วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ตำรับยอดเลขา จากคัมภีร์ “จรรยาบ่าว” วิธีฝึกผู้นำในยุค ร.ศ. ๑๓๑

ตำรับยอดเลขา
เรื่อง : พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

 

 

ตำรับยอดเลขา

จากคัมภีร์ “จรรยาบ่าว” 

วิธีฝึกผู้นำในยุค ร.ศ. ๑๓๑

 


ตอนที่ ๗

จรรยาข้อที่ ๑๓-๑๔

 

    “ตำรับยอดเลขา” นำมาจากหนังสือ “จรรยาบ่าว” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ ๗๕ ปีที่แล้ว โดยไม่ได้ระบุชื่อ    ผู้เขียน เมื่อหลวงพ่อทัตตชีโวอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ท่านอยากให้ญาติโยมรู้เรื่องราวดี ๆ จึงเมตตานำมาเทศน์ให้ฟังเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ต่อมาพิมพ์รวมเล่มและตั้งชื่อใหม่ว่า “ตำรับยอดเลขา”       โดยลำดับเนื้อความตามต้นฉบับเดิม และคัดลอกของเก่าไว้ให้ดูด้วย เพื่อรักษาศัพท์บางคำไว้ และเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เขียน

 

๑๓
จงเป็นผู้รู้จักประหยัดการใช้จ่าย


สมบัติทุกชิ้นของคนเรานั้น
เกิดขึ้นมาด้วยอำนาจของบุญ
ถ้าเราใช้สุรุ่ยสุร่ายไม่รู้คุณค่า
ก็เท่ากับเอาบุญมาทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ
ล้างผลาญบุญอย่างเปล่าประโยชน์
พอหมดบุญ ชีวิตก็ถึงแก่กาลวินาศสันตะโร

 

 

๑๓. จงเป็นผู้รู้จักประหยัดการใช้จ่าย

 

    การจับจ่ายใช้สอยของท่าน ซึ่งเป็นการประจำก็ดี ฤๅเป็นการจรชั่วคราวก็ดี เราต้องช่วยตรวจตราการได้การเสียด้วย ไม่ควรเสียก็อย่าให้เสีย ถ้าไม่ใช่หน้าที่เรากระทำก็ให้ร่ำเรียนให้ท่าน ทราบตามความจริง อย่าส่งเสริมเติมต่อให้มากมายออกไปจากเหตุการณ์อันจำเป็น จึงจะนับว่าเรามีความกตัญญูต่อนาย


    และส่วนตัวเราก็เหมือนกัน จงมีความมัธยัตจับจ่ายใช้สรอยแต่พอควร อย่าชุ่ยใช้ให้เกินการจากผลประโยชน์ที่เราพึงได้ กล่าวคือ ได้อยู่เดือนละ ๒๐ ฤๅ ๓๐ บาท จะไปซื้อหมวกสานปานามาใบเดียวหมด ฤๅร่มสปริงเสียคันเดียวสิ้น ฤๅอีกนัยหนึ่งนุ่งม่วงเสมอ ฤๅผ้าพื้นก็ดีต้องมีสีครบถูกวันอาทิตย์, จันทร์, อังคาร, พุธ, พฤหัสบดี, ศุกร์, เสาร์ เช่นท่านที่ทรัพย์บริบูรณ์ก็เต็มที เพราะสีต่าง ๆ มันตกง่าย เสียง่ายและก็เปลือง ไม่เหมือนสีน้ำเงินอ่อนแก่และสีม่วงแก่ ใช้ทนและสุภาพเรียบร้อย เข้าไหนเข้าได้ดีด้วย ฟุ้งเฟ้อเกินนัก ก็หมดเปลืองมาก จะเอาที่ไหนใช้จ่ายการจำเป็นอย่างอื่นอีกได้เล่า ควรจะสงวนใช้แต่พอควรกันกับผลที่ตนหาได้ ฤๅประหยัดยั้งไว้บ้าง
ดังคำโบราณว่า “หาเมื่อดี ไว้กินเมื่อไข้” ด้วยไม่จำเป็นจะต้องแข่งขันกับท่านที่บริบูรณ์ ผ่อนผันใช้จ่ายแต่การที่ควร เพียงแต่ไม่ปฏิกูลเหลือเกินเท่านั้น ก็ไม่มีท่านผู้ใดจะติฉินได้ เท่านั้นก็เห็นว่าพอแล้ว


    ถ้าเราขืนฟุ้งเฟ้อเป้อเย้อกะฐินบกเกินไปจะไม่ดี ควรสงบเสงี่ยมตน เช่นเขาว่า “หวีหัวแต่พอเกล้า กินเหล้าแต่พอเมา” ถ้าหาไม่จะเกิดความเดือดร้อน และชักนำให้เราประพฤติชั่วได้ด้วยความประมาท เพราะธรรมดาคนเมื่อทำชั่วหลวมตัวเข้าไปมาก เหลือที่จะแก้ไขด้วยทางตรง ๆ ที่สุจริตแล้ว มันก็ต้องเลยแก้ไปด้วยทางคดที่ทุจริต เสียผู้เสียคนไปด้วยความจำใจแลจวนตัวเข้า


    อีกอย่างหนึ่ง อย่าให้เป็นเช่นแม่ค้าขายผัก ฤๅของต่าง ๆ คอนเรือกระเดก ๆ ขายของยังค่ำ และตื่นไปซื้อของและทำของขายฤๅเที่ยวเร่ขาย เหน็ดเหนื่อยไม่ใช่น้อย พอค่ำลงก็ไปดู  ยี่เกฤๅลคร และประพฤติเล่นการพนันต่าง ๆ กลับมาก็เตรียมทำของ ฤๅแต่มืดก็ต้องไปซื้อของขายของอีก เวียนกระทำเช่นนี้เสมอ ได้กำไรมาก็พอหมดไปกับยี่เกลคร และการเล่นต่าง ๆ เช่นนี้ เป็นที่น่าอนาถใจเต็มที เปลืองแรงเปลืองอายุไม่น้อย ยังจะซ้ำเสียอะไรต่ออะไรอีก ในประเภทเช่นนี้  ไม่น่าประพฤติเลย ออกสนุกสนานบ้าง ก็เพียงแค่ชั่วครั้งชั่วคราวเถิด


    พูดง่าย ๆ ไปอยู่บ้านใคร ไปทำงานที่ไหน ให้ช่วยกันประหยัดด้วย ไม่ควรจ่ายก็อย่าไปจ่าย ขอให้ทราบไว้ด้วยว่า สมบัติทุกชิ้นของคนเรานั้นเกิดขึ้นมาได้ด้วยอำนาจของบุญ เมื่อบุญหมดสมบัติก็หาย ถ้าเราใช้อย่างสุรุ่ยสุร่ายไม่รู้คุณค่าก็เท่ากับดูถูกบุญ เอาบุญมาทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ พอหมดบุญก็ถึงแก่วินาศสันตะโรพอดี ยกตัวอย่าง ในวัดพระธรรมกายนี้ เสื่อที่มีไว้ใช้สอยมี ๓ ชนิด ตั้งแต่คุณภาพดี ปานกลาง และค่อนข้างเลว เหตุที่หลวงพ่อไม่ซื้อเฉพาะคุณภาพดี หรือเฉพาะคุณภาพปานกลาง หรืออย่างเลว อย่างใดอย่างหนึ่งไว้ใช้ทั้งหมด ก็เพราะเลือกไว้ใช้ตามความจำเป็น       อย่างนี้


    บนศาลาที่ไม่โดนแดดโดนฝน อย่างที่ศาลาจาตุมหาราชิกานี้ เอาเสื่อสีแดง ๆ มาใช้ได้ พวกนี้คุณภาพดี ประณีต แล้วราคาก็แพงมากด้วย แต่ก็คุ้มเพราะใช้ทนดี แต่ถึงจะทนทานอย่างไร         ถ้าเอาลงไปปูที่พื้นข้างล่างซึ่งดินมันชื้น มันฉ่ำแล้ว ไม่ทันไรเดี๋ยวก็ขึ้นราเสียหายหมด เพราะฉะนั้น  เสื่อแดงนี้ห้ามเอาไปปูตามสนามหญ้าเด็ดขาด 


    บนศาลาอื่นที่อาจโดนแดดโดนฝนบ้าง ก็ให้เอาเสื่อที่มีคุณภาพปานกลางไปปูไว้ พอใช้การได้ ถึงเสียหายบ้างก็ไม่เป็นไร 


    ส่วนกลางสนามหรือบนพื้นดินที่เสี่ยงต่อความฉ่ำแฉะนั้น ให้เอาเสื่อคุณภาพเลวไปใช้ ถ้าเกิดเสียหายขึ้นก็ไม่ต้องไปเสียดาย เพราะราคาไม่กี่สตางค์ เป็นเสื่อสั้น


    พวกเรามาวัดรู้อย่างนี้แล้ว ช่วยหลวงพ่อด้วย ใช้เสื่อให้ถูกประเภท แล้วก็ช่วยกันเก็บ ช่วยกันรักษา เราจะได้มีของดี ๆ เอาไว้ใช้กัน ยิ่งเราใช้ถนอมให้อายุยืนยาวไปได้เท่าไร เจ้าภาพที่เขาบริจาคเงินซื้อเสื่อมา ก็จะได้บุญมากขึ้นตามส่วน เราเองก็ได้ชื่อว่าถนอมสมบัติพระศาสนา อย่างนี้แม้เกิดกี่ชาติ ๆ กุศลนี้ก็จะตามคุ้มครองเรา มีสมบัติอะไร ก็จะมีคนคอยช่วยดูแลให้


    นอกจากช่วยกันประหยัดแล้ว ท่านยังเขียนต่อว่า ให้มีความมัธยัสถ์ อย่าชุ่ย คำว่า “ชุ่ย” นี้ใช้มาแต่โบราณแล้ว “อย่าชุ่ยใช้ให้เกินการจากผลประโยชน์ที่เราพึงได้” คือวิ่งตามแฟชั่นโดยไม่ดูกำลังของตน 


    เมื่อรุ่นปู่ ย่า ตา ทวดของเรานั้น คนที่เขามีฐานะดี ๆ เขานุ่งห่มด้วยสีตามวัน วันอาทิตย์   สีแดง วันจันทร์สีเหลือง วันอังคารสีชมพู... เขามีแฟชั่นกันไม่เบาเหมือนกัน แต่เขาจะบ้าแฟชั่น     ก็เป็นเรื่องของเขา เพราะอยู่ในวิสัยที่จะทำได้ เรายังเป็นผู้น้อยอยู่ อย่าเที่ยวไปบ้าแฟชั่นตามเขา เพราะตัวเราจะเดือดร้อน


    หลวงพ่อเองเมื่อก่อนบวชมีหลักในการใช้เสื้อผ้าว่า ต้องเป็นสีที่เก่าช้า และใช้ได้หลายหน   เมื่อสมัยเป็นนิสิตเคยใช้เสื้อขาวไปได้ทุกที่ไม่ขัดตา เมื่อจบการศึกษาแล้วจะใช้เสื้อสีขาวทุกวันก็ดูกระไรอยู่ จะใช้เสื้อสีบางทีก็เก่าง่ายทั้งสิ้นเปลือง และเนื่องจากทำงานอยู่ในวงธุรกิจจึงเลือกใช้สีขาวอมเทาหรือขาวอมฟ้า เสื้อผ้าประเภทนี้มองดูเก่าช้าและใช้ได้หลายงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กางเกงนั้นหลวงพ่อเลือกสีเข้ม ๆ อาจมีสีน้ำเงินแกมสักหน่อยหนึ่ง นอกจากว่าจะใช้ได้ทุกงานไม่ว่าจะเป็น งานศพ งานแต่งงานแล้ว ยังเก่ายาก ใช้ได้นานอีกด้วย และที่สำคัญก็คือ พร้อมเสมอไม่ว่าจะไปธุระที่ไหน พอรู้ข่าวว่ามีงานอะไร จำเป็นต้องไป ก็ไปได้ทันที โดยไม่ต้องย้อนกลับไปเปลี่ยน      เครื่องแต่งตัวให้เสียเวลา


    การไม่เป็นทาสแฟชั่นก็ดี นอกจากจะประหยัดแล้ว ยังทำให้คล่องตัวไม่เป็นภาระอีกด้วย


    แต่ภาษิตของท่าน “หวีหัวแต่พอเกล้า กินเหล้าแต่พอเมา” อย่างนี้ไม่เอานะ ชักนำให้เราประพฤติชั่ว ถ้า “หวีหัวแต่พอเกล้า กินข้าวแต่พออิ่ม” หรือ “หวีผมแต่พอเกล้า หวีเผ้าแต่พองาม” อย่างนี้ค่อยคุยกันได้ แล้วที่ท่านเตือนเรื่องการเที่ยวเตร่เล่นการพนัน นั่นก็เข้าท่าดีเหมือนกัน สิ่งเหล่านี้เป็นอบายมุข มีแต่ดึงชีวิตให้ตกต่ำ

 


๑๔
จงเป็นผู้มีความไหวพริบในการไปธุระของนาย

 

ฟังคำสั่งให้ชัดเจน ทำตามคำสั่งให้ถูกต้อง
ลำดับความสำคัญให้เป็นระบบ รายงานผลให้ตรงเวลา 
มีศิลปะในการแจ้งเตือน ระมัดระวังไม่ให้ใครเสียหน้า 
ปฏิบัติงานด้วยวาจาสุภาพ รู้จักกาลเทศะ มีมารยาทเรียบร้อย
นี่คือ ลักษณะของคนมีไหวพริบ

 

 

๑๔. จงเป็นผู้มีความไหวพริบในการไปธุระของนาย

 

    นายท่านใช้เราไปในธุระ ฤๅราชการอันใด ๆ ก็ดี ต้องเรียนถามความเข้าใจเสียให้ถ่องแท้ 
ที่ไม่เข้าใจดีต้องเรียนถามให้เข้าใจแน่ อย่าทำอวดฉลาด เป็นอันว่าเข้าใจไปหมดไม่ต้องสอบสวนทวนคำ ให้แคล้วความเข้าใจผิดความประสงค์ไปได้จะเสียการ และจดจำคำสั่งไปให้ถี่ถ้วน และท่านบัญชาสั่งอย่างไร แม้จะคลาดเคลื่อนผิดไป ถ้าเรารู้ที่ถูก เราควรเรียนคัดค้านเสียด้วย อย่าถือว่าใต้เท้ากรุณาบัญชาไม่ผิด อย่างนั้นไม่ชอบ


    ธรรมดามนุษย์ปุถุชนจะรู้ดีไปหมด ไม่พลั้งเผลอบ้างนั้นไม่มี ถ้าคัดค้านเช่นนี้ อย่ากล่าวต่อหน้าแขก ฤๅในที่ประชุมชน จึงจะเป็นกิริยาอันดี ถ้าเฉภาะจำเป็นต่อหน้าบุคคล ต้องใช้วาจากระซิบกระซาบสักหน่อย ท่านผู้เป็นนายท่านก็เป็นผู้ดี ท่านคงไม่มีทิษฐิในสิ่งที่เราคัดค้านทางที่ผิดให้เป็นถูกนั้นเลย ท่านคงยินดีและถือเอาที่ถูกตามเราคัดค้านและทักท้วงนั้นเป็นแน่ และการที่จะไปนั้นต้องรู้ว่าการนั้นด่วนหรือไม่ด่วนนั้นด้วย กับสงวนความลับของท่านอย่าแพร่งพรายอันควรที่ปกปิด แล้วตรงไปตรงมาอย่าแชเชือน


    เมื่อได้ความได้การมาอย่างไร ต้องรีบนำความร่ำเรียนโดยเร็ว อย่าเพิกเฉยเลยละไว้ ให้ท่านต้องเรียกต้องถามก่อนจึงจะเรียนเป็นอันไม่ควร แม้ถ้าเป็นการด่วนสำคัญ ถ้าหากว่าท่านอยู่ใน    ที่ ๆ เราเข้าไม่ถึง เราต้องขวนขวายหาช่องโอกาสอันใดอันหนึ่ง ซึ่งจดหมายย่อ ๆ พอท่านรู้ความฤๅสั่งกับผู้ใดที่สมควรเข้าไปเรียน แต่เพียงให้รู้ว่าเราไปกลับมาแล้วก็ได้ และที่ท่านใช้เราไปหาท่านผู้ใดด้วยธุระอันใดก็ดี เราไปถึงแล้วต้องใช้กิริยาวาจาโดยเรียบร้อยอันสุภาพ อย่าหยาบคายก้าวร้าว ด้วยผลของการแห่งสำเร็จนั้น ย่อมจะสำเร็จกับท่านผู้ดีด้วยความสุภาพ ไม่ใช่สำเร็จด้วยความขู่เข็ญและกรรโชก เมื่อเราไปได้การงานของนายสำเร็จมาโดยดีแล้ว เราก็มีความชอบต่อนาย และได้ความชมเชยต่อท่านข้างโน้นอีกว่า บ่าวเขาดีมีอัธยาศรัยและกิริยาเรียบร้อย ดีทั้งสองฝ่าย นายก็ได้หน้าได้ตาด้วย


    เรื่องทำความเข้าใจให้ตรงกันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก หลวงพ่อเจอปัญหานี้บ่อย ๆ คือใช้ให้ไปทำงานอย่างหนึ่ง เด็กไปทำอีกอย่างหนึ่ง บอกให้ไปทำอย่างนี้ ๆ ถามด้วยเข้าใจไหม เข้าใจ      ตกเย็นมาดูงานกลายเป็นไปทำอีกอย่างหนึ่ง ต้องเรียกมาเอ็ดมาว่ากัน


    ความจริงโบราณท่านมีวิธีแก้ในเรื่องนี้คือ ถ้าหากผิดพลาดเข้าใจไม่ถูกบ่อย ๆ เข้า เมื่อสั่งงานเสร็จ ท่านจะย้อนถามไปว่า ที่สั่งไปเข้าใจว่าอย่างไร ให้ทวนคำสั่ง ถ้าบอกไม่ถูกก็โดนเขกหัวตรงนั้นเลย แต่การทำอย่างนี้ทำได้กับเด็ก ๆ เท่านั้น กับผู้ใหญ่ด้วยกันทำไม่ได้เดี๋ยวจะเคืองกัน


    เพราะฉะนั้น เวลารับคำสั่งอะไรก็ให้สอบสวนทวนความกันให้ดี ให้มั่นใจเสียก่อน สมัย     หลวงพ่อเป็นเด็กก็เคยพลาดมาแล้ว ทำให้ระมัดระวังเรื่องนี้มาก เมื่อตอนเรียนอยู่ชั้นประถม ตอนเช้า คุณครูวานให้ไปสั่งกาแฟมาให้ เราเองเป็นเด็กก็ไม่รู้จักสังเกตเรื่องเวล่ำเวลา พอไปถึงร้านก็บอกว่า เอากาแฟมาแก้วหนึ่ง เขาบอกว่าน่าจะสั่งอะไรเย็น ๆ ก็บอกเอากาแฟเย็นก็แล้วกัน พอครูเห็นเข้าก็ส่ายหน้า เพราะยังเช้าอยู่ อากาศเย็น แต่ท่านก็ต้องทนดื่มไป เพราะซื้อมาให้แล้ว


    ความที่เป็นเด็ก ทำอะไรผิดพลาดเรื่อย ๆ เพราะไม่เข้าใจ และสังเกตอะไรไม่เป็น อีกคราวหนึ่ง ตอนเที่ยง ๆ คุณครูคนเดิมใช้ให้ไปซื้อกาแฟอีก เราก็ไม่ได้สนใจไต่ถามก่อน รีบวิ่งไปที่       ร้านกาแฟ คิดว่าเมื่อคราวที่แล้วเอากาแฟเย็นไปให้ดูท่าท่านไม่ถูกใจ คราวนี้เลยสั่งกาแฟร้อน        พอเอาไปให้ ท่านถอนใจเฮือกเลย บ่นว่าร้อนจะตาย เอากาแฟร้อนมาให้ ผิดอีกแล้ว


    ความผิดพลาดแบบนี้ เดี๋ยวนี้หลวงพ่อก็เจอเข้ากับตัวเองบ่อย พอฉันเช้าเสร็จออกจากหอฉันไปดูแลรอบ ๆ วัด กลับมาถึงที่ทำงาน ถ้าเป็นเด็กคนเก่าเขาก็เอาผ้าร้อนมาให้ เพราะเห็นว่ายังเช้าอยู่ แต่ถ้าเป็นเด็กคนใหม่ เขาก็หวังดีนะ เห็นเดินตระเวนมารอบวัดคงจะร้อน ก็เอาผ้าเย็นเจี๊ยบมาให้ ทำอย่างไรได้ในเมื่อเขาเอามาให้แล้ว ก็ต้องใช้ แต่พอเช็ดเข้าเท่านั้น จามฟิด ๆ เลย หวัดเล่นงานเข้าให้แล้ว ก็ได้แต่นึกว่า เราทำไว้อย่างไร ก็มาได้กับเราอย่างนั้น


    เพราะฉะนั้น ก็ขอฝากเอาไว้ว่า แค่กาแฟยังมีร้อน มีเย็น ผ้าก็ยังมีร้อน มีเย็น ถ้าเรารับคำสั่งอะไรมาละก็ ช่วยสังเกตสังกา และถามให้แน่ ๆ เสียก่อน อย่าอวดฉลาดว่าเข้าใจไปหมด        


    ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง นอกจากทบทวนคำสั่งให้ชัด ๆ แล้ว เวลาผู้บังคับบัญชาสั่งงานผิด ถ้ามั่นใจว่าท่านผิดพลาดแน่แล้ว ขืนปล่อยไปท่านต้องเสียหายแน่ อย่างไรเสียก็ต้องเตือนกัน ไม่ใช่เห็นว่าผิดแล้วก็ปล่อยไปเลยตามเลย เราเป็นลูกน้องท่าน ถ้าท่านเสีย เราก็จะต้องพลอยเสียไปด้วย ถ้ากิจการของท่านมีอันต้องล้มไป เราก็คงต้องล้มตาม จะยิ่งยุ่งกันใหญ่ แต่การจะเตือนผู้ใหญ่นั้น มีข้อแม้อยู่ว่า ถ้าพูดโพล่งเตือนท่านต่อหน้าชุมชน ก็จะกลายเป็นการฉีกหน้า อาจจะกลายเป็นทำคุณบูชาโทษ อาจถูกสั่งย้ายภายใน ๒๔ ชั่วโมงได้ การเตือนท่านไม่ให้ท่านเสียหน้ามีอยู่หลายวิธี เช่น อาจกระซิบกระซาบให้รู้กันเพียงสองคน หรือเขียนหนังสือลอบส่งให้ท่านอ่าน ซึ่งท่านจะเข้าใจได้เอง หรือถ้าเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า งานเร่งด่วน จะกระซิบกระซาบก็ไม่ถนัด จะเขียนหนังสือส่งให้ โอกาสก็ไม่อำนวย ก็อาจใช้วิธีพูดขัดจังหวะแบบนุ่ม ๆ โดยเรียนท่านว่า “เดี๋ยวครับท่าน เรื่องอย่างนี้เมื่อคราวที่แล้ว ท่านสั่งให้ทำแบบนั้น ๆ คราวนี้มีอะไรผิดพลาดจากคราวที่แล้วหรือครับ จึงทำไม่เหมือนคราวที่แล้ว” เราพูดเพียงเท่านี้ ท่านก็จะฉุกคิดได้ทันที โดยไม่คิดว่าโดนฉีกหน้า บางทีแม้ของเดิมท่านไม่เคยทำมา เราเองทำเอาไว้ ถ้าดีก็อ้างไปได้เหมือนกัน ไม่เสียหาย


    สิ่งเหล่านี้ขอให้ระวังให้ดี โดยเฉพาะคนไทย เรื่องเสียหน้านั้นกลัวกันนัก เสียเงินเสียทอง       ไม่ว่า อย่าให้ต้องเสียหน้าเลย อย่าว่าแต่คนอื่นคนไกล แม้สามีภรรยากัน ภรรยาจะไปเตือนสามี   ก็ยากนัก ถ้าไม่ดูจังหวะเดี๋ยวเกิดเรื่อง ยอมรับไม่ได้ขึ้นมาเสียแล้ว เพราะรู้สึกเสียเหลี่ยมว่า “ถูกข่ม” 


    ยังมีอีกกรณี เรื่องรับคำสั่งมาหลายงาน ก่อนทำต้องเช็กดูด้วยว่างานไหนด่วน ไม่ด่วน  จัดลำดับก่อนหลังของงานให้ดี เพราะถ้าเราไปอยู่กับผู้บังคับบัญชาที่ขยัน ๆ ทำงานเก่งละก็  ดูเหมือนว่างานทุกอย่างที่สั่งมาเป็นงานด่วนไปหมด แต่ว่าเนื่องจากเรามีเวลาจำกัดเพียง ๒๔ ชั่วโมงเท่านั้น เราทำทุกอย่างไม่เสร็จแน่ อย่างนี้ก็ต้องหาวิธีเช็กกับท่านว่า งานที่เราทำค้างอยู่ในมือ
กับงานที่สั่งให้ไปทำใหม่ อันไหนจะด่วนกว่ากัน แล้วจึงทำอันนั้นให้เสร็จก่อนเป็นเรื่อง ๆ ไป


    อีกอย่างหนึ่งที่ควรทำคือ รายงานความคืบหน้าเป็นระยะ ๆ การรายงานความคืบหน้านี้ พวกเราบางคนยังไม่เคยฝึก พอรับงานมาแล้วก็เก็บเงียบ ทำได้หรือไม่ได้ไม่บอกกันเลย ไม่มีใครทราบว่าทำอะไรถึงไหนแล้ว ขอให้เพาะนิสัยใหม่ เมื่อรับงานจากผู้ใหญ่แล้ว ภายในวันสองวันต้องรายงานให้ท่านทราบว่าคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว ติดขัดอะไรบ้าง หรือว่าเสร็จเรียบร้อยแล้ว ไม่อย่างนั้น เจ้านายรอเงกเลย พอไปถามเข้า ที่ไหนได้! เสร็จตั้งนานแล้ว แต่เก็บงำเอาไว้เฉย ๆ นี่ถ้าปลวกขึ้น เพราะเก็บเอาไว้นานเกินไป ก็จะต้องทำใหม่ เสียเวลาเปล่า ๆ เพราะฉะนั้นรับงานอะไรไว้ เมื่อถึงเวลาต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ 


    แต่บางครั้งการรายงานก็ต้องยอมรับว่ามีอุปสรรคอยู่เหมือนกัน เช่น หน้าห้องของผู้ใหญ่กันท่าจนเราเข้าไม่ถึงตัวนาย หรือท่านกำลังติดพันงานอื่นอยู่ แต่งานที่ท่านใช้ให้เราทำอยู่นี้ก็เป็นงานด่วน


    อย่างนี้ก็ต้องหาทางรายงานให้ได้ ใช้วิธีตั้งแต่เขียนจดหมายหรือแม้กระทั่งโทรศัพท์ก็ได้ หลวงพ่อเองก็ปฏิบัติอย่างนี้กับหลวงพ่อธัมมชโย เมื่อมีงานด่วนจะต้องเรียนท่าน แต่ขณะนั้นท่านกำลังรับแขกอยู่ จะเดินเข้าไปในวงสนทนาก็ไม่งาม จะเขียนจดหมายฝากเข้าไป ก็อาจทำให้แขกรู้สึกว่ามีอะไรลึกลับ หรือเขาจะมองท่านไปในแง่ที่ไม่ดีได้ หลวงพ่อก็เลยใช้วิธีเดินเลยไปสักหน่อยแล้วโทรศัพท์หาท่าน ประเดี๋ยวเด็กก็วิ่งไปกราบเรียนว่ามีโทรศัพท์ ท่านก็ได้โอกาสขอตัวแขกออกมารับโทรศัพท์ พูดจากันได้โดยไม่ต้องเสียมารยาท


    การทำงานบางอย่าง นายอาจใช้เราไปเป็นตัวแทนท่านในบางเรื่อง กรณีนี้ขอให้วางตัวให้ดี ให้สุภาพเรียบร้อยเหมาะกับกาลเทศะ เพราะว่าถ้ามีอะไรเสียหาย ก็ย่อมเสียไปถึงนายด้วย ในทำนองเดียวกันถ้าเขาชม นายก็จะได้รับคำชมด้วยว่าอบรมลูกน้องมาดี แล้วก็เลยคิดไปว่านายของคนนี้    ก็คงเป็นคนดี น่าจะทำธุรกิจการงานด้วยได้.. 

 


(อ่านต่อฉบับหน้า)

 

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๔๑ เดือนกรกฎาคม ๒๕๕๗

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล