วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ตำรับยอดเลขา จากคัมภีร์ “จรรยาบ่าว” วิธีฝึกผู้นำในยุค ร.ศ. ๑๓๑

ตำรับยอดเลขา
เรื่อง : พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

 

 


ตำรับยอดเลขา
จากคัมภีร์ “จรรยาบ่าว” 
วิธีฝึกผู้นำในยุค ร.ศ. ๑๓๑

 


ตอนที่ ๑๓
จรรยาข้อที่ ๒๔-๒๕

 

“ตำรับยอดเลขา” นำมาจากหนังสือ “จรรยาบ่าว” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ ๗๕ ปีที่แล้ว โดยไม่ได้ระบุชื่อ    ผู้เขียน เมื่อหลวงพ่อทัตตชีโวอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ท่านอยากให้ญาติโยมรู้เรื่องราวดี ๆ จึงเมตตานำมาเทศน์ให้ฟังเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ต่อมาพิมพ์รวมเล่มและตั้งชื่อใหม่ว่า “ตำรับยอดเลขา”       โดยลำดับเนื้อความตามต้นฉบับเดิม และคัดลอกของเก่าไว้ให้ดูด้วย เพื่อรักษาศัพท์บางคำไว้ และเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เขียน

 

๒๔
จงมีความอารีต่อเพื่อนบ่าวด้วยกัน

 

เมื่อได้รับความไว้วางใจจากนาย 
อย่าประพฤติตนเป็นคนลืมตัว
คือ อย่าตีตนเสมอท่าน และอย่ายกตนข่มท่าน
คนที่จะเป็นที่รักของเจ้านาย ของลูกน้อง 
ของเพื่อนร่วมงาน ต้องเป็นคนมีจิตใจเมตตา โอบอ้อมอารี
และไม่ลืมตัวเมื่อได้ดี ชีวิตจึงจะประสบความสำเร็จ

 


๒๔. จงมีความอารีต่อเพื่อนบ่าวด้วยกัน


    ถ้าเราเป็นคนเข้านอกออกในเป็นที่ไว้วางใจของท่านแล้ว เราต้องระมัดระวังตัวของเราให้ดี อย่าละล่ำละล้วงล่วงเกินถือว่าเป็นคนสนิท จะเข้าออกต้องพินิจพิเคราะห์ว่าท่านจะทำอันใดอยู่ที่ไหน นอนนั่งอย่างไรให้รู้ อย่าจู่ลู่ทลึ่งตึงตังให้เสียกิริยา และอีกประการหนึ่ง อย่าให้เป็นเช่นว่าบ่าวนั้นเป็นคนสนิท คนรักโปรดปรานของนาย ฤๅว่าเป็นวงษ์ญาติและเกี่ยวดองอะไรอยู่กับนายบ้างก็ดี ถืออำนาจนายไปเที่ยวข่มขี่ห่มเหงคะเนงร้าย ยกตนข่มท่าน เย่อหยิ่งแก่เพื่อนบ่าวด้วยกัน ฤๅไม่พอใจคนใดในส่วนตัว ก็ปรักปรำยุยงส่งเสริมทำแก่เขา จนได้รับความทุกข์ยากเสียผู้เสียคนไป เช่นนี้ก็ไม่ควรประพฤติ


    เราควรจะประพฤติเป็นธรรมและมีเมตตาจิตร์ คืออย่าส่งเสิมซ้ำเติมแก่ใครมากกว่าเหตุที่เป็น ฤๅว่าเหตุนั้นเป็นแต่การเขลารู้เท่าไม่ถึงการ ฤๅพลาดพลั้งไปด้วยความพลั้งเผลอ ถ้าเป็นการเล็กน้อย ก็ควรจะสั่งสอนแนะนำเอาเป็นการภาคทัณฑ์ไว้ อย่าให้เป็นการใหญ่โตถึงมูลนายได้ก็ดี    เพื่อนบ่าวด้วยกันก็จะรักใคร่นับถือเรา และเป็นกำลังของเราต่อไป และชื่อเสียงของเราก็ดีมีคนนับถือยำเกรง ส่วนนายเราก็ดีด้วยเหมือนกัน ที่มีบ่าวมีคนใช้ดีไม่ต้องทำอำนาจด้วยการข่มขี่        ก็นับว่าเรามีความกตัญญูต่อนายด้วย


    และคนที่จะเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ และเป็นมูลนายเขาต่อไป และให้มีผู้ยำเกรงนับถือนั้น ไม่เป็นด้วยอำนาจกดขี่ทำได้ทำเอาอย่างเดียว ต้องอาศรัยความหลักถานมั่นคงซื่อตรง และมีเมตตาจิตร์กว้างขวางเป็นต้น จึงจะนับว่าดีมีความจำเริญยืดยาว และธรรมดาคนที่จะกลัวเกรงด้วยอำนาจความดุดันผิด ๆ ถูก ๆ นั้น ก็เป็นแต่ต่อหน้า ฤๅที่อยู่ในบังคับทำได้ด้วยความจำเป็น นอกจากนั้นไปใครจะยอมใคร หนักมาก็หนักไป ไปจนถึงแก่นด้วยกัน เมื่อมีช่องทางเข้า เขาก็ตอบแทนโดย  เต็มที่เหมือนกัน ยอมกันกลัวเกรงกันจริง ๆ ก็ด้วยความนับถือต่างหาก เพราะฉะนั้น ควรจะรฦกให้มากในเรื่องนี้ จะดีทั้งประจุบันและอนาคตด้วย

 


    ข้อนี้สรุปความได้ว่า หากเราได้รับความไว้วางใจจากเจ้านาย หรือมีความเกี่ยวดองกับท่านเป็นกรณีพิเศษ ก็อย่าเหลิง ลืมตัว จนกลายเป็นละลาบละล้วงและลามปามได้


    คนที่มีนิสัยลามปามแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ ๑. พวกตีตนเสมอท่าน ๒. พวกยกตนข่มท่าน


    พวกตีตนเสมอท่านเป็นอย่างไร? สมัยที่หลวงพ่อเป็นนิสิต มีเพื่อนร่วมรุ่นที่มีฝีมือจนได้รับเลือกจากอาจารย์ให้มาเป็นผู้ช่วย เพื่อนบางคนก็วางตัวดี แต่บางคนไม่รู้จักการวางตัว แม้แต่เก้าอี้ของอาจารย์ก็ไปนั่ง เพราะถือว่าตนเป็นลูกศิษย์คนสนิท ต่อไปเริ่มละลาบละล้วงไปใช้ของส่วนตัวของอาจารย์ เช่น ถ้วย จาน แก้วน้ำของท่าน พอถือวิสาสะใช้ร่วมกันนาน ๆ เข้า แม้กระทั่งของกินของอาจารย์ก็หยิบมากิน จนในที่สุดก็ทำตัวเหมือนกับเป็นเจ้าของที่ทำงานนั้นเสียเอง บางคนหลวงพ่อก็เตือน แต่คนไหนเตือนแล้วไม่เชื่อก็ปล่อยเขา คนที่ลามปามเช่นนี้มักไม่เจริญ แม้จบการศึกษาไปทำงานทั้ง ๆ ที่เป็นคนมีฝีมือ แต่ก็ไม่ก้าวหน้า ไม่เป็นที่รักของเพื่อนร่วมงาน เพราะความที่ไปละเมิด    สิทธิของผู้อื่นจนเคยตัว เมื่อไม่มีใครอยากให้ร่วมงานด้วยก็โทษโชคชะตาฟ้าดิน แท้จริงเป็นเพราะตัวเองสันดานไม่ดีต่างหาก


    หลวงพ่อไม่ชอบนิสัยเช่นนี้และไม่เคยทำ สมัยที่เพิ่งได้พบหลวงพ่อธัมมชโย ตอนนั้นท่านยังเป็นนิสิตรุ่นน้อง ครั้งแรกที่พบก็นึกรักท่าน เห็นท่าทางดี นิสัยดี จึงตั้งใจว่าจะรับรุ่นน้องคนนี้มาเป็น   ลูกศิษย์ จะสอนวิชาหนังเหนียว อยู่ยงคงกระพันให้ แต่เมื่อได้สนทนากัน พบว่าท่านมีคุณธรรม    สูงกว่า จึงเชิญท่านมาพักที่บ้านของหลวงพ่อ บ้านพักนั้นมีห้องเดียวและเตียงเดียว เวลานอน      หลวงพ่อเชิญให้ท่านนอนบนเตียง ส่วนตัวเองนอนกับพื้น ถึงแม้ท่านจะเป็นรุ่นน้องและมีอายุน้อยกว่า แต่เพราะท่านมีคุณธรรมสูงกว่า จึงให้ความเคารพท่านตลอดมา ตั้งแต่ท่านยังไม่ได้บวช เคารพโดยถือเอาคุณธรรมเป็นที่ตั้ง แม้ปัจจุบันนี้ ถ้วยแก้วหรืออาสนะของท่านหลวงพ่อก็ไม่เคยถือวิสาสะนำมาใช้ เพราะให้ความเคารพว่าเป็นของครูบาอาจารย์ ซึ่งหลวงพ่อได้ปฏิบัติเช่นนี้มาตลอด


    โบราณสอนไว้ว่า “ไม่ควรตีตนเสมอท่าน” หากเราไปตีเสมอใคร ถ้าผู้นั้นเขามีคุณธรรมสูงกว่าเรา เราก็มองไม่เห็นคุณความดีของเขาเพราะใจเราบอด คนหลงตัวเองจะไม่มีโอกาสสร้างความดีได้เลย ตรงกันข้าม ถ้าเราไปพบผู้ที่มีคุณธรรมสูงกว่า และเรายกท่านไว้เหนือหัว เอาใจผูกไว้กับความดีของท่าน การทำอย่างนี้จะทำให้เรามีความอุตสาหะ ขวนขวายสร้างความดีตามท่าน แล้ววันหนึ่งเราก็จะสามารถปรับปรุงให้ดีเท่าท่านได้


    มีนิทานเกี่ยวกับเรื่องการตีตนเสมอท่านเล่าว่า มีสุนัขตัวหนึ่งรูปร่างใหญ่โตแข็งแรง แต่มีนิสัยเสีย ชอบระรานกัดผู้คนในหมู่บ้านไปทั่ว แม้แต่กำนันผู้ใหญ่บ้านก็ถูกกัดมาแล้ว ใครเดินผ่านต้องถือไม้เตรียมระวังไว้


    วันหนึ่ง เจ้าสุนัขตัวนี้ได้ยินคนเขาคุยกันเรื่องเสือว่าเป็นสัตว์ที่น่ากลัวจริง ๆ มันหูผึ่งตั้งใจฟังว่า เสือมันน่ากลัวอย่างไร ก็พอดีคนหนึ่งเอ่ยปากถามเพื่อนขึ้นมาว่า “ข้าไม่เคยเห็นเสือ มันน่ากลัวยังไงหรือ” เพื่อนตอบ “ปัดโธ่! ก็มันมีขาตั้ง ๔ ขา แล้วเขี้ยวมันก็คม” เจ้าสุนัขได้ฟังก็นึกว่า...    เราก็มี ๔ ขาเหมือนกัน เขี้ยวเราก็คม ขนาดกำนันเรายังเคยกัดซะจมเขี้ยวไปเลย


    “เล็บมันก็คม ตะปบทีเนื้อหลุดติดมาเลย ตะปบกะโหลกใครหนังหัวหลุดติดมาทั้งหัวเชียวละ” เพื่อนคนนั้นบรรยายต่อ เจ้าสุนัขมันนึกในใจว่า... เล็บเราก็คม ยังเคยตะปบถลกหนังทั้งแมวทั้งหนูตายมาตั้งหลายตัวแล้ว เสียงคนนั้นอธิบายต่อว่า “อย่าว่าแต่เขี้ยวมันเลย เพียงแค่ได้ยินเสียงมันคำรามก็ตกอกตกใจขาแข้งสั่นแทบจะวิ่งไม่ไหวแล้ว” เสียงเสือจะสักเท่าไรกัน เสียงเราก็ใช่ย่อย คำรามก็ดูน่ากลัว เจ้าสุนัขนึกผยองเอาตัวเองไปเทียบกับเสือ


    วันต่อมา มันได้ยินเขาคุยกันว่ามีเสือมาเพ่นพ่านอยู่ชายป่า มันก็ได้แต่นึกว่า อย่างเสือจะ     น่ากลัวแค่ไหนกัน แล้วมันก็เดินเข้าป่า หมายจะสู้กับเสือดูสักครั้ง แต่เมื่อไปเจอเสือเข้าจริง ๆ ยังไม่ทันได้แยกเขี้ยวก็ถูกเสือตะปบเอาไปเป็นอาหารเสียแล้ว


    บุคคลที่ตีตนเสมอท่าน ชอบลามปามเช่นนี้ จะไม่สามารถสร้างคุณความดีได้ แล้วชาตินี้     อย่าไปหวังเลยว่าจะมีศักดิ์ศรีเท่าเขา


    พวกยกตนข่มท่านเป็นอย่างไร? คิดว่าเราคงจะเคยพบคนประเภทที่มักยกตัวว่าสำคัญเหนือกว่าเขา ส่วนมากคนสนิทของเจ้านายมักจะถือเอาเหตุนี้มาข่มเพื่อนร่วมงาน บุคคลเช่นนี้เมื่อแรกอาจจะได้รับความเกรงใจ เพราะมีปมเด่น มีความสามารถมากกว่า แต่อย่าลืมว่าความรู้ความสามารถมันเรียนทันกันหมด วันหนึ่งเกิดมีผู้ที่เหนือกว่าเป็นที่รักคนใหม่ของเจ้านาย ความอวดตัวจะกลับมาทำร้ายตัวเอง เพราะไม่มีใครต้องการร่วมงานด้วย ในที่สุดคนประเภทนี้จะตกต่ำ ยิ่งถ้ามีนิสัยชอบจับผิดและให้ร้ายผู้อื่นจะยิ่งตกต่ำเร็วขึ้น เราจึงควรมีเมตตาจิตต่อเพื่อนร่วมงาน เขาทำสิ่งใดผิดพลาดก็อย่าไปซ้ำเติม ช่วยกันแก้ไขข้อผิดพลาดนั้นดีกว่า สมัยก่อนที่หลวงพ่อจะบวช เมื่อเพื่อนร่วมงานหรือลูกน้องทำงานผิดพลาด หลวงพ่อจะกล่าวตักเตือนและช่วยกันกลบเกลื่อน       เหตุร้ายให้เบาลงและแก้ไขให้ถูกต้อง เรื่องที่รุนแรงสาหัสก็พยายามแก้ไขให้เหลือน้อย ถ้าไม่จำเป็น   จริง ๆ ก็จะไม่รายงานผู้ใหญ่ ยกเว้นแต่เรื่องที่เสียหายมากเท่านั้น


    หลวงพ่อปฏิบัติเช่นนี้จึงมีเพื่อนค่อนข้างมาก เพื่อนร่วมงานและลูกน้องมักเกรงใจ เพราะเราไม่ไปซ้ำเติมเขา เรามีทั้งพระเดชและพระคุณ เปรียบเสมือนเป็นทั้งพระอาทิตย์และพระจันทร์      เป็นพระอาทิตย์ คือให้ความคุ้มครองแก่เขาได้ สิ่งใดที่จะเป็นอันตราย น่าหวาดกลัว เราป้องกันภัยนั้นได้ เป็นที่น่าเกรง คือมีพระเดช เป็นพระจันทร์ คือให้ความอบอุ่นใจ เขาขาดแคลนสิ่งใด        เช่น อาหาร เสื้อผ้า เราสามารถให้เขาได้ เป็นที่น่ารัก คือมีพระคุณ


    บุคคลที่เป็นทั้งพระอาทิตย์และพระจันทร์หรือมีทั้งพระเดชและพระคุณจึงจะเป็นผู้นำได้       ตรงกันข้ามกับผู้ที่ใช้อำนาจมาข่มขู่ เขาก็เกรงเพียงชั่วครู่ชั่วยาม อำนาจประเภทนี้ไม่ยั่งยืน วันใดหมดอำนาจก็รังแต่จะมีคนสมน้ำหน้า


    ฉะนั้น ถ้าต้องการเป็นที่รักของเพื่อนร่วมงาน ของลูกน้อง และของเจ้านาย เราจะต้องมีจิตใจเมตตาโอบอ้อมอารี ไม่ตีตนเสมอท่านและไม่ยกตนข่มท่าน ชีวิตจึงจะประสบความสำเร็จ

 

๒๕
ต้องรู้ชนิดแขกที่มาหานาย

 

การกลั่นกรองแขกที่มาหานาย
เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน
เพราะเป็นการเคารพในปฏิสันถาร ทำดีก็ได้มิตร 
ทำไม่ดีก็ก่อศัตรู จึงต้องรู้จักหาข้อมูลไว้ล่วงหน้า
ว่าแขกที่มาพบเป็นใคร คุ้นเคยกับนายมากน้อยเพียงใด 
มาพบด้วยเรื่องใด ดีหรือร้าย สำคัญและเร่งด่วนเพียงใด 
มาในเวลาที่นายสะดวกหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ต้องสอบถามอย่างสุภาพนุ่มนวล
และควรเผื่อเวลานัดไว้ล่วงหน้า จะได้ไม่เสียเวลาทั้งสองฝ่าย

 

๒๕. ต้องรู้ชนิดแขกที่มาหานาย

 

    กับอนึ่งว่าแขกไปไทยมาก็ดี เราต้องสังเกตสังกาไว้ด้วยว่า แขกที่มานั้นคือใคร เป็นคนคุ้นเคยสนิทสนมกับนายหรือไม่ หรือว่าเป็นคนแต่เผิน ๆ เหินห่างกัน ถ้าเป็นแต่เพียงห่าง ๆ กัน เราก็ควรเชื้อเชิญให้พักในที่อันสมควรพัก คือที่รับแขกธรรมดา ถ้าเป็นคนสนิทชิดชมกับนายเรา ๆ ก็ควรเชื้อเชิญให้พักในที่อันควรพักแห่งนายเราเคยรับรอง และเราต้องหาช่องเข้าไปร่ำเรียนให้ท่าน ทราบ ถ้าเราไม่รู้จักต้องถามนามเข้าไปให้ทราบด้วย


    แม้ว่าท่านนอนหลับ เราต้องเรียนนายผู้หญิงให้ทราบว่าท่านคนนั้นมาหา ควรจะปลุกหรือไม่นั้นต้องเรียนหาฤๅนายผู้หญิงท่านดูก่อน แต่เราต้องรู้ด้วยว่า เป็นราชการด่วน หรือการสำคัญ   อันใดด้วย หรือว่าท่านผู้หญิงก็นอนหลับด้วย หรือไม่อยู่ก็ดี ถ้าเช่นนั้นเราต้องพิจารณาดูอีกว่า   ถ้าเป็นการด่วนการสำคัญ เราต้องหาช่องปลุก


    เราเคยปลุกได้ หรือคนใดที่ควรปลุกได้ ก็ต้องบอกให้ปลุก แต่ต้องควรปลุกจึงปลุก ไม่ใช่สุดแต่ใครมาหาก็ปลุก คนเลว ๆ มาหาเพื่อธุระประโยชน์ของตน มีมายืมเงิน ขอเงิน ขอให้ช่วยเรื่องความ ขอทำงาน และขอกรุณาอะไรต่าง ๆ เป็นต้น อยู่ในเรื่องกวนใจเช่นนี้ไม่ควรจะปลุก


    ถ้าแม้เป็นเจ้านาย หรือท่านผู้มีบรรดาศักดิ์สูง หรือท่านผู้ที่นายเรานบน้อมนับถือ ถ้าเช่นนั้นก็จำจะต้องปลุก และที่ว่าเจ้านายและท่านผู้มีบรรดาศักดิ์นั้น จะต้องรู้ว่าใครเป็นอย่างไรต่ออย่างไรด้วย

 

    เรื่องนี้ดูเหมือนง่าย แต่ในเชิงปฏิบัติค่อนข้างยาก หลวงพ่อขอยกตัวอย่างเรื่องในวัดของเรา หลายคนที่เคยมาวัดพระธรรมกายคงจะเคยได้ยินว่า ทั้งเจ้าอาวาสและรองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เป็นบุคคลที่เข้าพบได้ยากเป็นอย่างยิ่ง อดีตนายอำเภอคลองหลวงท่านหนึ่งถึงกับบ่นว่า “ไปพบรัฐมนตรีมหาดไทยยังง่ายกว่าพบเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย”


    หลวงพ่อขอถือโอกาสนี้อธิบายถึงที่มาของคำพูดดังกล่าวว่า พระสงฆ์ที่เข้ามาบวชใน      พระพุทธศาสนานั้น มีจุดมุ่งหมายของการบวชแตกต่างกัน มีทั้งที่มาบวชเพราะเห็นว่าเป็นพระแล้วสบายดี จึงบวชต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ชอบใจจะสึกเมื่อไรก็ย่อมได้ มีทั้งมาบวชเพื่อศึกษาหาความรู้      ทางธรรม  และที่สำคัญมีทั้งประเภทที่บวชตลอดชีวิต อุทิศเพื่อพระพุทธศาสนา ตั้งใจจะปราบกิเลสมุ่งไปพระนิพพาน ซึ่งในขณะนี้มีพระสงฆ์จำนวนไม่น้อยที่มีความมุ่งมั่นเช่นนี้จำพรรษาอยู่ที่วัดพระธรรมกาย


    หลวงพ่อธัมมชโยท่านบวชเพื่อมุ่งพระนิพพาน ในแต่ละวันท่านจะตื่นแต่เช้า ประมาณตี ๔ ครึ่ง ถึงตี ๕ เพื่อนั่งสมาธิ จนกระทั่งได้เวลาฉันเช้า หลังจากนั้นถ้ามีการงานท่านจะเรียกประชุมพระและเจ้าหน้าที่เพื่อสั่งงาน กว่าจะประชุมสั่งงานเสร็จเรียบร้อยก็ประมาณเก้าโมงเช้า ช่วง ๙ - ๑๑ โมงเช้านี้ท่านทำสมาธิภาวนาต่อ ด้วยความที่พวกเราทราบถึงคุณค่าของการทำภาวนาว่ามีมากมาย ฉะนั้นพระภิกษุหรือเจ้าหน้าที่วัดก็ดีจะไม่เข้าไปรบกวนท่านในช่วงดังกล่าวเป็นอันขาด นอกจากเป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ


    ส่วนในช่วงบ่าย จะเป็นช่วงเวลาที่ท่านค้นคว้าหาความรู้จากตำราบ้างหรือวางแผนงานต่าง ๆ บ้าง รวมทั้งเป็นช่วงเวลาที่ท่านรับแขกด้วย ฉะนั้นหากมีใครมาหาท่านในตอนเช้า เรามักจะขอให้รอจนกระทั่งท่านฉันเพลเสร็จ นอกเสียจากว่าจะเป็นเรื่องคอขาดบาดตายจริง ๆ เราไม่เคยโกหกว่าท่านไม่อยู่ แต่เราจะบอกตามตรงว่า ท่านกำลังทำสมาธิภาวนา


    เหตุผลที่ท่านแบ่งเวลาเช่นนี้ เพราะช่วงเช้าอากาศยังสบาย เป็นช่วงเวลาที่เหมาะต่อการนั่งสมาธิ ส่วนช่วงบ่ายอากาศเริ่มร้อนอบอ้าวจึงใช้เวลาช่วงบ่ายสำหรับทำงานหรือรับแขก ถ้าไม่แบ่งเวลาดังนี้ก็จะไม่สามารถหาเวลาทำสมาธิภาวนาเพื่อปราบกิเลสในตัวได้ ช่วงเช้าจึงเป็นเรื่องของกิจส่วนตัว คือนั่งสมาธิ ส่วนช่วงบ่ายเป็นเรื่องของงาน เรื่องของสังคมไปจนกระทั่งเย็น จนกระทั่งเวลาประมาณ ๖ โมงครึ่ง ถึง ๓ ทุ่ม ท่านจะนำพระภิกษุและสามเณรนั่งสมาธิ จากนั้นหากใครมีงานใดที่ยังติดขัดหรือมีสิ่งใดที่ต้องรายงานให้ท่านทราบก็จัดการกันไป กว่าท่านจะได้จำวัดก็เกือบเที่ยงคืน บางครั้งก็ตีหนึ่ง แต่ไม่ว่าท่านจะจำวัดดึกดื่นเพียงใดก็ตาม ประมาณตี ๔ ครึ่ง ถึงตี ๕ ท่านจะต้องลุกขึ้นมานั่งสมาธิเสมอ แม้ว่าได้แบ่งเวลาเช่นนี้แล้ว ท่านยังปรารภว่ามีเวลานั่งสมาธิในวันหนึ่ง ๆ น้อยไป คือเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น


    หลวงพ่อเองก็เช่นกัน หลังจากฉันเช้าแล้ว จัดการเรื่องงานอีกประมาณ ๒ ชั่วโมง ไปจนถึง   ๙ โมงเช้า ช่วง ๙ - ๑๑ โมงเช้า ก็จะขอนั่งสมาธิ นอกเสียจากมีงานมา ก็ขอให้ทำภาวนาได้เพียง ๑ ชั่วโมง คือจาก ๑๐ - ๑๑ โมงเช้าก็ยังดี ถ้าหากมีใครมาขอพบในช่วงนั้นก็ขอให้รอเถอะ อย่าว่ากันเลย ส่วนในตอนบ่ายจึงให้เวลากับทุก ๆ คน


    ในตอนกลางคืนหลวงพ่อใช้เวลานั่งสมาธิราว ๒ ทุ่ม หรือ ๒ ทุ่มครึ่ง จนถึงประมาณ ๔ ทุ่มทุกวัน จัดเวลาให้เหลื่อมกับหลวงพ่อธัมมชโยนิดหน่อย เผื่อใครมีความจำเป็นจริง ๆ ต้องการพบหลวงพ่อธัมมชโยแล้วติดเวลาสมาธิของท่าน ก็ยังอาจพบหลวงพ่อได้ ที่ต้องจัดเวลาอย่างนี้ก็เพื่อการปฏิบัติธรรมนั่นเอง ไม่อย่างนั้นใครอยากจะพบก็พบได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ก็เกินไป ไม่ต้องทำอะไรกันแล้ว ตรงนี้ขอความเห็นใจด้วย ไม่ใช่พบยากหรอก แต่ขอให้มาให้ถูกเวลาก็พบได้ง่าย ๆ ไม่มีปัญหาอะไร


    เรื่องโทรศัพท์ก็เช่นกัน หลวงพ่อเคยเอาเครื่องวางไว้หัวนอน เผื่อว่าใครมีอะไรรีบด่วนจะดึกดื่นขนาดไหนก็ยังติดต่อหลวงพ่อได้ ก็ปรากฏว่าอยู่มาวันหนึ่ง มีโทรศัพท์มาตอนตี ๑ กว่า สะดุ้งตื่นขึ้นรับสาย กลายเป็นพวกโทร.ผิด ปกติหลวงพ่อจำวัดดึกอยู่แล้ว คือสรงน้ำราวเที่ยงคืนแล้วจำวัด เจอแบบนี้เข้าตกลงคืนนั้นไม่ต้องพักผ่อนกัน


    ส่วนในแง่ของฆราวาสนั้น ถ้าเรามีหน้าที่ต้อนรับแขกไปใครมา ขอให้ทำความรู้จัก ดูความสำคัญของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเจ้านายของเราให้ดี ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นรับแขกไม่เหมาะสม เขาก็จะตั้งตัวเป็นศัตรูกับนายเรา หรือถ้าหากปล่อยปละละเลยเกินไปจนล้ำเวลาพักผ่อนก็ไม่เหมาะสม เพราะฉะนั้นใครที่จะเจริญก้าวหน้าต่อไปข้างหน้า ต้องพยายามเข้าใจเรื่องนี้ให้ดี หมั่นสังเกตจากประสบการณ์ แล้วค่อย ๆ ฝึกต่อไปเถอะจะดีเอง 


         (อ่านต่อฉบับหน้า)

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๔๗ เดือนมกราคม ๒๕๕๘

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล