วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ กากะเยีย ขั้นกะเยีย... ผสานศิลป์ ถินอีสาน

บทความน่าอ่าน     
เรื่อง : Tipitaka (DTP)

 

กากะเยีย ขั้นกะเยีย... 

ผสานศิลป์ ถิ่นอีสาน

 


    ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๒ ดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงแถบประเทศลาว ตลอดจนภาคอีสานของไทยเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรล้านช้างที่มีความรุ่งเรืองด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช   แห่งล้านช้างเป็นยุคที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับอาณาจักรล้านนา จึงได้น้อมรับเอาอิทธิพลทางพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมการจารคัมภีร์ใบลานด้วยอักษรธรรมตามแบบฉบับล้านนามาพัฒนาจนเป็นอักษรธรรมอีสานหรืออักษรธรรมลาวเพื่อใช้จารจารึกคัมภีร์ในอาณาจักรล้านช้าง

 


(อักษรธรรมอีสาน)
(อักษรธรรมล้านนา)

 


ความคล้ายคลึงกันระหว่างอักษรธรรมอีสานและอักษรธรรมล้านนา
ในข้อความว่า นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺธสฺส

 

    ปัจจุบันในแดนดินถิ่นอีสานยังปรากฏคัมภีร์ใบลานเป็นหลักฐานความรุ่งเรืองเมื่อครั้งอดีต   มีทั้งหนังสือก้อมหรือลานก้อม คือ หนังสือใบลานขนาดเล็ก ความยาวประมาณ ๑ ฟุต จารึก    คดีทางโลก เช่น คาถาอาคม ตำรายา หรือพิธีกรรม เป็นหนังสือส่วนบุคคลที่นิยมเก็บไว้ตามบ้าน และหนังสือผูกหรือลานผูก ซึ่งจารจารึกคดีทางธรรม เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา จัดเก็บรักษาตามวัดวาอาราม ลักษณะการวางและการเก็บรักษาหนังสือใบลานก่อให้เกิดวัฒนธรรมท้องถิ่นรวมทั้งวัตถุศิลป์รูปแบบ   หลากหลายที่คนสมัยก่อนประดิษฐ์ขึ้นเพื่อรองรับคัมภีร์ใบลานให้เหมาะกับประโยชน์ใช้สอยอีกด้วย

 

ในอดีตพระภิกษุนำความรู้ที่จารจารึกไว้ในคัมภีร์ใบลานมาอบรมสั่งสอนกุลบุตร


    กากะเยีย เป็นอุปกรณ์สำหรับวางเพื่ออ่านคัมภีร์ เป็นเสมือนโต๊ะอ่านใบลาน ทำด้วยไม้ ๘ ชิ้น ร้อยเป็นโครงไขว้กันด้วยเชือก สามารถกางออกและพับเก็บได้ง่าย สะดวกในการพกพา การออกแบบสอดคล้องกับวัฒนธรรมการนั่งบนพื้นเรือน ให้เอื้อต่อการเล่าเรียนเขียนอ่าน เพราะสามารถเปิดหน้าลานวางบนกากะเยียให้แผ่นคัมภีร์อยู่สูงจากพื้น  โดยไม่ต้องประคองไว้ให้หนักมือ เป็นการถนอมรักษาคัมภีร์ใบลานไปในตัว เพราะการถือใบลานนาน ๆ เหงื่อและน้ำมันจากมือจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้  ใบลานเสื่อมสภาพ ทั้งยังเป็นการแสดงออกถึง  ความเคารพโดยยกแผ่นลานให้สูง ไม่วางราบไปกับพื้นเรือน ในแถบอีสานพบกากะเยียที่มีฐานไขว้กันเหมือนโต๊ะพับ และตกแต่งด้วยศิลปะกลุ่มวัฒนธรรมลาวชาวอีสาน

 

กากะเยียพุทธหัตถศิลป์ของอุบลราชธานี โครงสร้างส่วนขาไขว้กันเหมือนโต๊ะพับ
ด้านล่างสลักลายกลีบบัว ส่วนโค้งด้านบนรองรับคัมภีร์ใบลาน อายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕


    อุปกรณ์วางคัมภีร์ใบลานอีกประเภทหนึ่งที่พบในถิ่นอีสาน บางตำราเรียก ขั้นกะเยียแบบขั้นบันได มีลักษณะคล้ายแผงขั้นบันได ใช้จัดเก็บวางคัมภีร์เพื่อเตรียมใช้งาน ไม่ใช่เพื่อการอ่าน โดยห่อผ้าหรือกล่องคัมภีร์จะวางอยู่บนโครงสร้างไม้ที่ยื่นออกมา รับน้ำหนัก มีจำนวนขั้นเป็นเลขคี่ ซึ่งเชื่อมโยงกับการสร้างบันไดตามคติโบราณว่า เลขคู่บันไดผี เลขคี่บันไดคน ขั้นกะเยียแบบขั้นบันไดวางคัมภีร์ได้   ๓-๙ มัด และมีการแกะสลักลวดลายหรือประดับด้วยกระจกสีเพื่อตกแต่งส่วนยอดและส่วนฐาน    เพื่อความงดงาม

 

ขั้นกะเยียแบบอย่างขั้นบันไดณ วัดเกษมสำราญ จ.อุบลราชธานี สำหรับวางใบลาน จำนวน ๕ มัด


    นอกจากนี้ยังมีขั้นกะเยียขนาดใหญ่เป็นอุปกรณ์วางคัมภีร์ใบลานเพื่อการ       จัดเก็บ เป็นเสมือนตู้เก็บคัมภีร์ใบลาน มีลักษณะเป็นชั้นวางคัมภีร์โปร่ง ๆ สร้างไว้ภายในห้องโถงกลางหอไตร สามารถวางคัมภีร์ได้เป็นจำนวนมาก ความสูงของชั้นขึ้นอยู่กับความสูงของหลังคาหอไตร ซึ่งสัมพันธ์กับระบบระบายอากาศ ที่ช่วยควบคุมอุณหภูมิความชื้นจากสระน้ำ      โดยรอบที่นิยมขุดไว้รอบหอไตร ช่วยให้   ใบลานไม่แห้งกรอบเนื่องจากความร้อน  ของสภาพอากาศ

 

ขั้นกะเยียสายสกุลช่างพื้นเมืองแบบช่างลาวหลวง ณ วัดมหาธาตุ จ.ยโสธร เป็นหนึ่งในวัตถุศิลป์ถิ่นอีสาน ที่มีความงดงามสมบูรณ์ที่สุดชิ้นหนึ่ง มีสิงห์กะโล่เทินแผงขั้นกะเยียไว้บนหลังและส่วนยอดประดับด้วยลวดลายแกะสลักแบบศิลปะล้านช้าง


    กากะเยียและขั้นกะเยีย...วัตถุศิลป์   รูปแบบของวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานตาม  สมัยนิยม มีแนวคิดโดดเด่นเฉพาะตนในการดูแล เก็บรักษา และวิธีการนำคัมภีร์มา      เล่าเรียนอ่านเขียน เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ย้อนไปไกลถึงสมัยล้านช้าง สืบทอดต่อมาให้ลูกหลานแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้เห็นถึงความเคารพศรัทธาที่เปี่ยมล้นในพระพุทธ-ศาสนา และไม่ว่าพระพุทธศาสนาจะไปปักหลักอยู่ ณ ถิ่นใด การทุ่มเทสติปัญญาสร้างรูปแบบในการธำรงไว้ซึ่งคำสอนของพระพุทธองค์  ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมพื้นถิ่นแต่ละแห่ง เป็นกระจกสะท้อนให้นำคำสอนที่จารจารึก ในคัมภีร์ใบลานมาประยุกต์ใช้ในการ         ดำเนินชีวิต และมองศิลปวัตถุเป็นมรดกศิลป์ แบบอย่างแห่งศรัทธาที่มอบไว้ให้ด้วย      ความเมตตาของบรรพบุรุษ

 

ห่อผ้าคัมภีร์ใบลานบนขั้นกะเยียขนาดใหญ่ภายในห้องโถง ณ หอไตรกลางน้ำ วัดมหาธาตุ จังหวัดยโสธร ทรงเครื่องแบบสายสกุลช่างพื้นเมืองแบบช่างลาวหลวง สถาปัตยกรรม รวมทั้งการทำผนังลูกกรงโปร่งภายในห้องโถงช่วยระบายอากาศจากสระน้ำโดยรอบ ช่วยยืดอายุใบลานให้อยู่ในสภาพอากาศที่เหมาะสม

 

ติ๊ก แสนบุญ, พุทธหัตถศิลป์อีสาน เนื่องในวัฒนธรรมทางภาษาของ “คัมภีร์ใบลาน”, ๒๕๕๒.

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๔๘ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๘

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล