่วยงาน องค์กร บริษัทล่มสลายได้เช่นกัน 

ทำไมใช้ของไม่รู้จักประมาณจึงทำให้หน่วยงาน องค์กร บริษัทล่มสลาย?
     องค์กร หน่วยงาน บริษัท ห้างร้าน ล้วนอยู่ได้ด้วยผลกำไร และระดับเงินทุน หมุนเวียนเข้าออกที่คงที่ คือใช้ต้นทุนเท่าเดิม แต่ได้ผลกำไรมากขึ้น ดังนั้น การควบคุมต้นทุนการผลิตให้คงตัวจึงสำคัญ
     กระดาษหนึ่งแผ่น ดินสอหนึ่งแท่ง ไฟหนึ่งดวง ที่ใช้ในการทำงาน ล้วนถือว่าเป็นต้นทุนทั้งสิ้น ต้นทุน ก็คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรานำมาใช้ทำงานให้ได้คุณภาพตามมาตรฐาน ให้ทันใช้ ทันขายตามเวลาที่กำหนด และแน่นอน จะมีกำไรได้ต่อเมื่อ 


     ๑. การบริหารงานองค์กร หน่วยงาน บริษัทนั้น มีผลกำไรเข้าสู่ภาวะจุดคุ้มทุนไปแล้ว 
     ๒. ถอนทุนขึ้นมาได้ และเริ่มนำผลกำไรมาลงทุน 
     ๓. รักษาสมดุลของเงินทุนหมุนเวียน ในระบบได้คงที่ ซึ่งนับวันงานก็จะยิ่งขยายขึ้น 


     แน่นอน กว่าจะมาถึงตรงนี้ได้ ย่อมไม่ง่าย เพราะทีมงานต้องรู้ว่า ต้องช่วยกันทำกำไรเท่าไร จึงจะคุ้มทุน ไม่ขาดทุน ทำกำไรเท่าไรถึงจะได้กำไรถึงขั้นถอนทุนขึ้นมาได้ ทำกำไรเท่าไรจึงจะใช้กำไรหมุนเวียนเป็นเงินลงทุน สิ่งเหล่านี้ ต้องอาศัยความรู้ความสามารถ และคุณธรรมอย่างสูงโดยเฉพาะ การมีสัจจะในการค้า ในการบริหารต้องสูงมาก 


     แต่ถ้าเมื่อไร ในหน่วยงานไหนขาดการประมาณในการใช้ต้นทุน นั่นก็หมายความว่า บริหารงานไปแล้ว ก็ไม่มีใครสนใจว่า จะขาดทุนหรือกำไรเมื่อไร ไม่มีใครสนใจว่า จะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ นึกจะซื้อ จะใช้อะไร ก็ทำตามใจ ไม่คำนึงถึงความคุ้มได้คุ้มเสีย ไม่คำนึงว่า ความพอดีคือแค่ไหน ถึงจะไม่ขาดทุน ใช้แค่ไหนถึงจะกำไร ถ้ามีคนแบบนี้มาอยู่ด้วย ไม่ต้องมากแค่สักคนเดียว เชื้อล้างผลาญก็จะระบาดไปได้ในระยะเวลาอันสั้น 


     นอกจากนี้ ถ้ารู้ได้ไม่รู้เสีย ก็หมายความ ว่า ขาดความรอบคอบอย่างหนัก เพราะมองโลกเพียงด้านดี ด้านเดียว ด้านเสียไม่มอง แต่ถ้ารู้เสียไม่รู้ได้ ก็ยากจะทำอะไรได้สำเร็จ เพราะจะกลัวความผิดพลาดล้มเหลวไปหมด คนประเภทนี้ ถ้ามีทองก็จะเอาทองไปฝังดิน ไม่เอามาใช้ ทองที่ฝังดินก็ไม่ต่างอะไรจากก้อนหินที่ฝังดิน เพราะทองที่อยู่ในดิน จะไปมีประโยชน์อะไร เอาก้อนหินไปฝังไว้ก็มีค่าเท่ากัน เพราะฉะนั้นที่ดีที่สุดก็คือ ต้องรู้ได้รู้เสีย คนที่รู้ได้รู้เสีย คือ คนที่รู้จักประมาณในการใช้ หน่วยงานไหนมีคนแบบนี้มากๆ หน่วยงานนั้น จะก้าวหน้า ไปได้ไกล 

ทำไมตั้งคนพาลเป็นหัวหน้าจึงทำให้หน่วยงาน องค์กร บริษัทล่มสลาย?
     ลักษณะของคนพาลในที่นี้ คือ คนที่ของหายไม่หา ของเสียไม่ซ่อม ใช้ของไม่รู้จักประมาณ เพราะนี่เป็นลักษณะของคนขาดสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม ถ้าดูไม่ออก ไปเลือกมาเป็นหัวหน้า เขาก็จะเลือกคนประเภทเดียวกัน คือ คนพาลเหมือนกันมาร่วมงาน คราวนี้ก็จะได้แก๊งล้างผลาญองค์กร บริษัท หน่วยงาน มาช่วยกระตุ้น เร่งรัดให้หน่วยงาน องค์กร บริษัทวอดวายเร็วขึ้นเท่านั้น 


     คนประเภทนี้ ไม่ได้โง่ การดูออกไม่ใช่ของง่าย เพราะหมกเม็ดอะไรไว้เยอะแยะมากมาย ชนิดที่ถ้าไม่ดูให้ดี จะจับพิรุธไม่ออก เพราะฉะนั้น ก่อนจะตั้งใครเป็นหัวหน้าต้องเช็คประวัติเขาให้ดีก่อนว่า เวลาของหาย เขาหาหรือไม่ ของเสีย เขาซ่อมหรือไม่ เวลาใช้ของ เขารู้จักประมาณหรือไม่ ถ้าเพียงเท่านี้ เขายังไม่ใส่ใจ ก็ยากจะไว้ใจในการให้มารับผิดชอบงานใหญ่ เพราะเขาอาจสร้างรูรั่วทางงบประมาณ ชนิดที่ทำให้ล้มละลายในพริบตาได้ทีเดียว 


     ถ้าต้องเลือกระหว่าง ทำงานหนักต่อไป กับมอบงานให้คนพาลดูแลรักษา ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นลูกหลานที่รักขนาดไหนก็ตาม สู้ยอมอดทนเหนื่อยต่อไปดีกว่า และสร้างคนหรือทีมงานที่มีอยู่ให้เป็นคนที่มีสำนึกรับผิดชอบต่อองค์กรให้มากที่สุดด้วยหลักการที่ว่า ของหายให้หา ของเสียให้ซ่อม ใช้ของให้รู้จักประมาณ และสร้างคนให้มีความรับผิดชอบได้ 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล