วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ตอนที่ ๖ ความรู้ประมาณ รากฐานความมั่นคงของพระพุทธศาสนา

พระธรรมเทศนา

 

 

ตอนที่ ๖ ความรู้ประมาณ

รากฐานความมั่นคงของพระพุทธศาสนา

 

             ๒. การสร้างครูในยุคกลางพุทธกาลถึงยุคปลายพุทธกาล

             ๒.๑ สถานการณ์พระพุทธศาสนาในยุครุ่งเรือง

             ในช่วง ๒๐ พรรษาแรกของการเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงนำเหล่าพระอรหันต์เดินทางไปประกาศพระศาสนาจนทั่วทุกแว่นแคว้น โดยไม่ประทับจำพรรษา ณ ที่ใดที่หนึ่ง จวบจนพรรษาที่ ๒๑ เมื่อถึงฤดูเข้าพรรษา พระพุทธองค์ก็เสด็จไปประทับจำพรรษาอยู่ที่เมืองสาวัตถี ณ สถานที่ ๒ แห่ง แห่งแรก ได้แก่ วัดพระเชตวันของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ทรงจำพรรษาอยู่ที่นี่พร้อมด้วยหมู่พระภิกษุสงฆ์เป็นเวลา ๑๙ พรรษา แห่งที่สอง ได้แก่ วัดบุพพารามของนางวิสาขา ทรงจำพรรษาอยู่ที่นี่พร้อมด้วยหมู่พระภิกษุ สงฆ์เป็นเวลา ๖ พรรษา

             ในช่วงออกพรรษา พระองค์กับหมู่พระภิกษุสงฆ์ก็จะเสด็จออกจากกรุงสาวัตถีเพื่อ จาริกไปยังแว่นแคว้นต่าง ๆ เพื่อประกาศพระศาสนาให้แพร่หลายและมั่นคงยิ่ง ๆ ขึ้นไป จวบจนเวลาผ่านไป ๙ เดือน ก็จะเสด็จกลับมาจำพรรษาที่กรุงสาวัตถีอีก ๓ เดือน ส่งผลให้วัดพระเชตวันและวัดบุพพาราม ณ กรุงสาวัตถี แคว้นโกศล กลายเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาในช่วง ๒๕ ปี สุดท้ายของยุคพุทธกาล ส่วนวัดเวฬุวัน ณ กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาในยุคต้นพุทธกาล

             ๒.๒ นวังคสัตถุศาสน์

             ดังได้กล่าวแล้วว่าในช่วงต้นพุทธกาลนั้น พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์มีอยู่ไม่มากนัก ครั้นเวลาผ่านไป พระธรรมคำสั่งสอนก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับจำนวนพระ ภิกษุและชาวพุทธที่ทวีขึ้นเป็นจำนวนล้าน ๆ กระจายอยู่ทั่วทุกแว่นแคว้น
เพียงในช่วงเวลา ๒๐ ปี ก็ปรากฏว่าคำสอนในพระพุทธศาสนาได้รับความศรัทธาอย่างแพร่หลาย ยิ่งกว่าคำสอนของลัทธิศาสนาต่าง ๆ ที่เคยมีมาก่อน คำสอนของพระองค์ มีมากมายจนต้องจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ได้ถึง ๙ หมวดใหญ่ เรียกว่า นวังคสัตถุศาสน์ ประกอบด้วย

             ๑ สุตตะ หมายถึง ถ้อยคำที่แสดงธรรมด้วยเนื้อความที่จบเป็นเรื่องหนึ่ง ๆ ได้แก่ พระสูตรต่าง ๆ เช่น มหาปรินิพพานสูตร เป็นต้น รวมทั้งพระวินัยปิฎก และนิทเทส (คัมภีร์อธิบายขยายความพุทธภาษิตเพิ่มเติม)

             ๒ เคยยะ หมายถึง ถ้อยคำที่แสดงธรรมด้วยเนื้อความที่เป็นร้อยแก้วผสมกับร้อยกรองทั้งหมด ได้แก่ พระสูตรต่าง ๆ ที่มีเนื้อความเรียงและการประพันธ์คาถาเป็นโคลงฉันท์อยู่ในพระสูตรเดียวกัน

             ๓ เวยยากรณะ หมายถึง ถ้อยคำที่แสดงธรรมด้วยเนื้อความที่เป็นร้อยแก้ว (ความเรียง) ล้วน ๆ ไม่มีการประพันธ์คาถาเป็นโคลงฉันท์ร่วมอยู่ด้วย ได้แก่ พระอภิธรรมปิฎกทั้งหมด พระสูตรที่ไม่มีคาถา และพระพุทธวจนะที่ไม่ได้จัดเข้าในหมวดอื่นทั้ง ๘ หมวด

             ๔ คาถา หมายถึง ถ้อยคำที่แสดงธรรมด้วยการประพันธ์เนื้อความที่เป็นร้อยกรอง ล้วน ๆ เช่น ธรรมบทเถรคาถา เถรีคาถา และคาถาล้วน ๆ ที่ไม่มีชื่อ

             ๕ อุทาน หมายถึง ถ้อยคำที่แสดงธรรมด้วยการเปล่งพระอุทานด้วยพระโสมนัสญาณ ได้แก่ พระสูตร ๘๒ สูตร

             ๖ อิติวุตตกะ หมายถึง พระสูตร ๑๑๐ สูตร ที่ขึ้นต้นด้วยถ้อยคำแสดงธรรมว่า ข้อนี้สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้

             ๗ ชาตกะ (ชาดก) หมายถึง ถ้อยคำที่แสดงธรรมด้วยการเปิดเผยเรื่องราวในอดีตชาติ เมื่อครั้งพระองค์ยังทรงสร้างบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ มีทั้งหมด ๕๕๐ เรื่อง

             ๘ อัพภูตธรรม หมายถึง พระสูตรที่มีเรื่องอัศจรรย์อยู่ในการแสดงธรรมครั้งนั้น เช่น ที่ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ข้ออัศจรรย์ไม่เคยมี ๔ อย่างนี้ หาได้ในอานนท์

             ๙ เวทัลละ หมายถึง พระสูตรที่แสดงธรรมด้วยการถามและการตอบที่ลุ่มลึกยิ่ง ๆ ขึ้นไปตามลำดับ ซึ่งทำให้ผู้ถามได้ทั้งความรู้และความพึงพอใจ เช่น มหาเวทัลลสูตร สักกปัญหสูตร สัมมาทิฏฐิสูตร เป็นต้น

             ภายหลังจากพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ได้มีการสังคายนาและจัดเรียง หมวดหมู่พระธรรมคำสอนหรือนวังคสัตถุศาสน์ทั้ง ๙ หมวดนี้ใหม่ กลายเป็นพระไตรปิฎก สืบทอดกันมาถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วย พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และ พระอภิธรรมปิฎก

             ๒.๓ คุณสมบัติของนักเผยแผ่ที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์

             ในช่วงเวลาที่คำสอนของพระองค์มีจำนวนมากถึง ๙ หมวดนี้ นอกจากการส่ง พระอรหันต์ออกไปทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงเคี่ยวเข็ญ อบรมพระภิกษุที่ยังไม่บรรลุอรหัตผลให้มีคุณสมบัติของนักเผยแผ่ โดยใช้หลักธรรมชุดหนึ่ง คือ สัปปุริสธรรม ๗ ประการ สำหรับสร้างนักเผยแผ่ที่สามารถฝึกฝนอบรมตนเองไปพร้อมกับการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ซึ่งประกอบด้วย

             ๑ ธัมมัญญู คือ เป็นผู้รู้จักธรรม

             พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงการฝึกฝนอบรมตนให้เป็นธัมมัญญูไว้ว่า

             "ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ... ฉะนั้น เราจึงเรียกว่าเป็นธัมมัญญู ด้วยประการฉะนี้"

             สิ่งสำคัญอันดับแรกสุดของการเป็นนักเผยแผ่ ก็คือต้องแยกให้ออกก่อนว่า คำสอนใด ใช่หรือไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะได้ไม่หลงไปปฏิบัตินอกคำสอนของพระองค์ ด้วยสำคัญผิดคิดว่า เป็นคำสอนในพระพุทธศาสนา เพราะเห็นผู้อื่นทำตาม ๆ กันมา

             ด้วยเหตุนี้ กิจสำคัญประการแรกที่พระภิกษุจะต้องกระทำคือ ตั้งใจศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกให้จบ ทำความเข้าใจให้ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องการสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างครบวงจร ตั้งแต่เป็นพระโพธิสัตว์ สร้างบารมี ตรัสรู้ธรรม จนกระทั่งเสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อมองภาพรวมนี้ออกแล้ว ก็จะได้รู้ว่า ตนเองจะต้องทำและไม่ทำอะไรบ้าง จึงจะตรงตามเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตนักบวชตามพุทธประสงค์ ซึ่งได้แก่ การปราบกิเลสจนกว่าจะหมดสิ้น และบรรลุมรรคผลนิพพาน

             ดังนั้น พระภิกษุที่ศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกจนเกิดความเข้าใจเรื่องการสร้างบารมี การตรัสรู้ธรรม และการทำงานเผยแผ่พระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน จึงได้ชื่อว่าเป็น ผู้รู้จักธรรม คือ ธัมมัญญู

             ๒ อัตถัญญู คือ เป็นผู้รู้จักเนื้อความแห่งธรรม

             พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงการฝึกฝนอบรมตนให้เป็นอัตถัญญูไว้ว่า

             "ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักเนื้อความแห่งภาษิตนั้น ๆ ว่า นี้เป็นเนื้อความแห่งภาษิต นี้ ๆ ... ฉะนั้น เราจึงเรียกว่าเป็นอัตถัญญู ..."

             เมื่อรู้จักพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์เป็นอย่างดีแล้ว ต้องศึกษาค้นคว้าต่อไป อีก เพื่อให้ทราบว่า พระธรรมนั้น ๆ มีนัยที่ลึกซึ้งลงไปอีกอย่างไร พร้อมกันนั้นก็นำ พระธรรมมาประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เคี่ยวเข็ญตนเองจนเกิดผลตามพุทธดำรัสไปตามลำดับ ก็ยิ่งจะทำให้เข้าใจความหมายของธรรมได้ลุ่มลึกไปตามลำดับด้วย

             ดังนั้น พระภิกษุที่เพียรฝึกตนจนเข้าใจแจ่มแจ้งในเนื้อความแห่งพุทธวจนะตามนัย ต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง ย่อมได้ชื่อว่าเป็น ผู้รู้จักเนื้อความแห่งธรรม คือ อัตถัญญู

             ๓ อัตตัญญู คือ เป็นผู้รู้จักตน

             พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงการฝึกฝนอบรมตนให้เป็นอัตตัญญูไว้ว่า

             "ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักตนว่า เราเป็นผู้มีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณ เพียงเท่านี้ ... ฉะนั้น เราจึงเรียกว่าเป็นอัตตัญญู ..."

             พระภิกษุที่ฝึกตนจนเป็นผู้ที่ทั้งรู้จักพระธรรมคำสั่งสอน และรู้จักเนื้อความอันลึกซึ้งในแต่ละนัยของพระธรรมคำสั่งสอน ก็ย่อมจะสามารถปฏิบัติธรรมได้ตรงตามพระพุทธวจนะ ไม่มีผิดพลาดคลาดเคลื่อน

             อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่เรียกว่าหลุมพรางของการปฏิบัติธรรม ซึ่งเกิดจากการที่เราเอง ก็ไม่รู้ว่าใจมีลักษณะเป็นอย่างไร กิเลสที่อยู่ในใจมีลักษณะเป็นอย่างไร มีมากมายเพียงไรก็ไม่รู้ รู้แต่อาการของกิเลสเท่านั้นว่าทำให้เร่าร้อน ซึ่งถ้าผู้ปฏิบัติไม่ได้ตรวจสอบประเมินคุณธรรม ของตนเองให้ดี ก็จะทำให้เกิดความท้อแท้ท้อถอย คิดว่าปฏิบัติไปเท่าไรก็คงไม่มีโอกาสบรรลุนิพพาน จึงเลิกปฏิบัติ

             ในขณะที่บางคนมีความก้าวหน้า จิตใจปลอดโปร่งเบาสบาย ยกใจขึ้นสู่ไตรลักษณ์พิจารณาความไม่เที่ยง ทำให้เหมือนไม่ยึดไม่ติดอะไรเลย ก็เลยเข้าใจว่า นี่คือสภาวะหมดกิเลส กว่าจะรู้ว่าตนเองยังไม่หมดกิเลสก็ช้าไป เพราะกลายเป็นไม้ใกล้ฝั่งไปแล้ว

             ดังนั้น เพื่อที่จะป้องกันหลุมพรางดังกล่าว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ประเมิน คุณธรรมตนเอง ด้วยคุณธรรมที่ใช้เป็นตัวชี้วัด ได้แก่ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา และปฏิภาณ ยิ่งหมั่นประเมินคุณธรรมทั้ง ๖ นี้อยู่เสมอ ก็จะยิ่งทำให้พระภิกษุทราบว่า ตนยังมีข้อบกพร่องที่ต้องปรับปรุงแก้ไขในเรื่องใดบ้าง ยังห่างไกลจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์เพียงใด เพื่อจะได้ทุ่มเทปฏิบัติให้เกิดคุณธรรมยิ่งๆ ขึ้น

             ดังนั้น พระภิกษุผู้สามารถประเมินคุณธรรมในตนเองได้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง จึงได้ชื่อว่าเป็น ผู้รู้จักตน คือ อัตตัญญู

             ๔ มัตตัญญู คือ เป็นผู้รู้จักประมาณในการรับ

             พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงการฝึกฝนอบรมตนให้เป็นมัตตัญญูไว้ว่า

             "ภิกษุในธรรมวินัยนี้ รู้จักประมาณในการรับ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลาน- ปัจจัยเภสัชบริขาร ... ฉะนั้น เราจึงเรียกว่าเป็นมัตตัญญู ..."

             เพราะได้ประเมินแล้วว่า ตนเองมีคุณธรรมมากน้อยเพียงใด ขั้นตอนต่อไปจึงเป็นการ เพิ่มพูนคุณธรรม ที่จะเป็นรากฐานในการบรรลุธรรมขั้นสูงและเป็นเครื่องมือในการประหัต-ประหารกิเลส คือ เพิ่มพูนสติและปัญญา ด้วยวิธีการง่าย ๆ โดยการรู้จักควบคุมความต้องการของตนเองในการบริโภคใช้สอยปัจจัย ๔ ให้พอดี และพอเหมาะแก่ชีวิตการสร้างบารมีของพระภิกษุ ไม่ให้เกิดเป็นความอยากหรือตกเป็นทาสของความอยาก พระสัมมา-สัมพุทธเจ้าทรงเน้นไปที่การรับปัจจัย ๔ เพราะเป็นการควบคุมและป้องกันตั้งแต่ต้น ไม่ให้เผลอใช้ปัจจัย ๔ เกินความจำเป็นจนกลายเป็นความอยากที่เป็นกิเลส

             เมื่อฝึกสติปัญญาในเรื่องการรับปัจจัย ๔ ได้ ก็ย่อมเป็นพื้นฐานของสติปัญญายิ่ง ๆ ขึ้นไป ที่จะสามารถเข้าใจธรรมะที่ลึกซึ้งได้

             ดังนั้น พระภิกษุที่ฝึกตนเองจนสามารถประมาณในการรับปัจจัย ๔ ได้อย่างพอดีและพอเหมาะ ในที่สุดก็จะรู้จักประมาณได้ในทุกเรื่อง จึงได้ชื่อว่าเป็น ผู้รู้จักประมาณ คือ มัตตัญญู

             ๕ กาลัญญู คือ เป็นผู้รู้จักกาล

             พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงการฝึกฝนอบรมตนให้เป็นกาลัญญูไว้ว่า

             "ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักกาลว่า นี้เป็นกาลเรียน นี้เป็นกาลสอบถาม นี้เป็นกาล ประกอบความเพียร นี้เป็นกาลหลีกออกเร้น ... ฉะนั้น เราจึงเรียกว่าเป็นกาลัญญู ..."

             แม้จะฝึกหัดขัดเกลาตนเอง จนกระทั่งรู้จักธรรม คือรู้จักพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ รู้จักอรรถ คือเข้าใจพระธรรมลึกซึ้ง รู้จักตน คือประเมินคุณธรรมของตนเอง ได้และรู้จักประมาณแล้ว สิ่งที่ขาดเสียมิได้ลำดับต่อไปก็คือ การทุ่มเทเวลาให้กับการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง มิฉะนั้น จะยังไม่สามารถกระทำตนให้เป็นที่พึ่งที่แท้จริงแก่ตนเอง ได้อย่างสมบูรณ์

             เพราะการที่จะบรรลุธรรมอันเป็นที่พึ่งสูงสุดของตนเองได้นั้น ต้องอาศัยความเข้าใจพระธรรมอย่างแจ่มแจ้ง ควบคู่ไปกับการฝึกจิตของตนเองอย่างเข้มงวด เพื่อกลั่นจิตให้สะอาดบริสุทธิ์ไปตามลำดับ

             ด้วยเหตุนี้ พระภิกษุจึงต้อง ๑ ทุ่มเทเวลาให้กับการศึกษาค้นคว้าพระธรรมอย่างเอาจริงเอาจัง ๒ สอบถามจากผู้รู้เมื่อมีสิ่งที่ไม่เข้าใจ จนกว่าจะแจ่มแจ้ง ๓ เจริญสมาธิภาวนา อย่างสม่ำเสมอมิได้ขาด ๔ หลีกออกเร้นเพื่อทำสมาธิภาวนาติดต่อกันนาน ๆ

             กิจทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นหัวใจของการบรรลุธรรม ที่พระภิกษุจะต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกสุด ก่อนที่จะปฏิบัติกิจวัตรอื่น ๆ ของสมณะ

             ผู้ที่จะเห็นคุณค่าและตั้งใจปฏิบัติกิจทั้ง ๔ นี้อย่างจริงจัง จะต้องเป็นผู้ที่มีทัศนคติถูกต้องเกี่ยวกับเวลาว่า เวลาคือช่วงชีวิตที่มีเพียงน้อยนิด และถูกกลืนกินไปทุกขณะจิต จึงต้องใช้เวลาไปในเรื่องการสร้างบุญบารมีอย่างเต็มที่

             ดังนั้น ผู้ที่เข้าใจถูกเกี่ยวกับเวลาและบริหารเวลาให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองได้สูงสุด เช่นนี้ จึงได้ชื่อว่าเป็น ผู้รู้จักกาล คือ กาลัญญู

             ๖ ปริสัญญู คือ เป็นผู้รู้จักประชุมชน

             พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงการฝึกฝนอบรมตนให้เป็นปริสัญญูไว้ว่า

             "ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักบริษัทว่า นี้บริษัทกษัตริย์ นี้บริษัทคฤหบดี นี้บริษัทสมณะ ในบริษัทนั้นเราพึงเข้าไปหาอย่างนี้ พึงยืนอย่างนี้ พึงทำอย่างนี้ พึงนิ่งอย่างนี้ ... ฉะนั้น เรา จึงเรียกว่าเป็นปริสัญญู ..."

             เมื่อฝึกฝนตนเองมาตามลำดับ ตั้งแต่ธัมมัญญู อัตถัญญู อัตตัญญู มัตตัญญู และกาลัญญู ย่อมได้ชื่อว่าเป็นกัลยาณมิตรให้แก่ตนเองอย่างสมบูรณ์ และเป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิตอันประเสริฐให้แก่ชาวโลกได้ ย่อมสามารถเข้าไปครองใจคนทั้งโลก ให้เกิดความ ศรัทธาเลื่อมใสเป็นเบื้องต้น เมื่อเกิดศรัทธาเลื่อมใสแล้ว ย่อมอยากฟังคำสอนและอยากปฏิบัติตาม

             พระภิกษุที่จะเป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธาได้ นอกจากจะต้องมีปฏิปทาน่าเลื่อมใส มีศีลาจารวัตรงดงามแล้ว ยังต้องรู้จักประชุมชน และกิริยาที่จะต้องปฏิบัติต่อประชุมชน นั้น ๆ เช่น รู้จักว่า เมื่อเข้าไปในประชุมชนนี้ จะต้องทำกิริยาอย่างไร จะต้องพูดอย่างไร เป็นต้น นั่นคือ พระภิกษุที่เข้าใจขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมของคนในแต่ละกลุ่ม ปฏิบัติต่อคนในแต่ละกลุ่มได้อย่างเหมาะสม ซึ่งย่อมเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสศรัทธาของ กลุ่มคนที่คบหาสมาคมด้วย

             พระภิกษุที่ฝึกฝนอบรมตนได้เช่นนี้ จึงได้ชื่อว่าเป็น ผู้รู้จักประชุมชน คือ ปริสัญญู

             ๗ ปุคคลปโรปรัญญู คือ เป็นผู้รู้จักบุคคล

             พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงการฝึกฝนอบรมตนให้เป็นปุคคลปโรปรัญญูไว้ว่า

             "ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้รู้จักบุคคลโดยส่วน ๒ คือ บุคคล ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่ง ต้องการเห็นพระอริยะ พวกหนึ่งไม่ต้องการเห็นพระอริยะ บุคคลที่ไม่ต้องการเห็นพระอริยะ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ๆ บุคคลที่ต้องการเห็นพระอริยะ พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้น ๆ

             บุคคลที่ต้องการเห็นพระอริยะก็มี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งต้องการจะฟังสัทธรรม พวกหนึ่งไม่ต้องการฟังสัทธรรม ...

             บุคคลที่ต้องการฟังสัทธรรมก็มี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งตั้งใจฟังธรรม พวกหนึ่งไม่ตั้งใจฟังธรรม ...

             บุคคลที่ตั้งใจฟังธรรมก็มี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ พวกหนึ่งฟังแล้วไม่ทรงจำธรรมไว้ ...

             บุคคลที่ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ก็มี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งพิจารณาเนื้อความแห่งธรรม ที่ทรงจำไว้ พวกหนึ่งไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ ...

             บุคคลที่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ก็มี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งรู้อรรถ รู้ธรรมแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม พวกหนึ่งรู้อรรถรู้ธรรมแล้ว ไม่ปฏิบัติธรรมสมควร แก่ธรรม...

             บุคคลที่รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ก็มี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่งปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น พวกหนึ่งปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของตนและปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น ...

             ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้รู้จักบุคคลโดยส่วน ๒ ฉะนี้แล ภิกษุเป็นบุคคลปโรปรัญญูอย่างนี้แล...

             ประการสุดท้ายที่จะทำให้พระภิกษุได้ชื่อว่าเป็นเนื้อนาบุญของโลกอย่างแท้จริง ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ก็ต่อเมื่อสามารถทำหน้าที่กัลยาณมิตรได้อย่างยอดเยี่ยม ในการแก้ไขปรับปรุงกาย วาจา ใจ ของชาวโลกแต่ละคนให้พ้นจากทุกข์ได้

             ผู้ที่จะทำได้เช่นนี้ ต้องอ่านคนออก มองเห็นระดับคุณธรรมของแต่ละบุคคลว่ามีมากน้อยเพียงใด และมีวิธีฝึกบุคคลแต่ละคน เพื่อยกระดับคุณธรรมภายในใจของเขาไปตามลำดับ แม้ยังไม่หมดกิเลส แต่ก็ย่อมจะเข้าใกล้หนทางพระนิพพานไปตามลำดับ

             พระภิกษุที่ทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้ชาวโลกได้เช่นนี้ จึงจะได้ชื่อว่าเป็น ผู้รู้จักบุคคล คือ ปุคคลปโรปรัญญู

             การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเร่งสร้างนักเผยแผ่ ที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการนี้ ก็เพราะทรงตระหนักดีว่า สักวันหนึ่งสังขารของพระองค์ก็จะเสื่อมสิ้นลง การที่พระศาสนาของพระองค์มีอายุยืนยาวนานมากเท่าใด ย่อมคุ้มค่าต่อการตรัสรู้ธรรมของพระองค์มากเท่านั้น อนึ่ง เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันตสาวก ของพระองค์ละโลกไปหมดแล้ว

             กว่าจะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใหม่ มาบังเกิดขึ้นในโลกนี้อีกก็คงจะเป็นเวลาอีกนานแสนนาน ช่วงเวลายาวนานระหว่างนั้น ชาวโลกต้องจม อยู่กับอวิชชา มืดบอดจากหนทางแห่งการตรัสรู้ธรรม

             ดังนั้น พระองค์จึงต้องทรงเร่งรีบเผยแผ่พระธรรมวินัยให้แพร่หลาย ทั้งในหมู่มนุษย์ และหมู่เทวดาให้ได้มากที่สุด ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน และหลังจากเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระธรรมวินัยที่อยู่ในใจของทั้งมนุษย์ และเทวดาก็จะกลายเป็นศาสดาแทนพระองค์ ส่วนมนุษย์ และเทวดา ที่พระองค์ฝึกฝนอบรมไว้ดีแล้ว ก็จะเป็นกำลังสำคัญในการสืบอายุ พระพุทธศาสนาให้ยืนยาวสืบไป ขณะเดียวกัน เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในภายหน้ามาตรัสรู้ธรรมในโลกนี้ มนุษย์และเทวดาที่ฝึกไว้ดีแล้วนี้ ก็จะเป็นกำลังสำคัญของพระองค์ ในการรื้อขนสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากวัฏสงสาร

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 120 ตุลาคม ปี2555

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล