วัฒนธรรมชาวพุทธ มารยาท การดูแลสุขภาพ พิธีกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

วัฒนธรรมชาวพุทธมารยาทในการยืน

มารยาทชาวพุทธ

       มารยาทหมายถึง ระเบียบแบบแผน หรือขอบเขตอันเป็นข้อจำกัดที่บุคคลพึงประพฤติปฏิบัติเพื่อความสงบสุขทั้งแก่ตนเอง และส่วนรวมมารยาทนั้นมุ่งการประพฤติปฏิบัติ ให้เกิดขึ้นทางกาย และทางวาจา ซึ่งเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ง่าย 
 
        มารยาท และการวางตัวที่เหมาะสม จึงเป็นปราการด่านแรกที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้ผ่านการอบรมฝึกฝนตนมาดี มีคุณสมบัติของผู้ดีมีวัฒนธรรมอันเจริญ สามารถยังจิตของผู้พบเห็นให้ยินดีเลื่อมใส นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงถึงความเป็นผู้มีความเคารพ อ่อนน้อม ส่งผลให้เกิดความเคารพในพระรัตนตรัย และเคารพในการปฏิสันถารอีกด้วย มารยาทการยืน การเดิน การนั่ง และการนอน 
 
 
มารยาทในการยืน
 
 
การยืนตามลำพัง
 
         ขาทั้งสองข้างชิดกัน หรืออยู่ในท่าพักแขน ปล่อยแนบลำตัวหรือจะประสานไว้ข้างหน้าเล็กน้อย จะยืนเอียงข้างนิดหน่อยก็ได้  แต่ต้องให้อยู่ในท่วงที ที่สง่างามอย่ายืนขากาง แกว่งแขน หันหน้าไปมา ลุกลี้ลุกลนหรือหลุกหลิก ล้วงกระเป๋า แคะ แกะ เกา เป็นต้น  
 
 
การยืนเฉพาะหน้าผู้ใหญ่
 
      ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรยืนตรงหน้าผู้ใหญ่ แต่ควรยืนเอียงไปทางใดทางหนึ่ง ดังนี้คือ ยืนตรง ขาชิดปลายเท้าห่างกันเล็กน้อย มือทั้งสองแนบชิดข้าง ท่าทางสำรวม  
 
การประสานมือทำได้ ๒ วิธี
 
๑. คว่ำมือซ้อนกัน จะเป็นมือไหนทับมือไหนก็ได้
 
๒. หงายมือทั้ง ๒ สอดนิ้วเข้าระหว่างช่องนิ้วของแต่ละนิ้ว 

 

มารยาทในการเดิน 

 
วิธีเดินเข่า 
 
 
๑. นั่งคุกเข่าตัวตรง มือทั้งสองข้างปล่อยตามสบายอยู่ข้าง ๆ ลำตัว 
 
๒. ยกเข่าขวา-ซ้ายก้าวไปข้างหน้าสลับกันไปมา ปลายเท้าตั้งช่วงก้าวของเข่ามีระยะพองาม ไม่กระชั้นเกินไป มือไม่แกว่ง หากผ่านผู้ใหญ่ให้ก้มเล็กน้อย ขณะเดินเข่าระมัดระวังอย่าให้ปลายขาทั้งสองแกว่งไปมา ขณะก้าวเข่าอย่าให้ปลายเท้าลากพื้นจนมีเสียงดัง 
 
๓. เมื่อจะลุกจากการเดินเข่า ให้ชันเข่าข้างหนึ่งข้างใดมาข้างหน้า อีกข้างหนึ่งกดลงไปกับพื้นแล้วยกตัวขึ้นช้า ๆ 
 
 
การเดินตามลำพัง
 
       ให้เดินอย่างสุภาพหลังตรงช่วงก้าวไม่ยาวหรือสั้นจนเกินไป แกว่งแขนแต่พองาม สำหรับผู้หญิงขณะเดินให้ระมัดระวังการแกว่งแขนและสะโพกให้อยู่ในอิริยาบถที่เป็นไปโดยธรรมชาติ การเดินกับผู้ใหญ่ให้เดินไปทางซ้ายค่อนไปทางหลังเล็กน้อยเว้นแต่ต้องเดินในที่จำกัด จึงเดินตามหลังเป็นแถวท่าเดินต้องนอบน้อมช่วงก้าวพองาม อย่าเดินส่ายตัวหรือโคลงศรีษะ            
 
       ในกรณีที่ต้องเดินตามหลังระยะใกล้ ๆ ต้องคอยสังเกตว่า ผู้ใหญ่ที่เดินนำอยู่นั้นจะหยุด ณ ที่แห่งใด จะได้ชลอฝีเท้าลง ป้องกันมิให้เดินชนท่าน 
 
 
การคลานลงมือ
 
๑. อาวุโสมากและคุ้นเคยกัน ขณะนั่งพื้นหรือเก้าอี้
 
๑.๑ ให้เดินเข่ามาใกล้พอสมควร
 
๑.๒ นั่งพับเพียบเก็บปลายเท้า กราบตั้งมือ ๑ ครั้ง
 
๑.๓ เมื่อจะผ่านให้คลานลงมือ ปลายเท้าตั้งกับพื้น
 
๑.๔ ถ้าผู้ใหญ่ทักทายให้นั่งพับเพียบ เก็บปลายเท้ามือประสานบนตัก เมื่อจบการสนทนาให้กราบ ๑ ครั้งแล้วเดินเข่าผ่านไป
 
๑.๕ หากอาวุโสมากแต่ไม่คุ้นเคยกัน ให้ค้อมตัวลงแล้วเดินเข่าผ่านไป ไม่ต้องคลานมือ และไม่ต้องกราบ 
 
 
การเดินผ่านผู้ใหญ่
 
๒. อาวุโสมาก และคุ้นเคย ขณะยืนอยู่
 
๒.๑ ให้เดินเข้าไปใกล้พอสมควร สำหรับชายให้ค้อมตัวลงไหว้แบบไหว้บิดามารดา ครู อาจารย์หรือผู้มีอาวุโสมากสำหรับผู้หญิงให้ย่อตัวลงไหว้
 
๒.๒ ถ้าผู้ใหญ่ทักทายให้มือประสานกัน และเมื่อจบการสนทนาให้ไหว้อีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงเดินค้อมตัวเล็กน้อยผ่านไป
 
๒.๓ หากอาวุโสมากแต่ไม่คุ้นเคย ขณะยืนให้ค้อมตัวลงขณะเดิน ไม่ต้องไหว้
 
 
๓. อาวุโสไม่มากนักแต่คุ้นเคยกัน ขณะนั่งเก้าอี้หรือยืน
 
๓.๑ ให้เดินเข้าไปใกล้พอสมควร สำหรับชายให้ค้อมตัวลงไหว้ แบบไหว้ผู้ที่เคารพนับถือทั่วไป สำหรับผู้หญิงให้ย่อตัวลงไหว้ เมื่อจะผ่านให้เดินค้อมตัวผ่าน ไม่แกว่งแขนมืออยู่ข้างลำตัว หากท่านทักทายให้ยืนค้อมตัวรับฟังมือประสานกัน เมื่อจบการสนทนาแล้วไหว้อีกครั้ง แล้วค้อมตัวเดินผ่านไป
 
๓.๒ ถ้าไม่คุ้นเคยกันขณะนั่งเก้าอี้หรือยืนอยู่ ให้ค้อมตัวเดินผ่านไป ไม่ต้องไหว้ ถ้าอาวุโสไม่มากนักหรือเท่าเทียมกันให้ค้อมตัวลงต่ำ และกล่าวคำขอโทษก่อนเดินผ่าน
 
 
 
การเดินผ่านหลังผู้อื่น
 
 
๑. ถ้าอาวุโสกว่า ไม่ว่าผู้นั้นจะนั่งกับพื้น นั่งบนเก้าอี้หรือยืนอยู่ให้ค้อมตัวลงขณะเดินผ่าน มือทั้งสองข้างแนบลำตัว
 
๒. ถ้าเป็นการเดินผ่านด้านหลังอย่างใกล้ชิดจนถึงต้องเบียดไป ถ้าเป็นผู้อาวุโสมาก ให้ค้อมตัวและไหว้พร้อมกับกล่าวคำขอโทษก่อนจะเดินผ่าน
 
๓. ถ้าอาวุโสไม่มากนักหรือเท่าเทียมกันให้ค้อมตัวลงต่ำและกล่าวคำขอโทษก่อนเดินผ่านไม่ต้องไหว้ การเดินผ่านผู้ใหญ่
 
น่าเสียดาย...ถ้าไม่รู้    
  • เมื่อเดินเข้าหาหรือผ่านผู้ใหญ่ ให้อยู่ในอิริยาบถสำรวม ไม่พูดคุยกัน
  • ขณะเดิน ต้องชำเลืองทางไว้เสมอ เพื่อป้องกันการสะดุด หรือชนสิ่งของ
  • อย่าเดินชิดผู้ใหญ่จนเสื้อผ้า, กระเป๋าถือหรือส่วนของร่างกายไปถูกร่างกายของผู้ใหญ่

 

มารยาทในการนั่ง 

การนั่งพับเพียบ    
 
       เป็นการนั่งที่นิยมกันในหมู่ชาวพุทธ ถือว่าสุภาพเรียบร้อย สวยงามน่าดูน่าชมปฏิบัติกันมาแต่โบราณกาลจนถึงทุกวันนี้ นิยมปฏิบัติประจำทั้งทางโลก และทางธรรม โดยเฉพาะขณะเข้าร่วมประชุม ณ สถานที่ซึ่งต้องนั่งกับพื้น
 
 
วิธีนั่งพับเพียบ
 
 
      ๑.การนั่งพับเพียบขวา ให้นั่งพับขาขวาปลายเท้าขวาหันไปทางด้านหลัง หงายฝ่าเท้าซ้ายขึ้นวาง ขาขวาทับฝ่าเท้าซ้าย หรือเพียงแค่แตะจรดขาขวาบริเวณหัวเข่า ตั้งกายให้ตรงระวังอย่าให้นิ้วเท้าซ้ายเกินหัวเข่าขวาออกมาข้างหน้า (ดังรูป) 
 
      ๒.การนั่งพับเพียบซ้าย ให้นั่งพับขาซ้ายปลายเท้าซ้ายหันไปด้านหลัง หงายฝ่าเท้าขวาขึ้นวาง ขาซ้ายทับฝ่าเท้าขวา หรือเพียงแค่แตะจรดขาขวาบริเวณหัวเข่า ตั้งกายให้ตรง ระวังอย่าให้นิ้วเท้าขวาเกินหัวเข่าออกมาข้างหน้า
 
 
 
วิธีการเปลี่ยนท่านั่งพับเพียบ 
 
        ใช้มือทั้งสองยันที่หัวเข่าทั้งสอง หรือยันพื้นด้านข้างลำตัวหรือด้านหน้า แล้วกระหย่งตัวขึ้นพร้อมกับพลิกเปลี่ยนเท้าพับไปอีกข้างหนึ่ง โดยพลิกเท้า ผลัดเปลี่ยนกันอยู่ด้านหลังไม่นิยมยกมาผลัดเปลี่ยนทางด้านหน้า
 
 
การนั่งขัดสมาธิ
 
        เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นิ้วหัวแม่มือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย  ตั้งกายให้ตรงอย่างสบาย ๆ ไม่ยืด ไม่เกร็ง 
 
 
 
การนั่งคุกเข่า
 
        เป็นกิริยาอาการนั่งเตรียมตัว เพื่อจะกราบพระรัตนตรัยแบบเบญจางคประดิษฐ์
 
 
วิธีการนั่งคุกเข่า ชาย (อุบาสก)
 
       นิยมนั่งคุกเข่า ตั้งปลายเท้าทั้งสองยันพื้นไว้   นิ้วเท้าพับลงราบกับพื้น เท้าทั้งคู่แนบชิดสนิทกันนั่งทับลงบนส้นเท้าทั้งคู่ แยกหัวเข่าทั้งสองออกห่างกันประมาณ ๑ คืบ อวัยวะที่ยันพื้นจะได้ฉากเป็นรูปสามเส้า เพื่อป้องกันมิให้ล้มได้ง่ายมือทั้งสองวางทอดราบไว้ที่เหนือหัวเข่าทั้งสองให้นิ้วมือทั้งห้าแนบชิดสนิทกัน วางมืออย่างสบาย ๆไม่มีอาการเกร็ง 
 
 
หญิง (อุบาสิกา)
 
        นิยมนั่งคุกเข่าราบ เหยียดหลังเท้าทั้งสองให้ราบกับพื้นไปทางด้านหลังให้ฝ่าเท้าทั้งสองแนบชิดสนิทกัน หรือให้ปลายเท้าทั้งสองทับกันเล็กน้อยก็ได้ นั่งทับ ลงบนฝ่าเท้าทั้งสองเข่าทั้งสองชิดกัน มือทั้ง สองวางทอดราบไว้ที่หัวเข่าทั้งสอง ให้นิ้วมือทั้งห้าแนบชิดสนิทกันวางมืออย่างสบาย ๆ ไม่มีอาการเกร็ง
 
 
มารยาทในการนอน 
 
๑. ไม่ทำเสียงดังรบกวนผู้อื่นขณะอยู่ในห้องนอน (หากนอนร่วมกันกับผู้อื่น)
 
๒. เมื่อไฟปิดแล้วไม่ควรทำให้มีแสงใด ๆ เกิดขึ้นในห้องนอน เช่น แสงไฟฉาย เป็นต้น
 
๓. ไม่วางสิ่งของใด ๆ ขวางทางเดินในห้องนอน เพราะอาจเดินสะดุดได้เวลากลางคืน
 
๔. นอนในที่นอนของตน, ไม่นอนบนที่นอนเดียวกัน ๒ คนขึ้นไป
 
๕. หันเท้าไปในทางเดียวกันกับเพื่อนร่วมห้อง และไม่หันไปในทางที่มีสิ่งสักการะบูชา
 
๖. นอนอย่างมีสติ สำรวมกิริยาอาการของร่างกาย 
 
 
น่าเสียดายถ้าไม่รู้ 
 
        ๑. ไม่นำมือทั้ง ๒ ข้างมาประสานกันวางบนอก ท้อง หน้าผาก            เพราะจะทำให้ขัดขวางต่อการพลิกตัวตามธรรมชาติของร่างกายขณะหลับ อาจเป็นเหตุนำมาซึ่งการฝันร้าย
 
       ๒. อย่านำเรื่องกังวัลหรือเรื่องราวต่าง ๆ เข้ามาคิดก่อนนอน อาจทำให้นอนไม่หลับ
 
      ๓. สวดมนต์ นั่งสมาธิ แผ่เมตตา ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย คุณบิดามารดา           คุณครูอุปณาย์อาจารย์ก่อนนอน จะทำให้หลับง่าย และหลับเป็นสุข 
 
 
การตื่นนอน
 
       หลายคนมองข้ามความสำคัญในช่วงการตื่นนอน โดยคาดไม่ถึงว่าคุณค่าของช่วงเวลาของการลืมตาตื่นขึ้นมาครั้งแรกของวัน อาจจะหมายถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการสร้างบารมีในวัน ๆ นั้นได้เลยทีเดียว
 
        หากวันใดเราตื่นขึ้นด้วยความรู้สึกเบิกบานสดชื่น ความสุขจากความสดชื่นจากใจที่เบิกบานจะทำให้เราทำอะไรได้สำเร็จอย่างง่ายดาย แต่หากวันใดเราตื่นขึ้นด้วยความรู้สึกหงอยเหงาเศร้าซึมอารมณ์ไม่สดใส จะทำให้เมื่อคิดจะทำอะไร ๆ ก็ดูจะมีอุปสรรคติดขัดไปเสียหมด เพราะความล้มเหลวนั้นเริ่มจากใจที่ขุ่นมัวเป็นเบื้องต้นเสียแล้ว
 
สิ่งที่ควรทำเมื่อตื่นนอน
 
๑. ตามเวลาที่กำหนด ลุกขึ้นอย่างกระฉับกระเฉงทำอารมณ์ให้เบิกบาน สดชื่นแจ่มใส และมีสติโดยตะแคงด้านขวา ใช้มือขวายันพื้นลุกขึ้นนั่งก่อนแล้วนั่งสมาธิแผ่เมตตาสักครู่หนึ่ง โดยมีลำดับขั้นตอนในการตื่นนอนดังนี้
 
๑.๑ นอนตะแคงขวา ถ้านอนในท่าอื่น เช่น นอนหงาย ก็ต้องตะแคงตัวก่อนเหมือนกัน
 
๑.๒ ใช้ข้อศอกช่วยรับน้ำหนัก
 
๑.๓ ใช้มือยันกายขึ้น
 
๑.๔ อยู่ในท่านั่งก่อน ค่อยยืนขึ้น (ดังรูป)
 
 
๒. เมื่อลุกนั่งแล้วควรบริหารร่างกาย ยืดเส้น ด้วยท่าคีมคู่ และ คีมเดี่ยว (ดังรูป)
 
๓.  ดื่มน้ำประมาณ ๑ ลิตร โดยดื่มช้า ๆ เพื่อป้องกันการจุกเสียดการดื่มน้ำในตอนเช้าทำให้ร่างกายสดชื่นช่วยให้เซลส์ในร่างกายตื่นตัว และช่วยในการเคลื่อนไหวของลำไส้ ทำให้ขับถ่ายได้สะดวก
 
๔. พับจัดเก็บอุปกรณ์เครื่องนอนจัดเข้าตู้ให้เรียบร้อย
 
๕. ทำภาระกิจส่วนตัว (ก่อนออกจากห้องควรปิดไฟ ปิดพัดลมให้เรียบร้อยก่อนทุกครั้ง)  
 
น่าเสียดายถ้าไม่รู้ 
 
  • การตื่นนอนตรงเวลา ทำให้รู้จักบริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
     
  • ตื่นเช้าอากาศบริสุทธิ์จิตใจแจ่มใส หน้าตาเบิกบานสดชื่นทั้งวัน
     
  • เหตุแห่งการนอนตื่นสาย เช่น ร่างกายอ่อนเพลีย สาเหตุจากการเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด,นอนผิดท่า, อากาศไม่ถ่ายเท, เก็บเรื่องกังวลมาคิด, ไม่สบาย เช่น เป็นไข้ นอนดึก หรือนอนไม่ตรงเวลา ขี้เกียจตื่น เป็นต้น

     

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

วัฒนธรรมชาวพุทธทั้งหมด

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล