วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ พระธรรมเทศนา : แก่นแท้ของชีวิต

พระธรรมเทศนา

 

 

     โลกมนุษย์ไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร มีแต่การทำพระนิพพานให้แจ้งเท่านั้นที่เป็นแก่นสารอย่างแท้จริง

แก่นแท้ของชีวิตเรียบเรียงจากพระธรรมเทศนาพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

     ตลอดชีวิตการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาของหลวงพ่อได้มีโอกาสไปเยี่ยมเมืองสำคัญๆ ในหลายประเทศ เมืองไหนๆ ที่เขาว่าดี ก็ได้ไปมาทั่วโลกแล้ว แต่ไปแล้วก็ได้ข้อสรุปว่าไม่มีแก่นสารอะไรทั้งนั้น พวกเราเข้าวัดเพื่อปฏิบัติธรรมแล้ว อย่าได้เอาใจออกจากศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่าไปเสียเวลากับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง หรือเรื่องที่ทำให้ใจหลุดจากศูนย์กลางกายอยู่เลย มีแต่จะทำให้เสียบุญเสียบารมีไปเปล่าๆ เพราะผลสุดท้าย ก็จะได้ข้อสรุปว่า โลกนี้ไม่มีแก่นสารอะไร

ตั้งใจฝึกฝนตนเองให้เข้าถึงแก่นแท้การศึกษาในพระพุทธศาสนา
     บุคคลที่มีโอกาสได้ศึกษาพระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาแล้ว จะกลายเป็นคนที่เจริญก้าวหน้าในการฝึกฝนตนเองได้นั้น ต้องเป็นบุคคลที่เข้าใจแก่นแท้การศึกษาในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ถึงจะทำได้ ไม่ใช่เป็นเพราะได้ศึกษาพระบาลีจนกระทั่งจบ ป..๙หรือเรียนจบดอกเตอร์ได้ปริญญาเอกหลายๆใบแล้วจะเข้าใจแก่นแท้ของการศึกษาในพระพุทธศาสนาการศึกษาที่ถูกต้องไม่ได้มุ่งเอาแต่ความรู้เพียงอย่างเดียวแต่มุ่งการฝึกฝนอบรมตนเองเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะคำว่า  ศึกษา  มาจากคำบาลีว่า สิกขา  ซึ่งบ่งบอกแก่นแท้การศึกษาในพระพุทธศาสนาอยู่ในนั้น
ส + อิกข + า = สิกขา
ส แปลว่า อัตตา
อิกข แปลว่า มอง, เห็น, พิจารณา
า เป็นปัจจัย
สิกขา แปลว่า เห็นตน พิจารณาตน มองตน

     นั่นคือ  สภาพใด ทำให้มองเห็นตนได้ชัดเจน สภาพนั้นเรียกว่า สิกขา จากคำแปลของคำว่าสิกขานี้ ทำให้เรามองเห็นแก่นแท้ของการศึกษาที่ซ่อนอยู่ในนั้นได้ว่า

     การศึกษา คือ การพัฒนานิสัยใฝ่รู้-ใฝ่ดี ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป โดยอาศัยวิชาการต่างๆ และหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาเป็นอุปกรณ์สำคัญในการพัฒนาตน ซึ่งเมื่อพัฒนาไปได้มากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ผู้ศึกษานั้น เกิดปัญญา ความบริสุทธิ์ และความกรุณาในสันดานเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

เมื่อเราได้ฝึกฝนอบรมตนเองจนกระทั่งได้นิสัยทุ่มชีวิตใฝ่หาความรู้และทุ่มชีวิตสร้างความดีเช่นนี้แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาภายในตนเอง ก็คือ 

ประการแรก คือ ยิ่งฝึกฝนตนเองมากเท่าไร ก็ยิ่งเข้าใกล้ธรรมะภายในของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากเท่านั้น

ประการที่สอง คือ ยิ่งฝึกฝนตนเองมากเท่าไร ก็ยิ่งกลายเป็นผู้ที่มีความสะอาดบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ มากเท่านั้น

ประการที่สาม คือ ยิ่งฝึกฝนตนเองมากเท่าไร ก็ยิ่งได้ชื่อว่าเป็นพุทธบริษัท ๔ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตัวจริง

     บุคคลที่ฝึกฝนอบรมตนเองมาตามเส้นทางนี้ จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้เข้าถึงแก่นแท้ของการศึกษาที่แท้จริง คือ การศึกษาที่ไม่ใช่เอาแต่ความรู้ แต่เป็นศึกษาเพื่อมุ่งกำจัดแก้ไขพฤติกรรมชั่วๆ ในตัวให้หมดไป และทุ่มชีวิตสร้างความดีเพื่อให้เกิดนิสัยดีๆ ขึ้นในตน

 

 
 

 

วางเป้าหมายไว้ที่การเข้าถึงธรรมะภายในตน
     นักสร้างบารมี จำเป็นต้องศึกษาเส้นทางการสร้างบารมีให้ชัดเจนจากพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อศึกษาแล้ว จึงมีเรื่องหนึ่งที่ต้องตอบให้ได้ นั่นคือความหมายที่แท้จริงของคำว่า "ธรรมะ" 
    "ธรรมะ" คืออะไร? คำว่า "ธรรมะ" แบ่งความหมายออกเป็น ๓ นัย

     ประการที่ ๑ ธรรมะ คือ ธรรมชาติบริสุทธิ์ภายในตัวมนุษย์ทุกคน หากใครเข้าถึงธรรมะนี้ได้เมื่อไร วิชชาเครื่องกำจัดกิเลสย่อมเกิด ความสว่างย่อมเกิด ความบริสุทธิ์ย่อมเกิด หากใจของใครเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมะนี้ได้ กิเลสย่อมถูกกำจัดหมดสิ้นไปได้ ทุกข์ทั้งปวงย่อมหมดสิ้นไปด้วย

     ประการที่ ๒ ธรรมะ คือ คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงสอนให้มนุษย์พ้นจากทุกข์ทั้งปวง มีไว้ให้พวกเรานำไปทุ่มชีวิตฝึกฝนอบรมตนเองตามนั้นเมื่อฝึกฝนอบรมตนเองได้ดีแล้วย่อมต้องสามารถเข้าถึงสัจธรรมภายในได้อย่างแน่นอน

     ประการที่ ๓ ธรรมะ คือ นิสัยดีๆ ที่เกิดจากการตั้งใจปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ อย่างจริงจัง ด้วยการละเว้นความชั่ว ทำความดีกลั่นใจให้ผ่องใสเพื่อเข้าถึงธรรมชาติบริสุทธิ์ภายในตนทำให้เกิดปัญญาความบริสุทธิ์และความกรุณาในสันดานของตนเพิ่มมากขึ้น นักบาลีบางท่าน แม้จะสามารถแปลธรรมะในพระไตรปิฎกได้แล้ว แต่เพราะไม่ได้นำสิ่งที่แปลได้นั้น มาฝึกฝนอบรมตนเองให้ยิ่งๆขึ้นไปเขาจึงได้แต่คำแปลแต่ไม่รู้จักตัวจริงของธรรมะเหมือนอย่างกับที่หลวงปู่วัดปากน้ำท่านรู้คนที่จะเห็นธรรมะได้นั้นอย่างน้อยที่สุดต้องฝึกนิสัยควบคุมกาย วาจา ใจให้มีพฤติกรรมที่ดีๆ จนกระทั่งมีนิสัยใฝ่รู้และใฝ่ดีเกิดขึ้นในตนผู้ที่ฝึกควบคุม "พฤติกรรม" ตนเองได้แต่ในระดับ "กาย" กับ "วาจา" แต่ยังไม่ค่อยเป็นนิสัยฝังเข้าไปในตัว ก็จะได้เพียงแค่"จริยธรรมขั้นต้น"

      ผู้ที่ฝึก "จริยธรรมขั้นต้น" ของตนเองให้ยิ่งๆ ขึ้นไปได้ในระดับ "ใจ" จนกระทั่งกลายเป็นนิสัยฝังอยู่ข้างในตัวก็จะได้ "ศีลธรรมประจำใจ"ผู้ที่เคี่ยวเข็ญฝึกฝนอบรม "ศีลธรรมประจำใจ" ของตนเองให้เป็นนิสัยดีงามที่มั่นคงยิ่งๆ ขึ้นไปด้วยปริยัติธรรมที่เรียนมารอบแล้วรอบเล่า ในที่สุด "ใจต้องหยุดนิ่ง"ใจหยุดนิ่งได้เมื่อไร"ธรรมกาย" ย่อมเกิดขึ้นเมื่อนั้น

    เมื่อพวกเราเป็นนักสร้างบารมีแล้วก็ต้องเคี่ยวเข็ญฝึกฝนอบรมตนเองอย่างเคร่งครัดวางเป้าหมายชีวิตมุ่งไปที่การฝึกฝนอบรมตนเองให้เข้าถึงธรรมภายในเป็นสำคัญ เราศึกษาธรรมะมากเท่าไร ก็ต้องทุ่มเทเคี่ยวเข็ญฝึกฝนอบรมตนเองให้ได้ตามนั้น ชีวิตนักสร้างบารมีเป็นชีวิตที่ไม่คิดก่อกรรมทำเวรแก่ใคร ไม่คิดเบียดเบียนใคร แค่ประคองตัวเองไปอย่างนี้ แล้วไม่มีความชั่วตลอดชีวิต เมื่อถึงคราวละจากโลกนี้ไป ก็ต้องได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต วงบุญพิเศษ เขตพระบรมโพธิสัตว์ ผู้มุ่ง
ปราบมารประหารกิเลสให้สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษอย่างแน่นอน

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล