วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ หีดธัมม์ งานศิลป์ ถิ่นเหนือ

บทความน่าอ่าน     
เรื่อง : Tipitaka (DTP)


หีดธัมม์ งานศิลป์ ถิ่นเหนือ

 

    หีดธัมม์ หรือ หีดธรรม เป็นคำที่ชาวเหนือใช้เรียกหีบเก็บคัมภีร์ใบลาน มีใช้สืบต่อ    กันมาแต่โบราณกาลในดินแดนล้านนา ส่วนใหญ่เป็นคัมภีร์ใบลานที่จารด้วยอักษรธรรมล้านนา ซึ่งเป็นอักษรที่ใช้อย่างแพร่หลายบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย หีบพระธรรมที่ใช้ในภูมิภาคนี้นับว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะที่แตกต่างจากหีบเก็บคัมภีร์ใบลานของภาคอื่น เพราะมีลักษณะเป็น “ทรงลุ้ง” คือเป็นทรงสี่เหลี่ยม ด้านล่างของฐานสอบเข้า ส่วนปากหีบผายออก มีฝาครอบปิดด้านบนซึ่งมีหลายลักษณะทั้งฝาตัด ฝาคุ้ม และฝาเรือนยอด

 

    หีดธัมม์ประกอบด้วย ๓ ส่วนหลัก คือ ตัวหีบ ส่วนฐาน และฝาปิด นิยมใช้ไม้สักเป็นวัสดุเนื่องจากเนื้อไม้ไม่เสียรูปทรงเมื่อนำมาแกะสลัก และมีความคงทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ เป็นงานหัตถศิลป์ที่เน้นความแข็งแรงเพื่อเก็บรักษาคัมภีร์ใบลานให้อยู่รอดปลอดภัยในสภาพที่สมบูรณ์มากที่สุด


    การสร้างหีดธัมม์เริ่มจากการนำไม้มาซ้อนทำเป็นฐาน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการรับน้ำหนัก จากนั้นจะขึ้นโครงแล้วนำแผ่นไม้มาบุรอบ ส่วนฝาปิดจะใช้วิธีสวมเข้าเดือย ซึ่งจะต้องทำให้ สวมปิดได้สนิท ไม่หลวมหรือแน่นเกินไป เมื่อจะหยิบหรือบรรจุคัมภีร์ใบลานจะใช้วิธียกฝาหีบด้านบนออก จากนั้นจะขัดผิวไม้ให้เรียบ ทาด้วยชาด รัก หรือสี เพื่อรักษาคุณภาพของเนื้อไม้ ในอดีตสีที่ใช้ได้มาจากธรรมชาติ เช่น สีดำจากเขม่าไฟ สีแดงจากชาด สีเหลืองจากยางไม้ และสีทองจากทองคำเปลว เป็นต้น แล้วจึงประดับตกแต่งด้วยเทคนิคต่าง ๆ  มีการลงรักปิดทอง เขียนลายรดน้ำ หรือตกแต่งด้วยการวาดลวดลายให้สวยงาม บางครั้งมีการแกะสลักไม้เป็นลวดลายต่าง ๆ หรือนำกระจกมาประดับเพื่อเพิ่มมิติและทำให้มีความระยิบระยับสวยงาม   เป็นงานศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยฝีมือของช่างสมัยโบราณ

 

หีบพระธรรมทรงลุ้งแบบฝาตัด 
ฝาคุ้ม และฝาเรือนยอด


    เนื่องจากหีดธัมม์ถูกสร้างขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเก็บรักษาคัมภีร์ใบลานที่บันทึกคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้สร้างหรือผู้บริจาคทรัพย์ต่างปรารถนาอานิสงส์ผลบุญจากการถวายหีบเก็บคัมภีร์ใบลานไว้เป็นสมบัติพระศาสนา หวังให้ตนประสบแต่ความสุข ความเจริญ และเป็นปัจจัยส่งผลให้ตนไปสู่สุคติโลกสวรรค์และเข้าถึงพระนิพพาน จึงพบว่าหลายหีบตกแต่งลวดลายบอกเล่าเรื่องราวที่เป็นคติทางพระพุทธศาสนาอย่างประณีตบรรจง มีการจารึกชื่อผู้ถวายและข้อความไว้บนฝาของหีดธัมม์ด้วย

 


    แม้วันนี้ลวดลายและสีบนหีดธัมม์อาจซีดจางและลบเลือนไปบ้างตามกาลเวลา แต่ความศรัทธาของผู้สร้างและผู้ถวายยังปรากฏเด่นชัด หีดธัมม์ที่หลงเหลือแต่ละใบเป็นหลักฐานยืนยันว่า พระพุทธศาสนาได้เดินทางมาสู่ดินแดนล้านนา ปักหลักมั่นคงและหยั่งรากลึกลงในจิตใจของผู้คนจนคติความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมและอานิสงส์ผลบุญที่จะได้รับจากการทำความดี ถูกปลูกฝังถ่ายทอดจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมล้านนาอย่างแยกไม่ออก ความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยสะท้อนออกมาในรูปของงานหัตถศิลป์ที่มีลักษณะเฉพาะตัวฝากไว้เป็นสมบัติของแผ่นดิน หีดธัมม์จึงเป็นงานพุทธศิลป์ที่สรรค์สร้างด้วยมือ ถ่ายทอดด้วยใจ และประจักษ์ด้วยสายตา เป็นตัวแทนของความศรัทธาที่ชาวถิ่นเหนือมีต่อพระพุทธศาสนา สมควรเก็บรักษาและอนุรักษ์ให้เป็นสมบัติคู่แผ่นดินไทย แผ่นดินธรรมต่อไป



    โครงสร้างลวดลายพรรณพฤกษา  ลักษณะเป็นรูปดอกไม้ดอกใหญ่ดอกเดียวอยู่กลางแผ่น และมี    ลายประดับอยู่ในรูปกรอบสามเหลี่ยมที่เรียกว่าลายปีกค้างคาวอยู่ทั้ง ๔ ด้าน

 

    โครงสร้างลวดลายเป็นภาพเล่าเรื่อง มักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เน้นภาพที่จุดศูนย์กลางแผ่น แล้วจึงคลี่คลายออกไปด้านข้าง โดยน้ำหนักองค์ประกอบภาพ ๒ ข้างสมดุลกัน

 

 


    หีบพระธรรม วัดบุญยืน จังหวัดน่าน เป็นทรงลุ้ง ฝาตัด       ฐานปัทม์ สลักภาพนูนต่ำและปั้นรักประดับ สร้างขึ้นเมื่อ       พ.ศ. ๒๓๓๘ แสดงภาพเล่าเรื่องสิริจุฑามณิชาดก เป็นหนึ่งในปัญญาสชาดก ซึ่งเป็นวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาที่        พระเถระนักปราชญ์ล้านนารวบรวมเรื่องราวปรัมปราที่เป็นนิทานท้องถิ่นแล้วนำมารจนาเป็นชาดกไว้ 


    ด้านหน้าฝาหีบปรากฏรอยจารึกอักษรธรรมล้านนาเขียนด้วยรักสีแดง จำนวน ๖ บรรทัดความว่า


    “จุลศักราช ๑๑๕๗ พระสงฆ์นามว่าทิพพาลังการเป็นประธานแก่ศิษย์ทุกคน โดยมีมหาราชหลวงเป็นองค์อุปถัมภ์ พร้อมด้วยขุนนาง นางโนชา และชาวบ้านน้ำลัด ร่วมกัน       สร้างหีบพระธรรม โดยขอให้ได้พบสุข ๓ ประการ ซึ่งมีนิพพาน      เป็นยอด”

 

 

ขอขอบคุณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ที่เอื้อเฟื้อภาพถ่ายและข้อมูลหีบพระธรรม วัดบุญยืน
สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ ๑๔ : ๗๕๙๐-๗๕๙๒. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, ๒๕๔๒.
สุรสิทธิ์ ไทยรัตน์. คัมภีร์ใบลานในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๕๖.

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๔๗ เดือนมกราคม ๒๕๕๘

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล