วัฒนธรรมชาวพุทธ มารยาท การดูแลสุขภาพ พิธีกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

วัฒนธรรมชาวพุทธศาสนพิธีต่างๆ ทางพระพุทธศาสนา

วัฒนธรรมการใช้ปัจจัย ๔ ในชีวิตประจำวัน
การใช้อาคารสถานที่
ศาสนพิธี , ศาสนพิธีต่างๆ ทางพระพุทธศาสนา  

  
   ศาสนพิธีต่าง ๆ ช่วยทำให้ความศรัทธาต่อพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชนมีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เป็นสิ่งตอกย้ำใจให้ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยได้อย่างดีเยี่ยมจึงเป็นระเบียบแบบแผนอันดีงามที่ควรรักษา ไว้คู่กับพระพุทธศาสนาตลอดไป  ในพระพุทธศาสนาแบ่งศาสนาพิธีออกเป็น  ๔  หมวดใหญ่ ๆ ดังนี้

     ๑.  กุศลพิธี เป็นพิธีที่เกี่ยวเนื่องกับการอบรมความดีงามทางพระพุทธศาสนา  เช่น  การรักษาศีล เป็นต้น

     ๒.  บุญพิธี เป็นพิธีทำบุญเนื่องด้วยประเพณีการดำเนินชีวิตของคนทั่วไป มีบุญมงคลและอวมงคล  เช่น บุญขึ้นบ้านใหม่ บุญหน้าศพ  เป็นต้น

     ๓.  ทานพิธีเป็นพิธีถวายทานต่างๆ  เช่น ถวายสังฆทาน เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค  เป็นต้น

     ๔.  ปกิณกะพิธี เป็นพิธีเบ็ดเตล็ด ได้แก่การอาราธนาศีล การประเคนของพระ เป็นต้น

     ในที่นี้จะนำมาเฉพาะพิธีที่สำคัญ  ๆ อันเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของชาวพุทธเสมอ ๆ ดังต่อไปนี้ 
 

พิธีการตักบาตร   

       การตักบาตร   คือการนำข้าวและอาหารคาวหวานใส่บาตรพระหรือสามเณร โดยอาจทำประจำวันในท้องถิ่นชุมชนที่มีพระสงฆ์และสามเณรออกบิณฑบาต จะทำในวันเกิดของตนหรือวันสำคัญทางศาสนา รวมทั้งวัน ๘ ค่ำ และ ๑๔,๑๕ ค่ำ เป็นต้น

       เบื้องต้นของการตักบาตร ต้องเตรียมใจให้ผ่องใสเป็นกุศล เปี่ยมด้วยความเต็มใจบุญจะได้บังเกิดขึ้น ตั้งแต่เริ่มคิด ขณะทำก็อย่านึกเสียดาย ให้มีสุขใจ หลังจากให้ไปแล้วก็มีความปลื้มปีติยินดีในทานนั้น อย่านึก เสียดายเป็นอันขาด บุญกุศลจึงจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในการเตรียมของตักบาตร เช่นข้าวสารอาหารแห้ง หรืออาหารคาว ถ้าของสดพึงระวังอย่าให้ข้าวและอาหารนั้น ๆ ร้อนหรือเย็นจนเกินไปเพราะอาจทำให้เกิด ความลำบากแก่พระสงฆ์หรือสามเณร ที่ต้องอุ้มบาตรต่อไปในระยะทางไกล ของที่ใส่บาตรนั้นนิยมปฏิบัติ เป็นธรรมเนียมว่า ให้ยกขึ้นจบ (ยกขึ้นสูงระดับหน้าผาก ด้วยท่าประนมมือโดยอนุโลม) แล้วนิมนต์พระภิกษุ  หรือสามเณรว่า นิมนต์ครับ/นิมนต์ค่ะ เมื่อท่านเดินผ่านมาในระยะใกล้ แล้วใส่ของลงไปในบาตร กล่าว


คำถวายทานว่า
สุทินนัง  วะตะ  เม  ทานัง  อาสะวักขะยาวะหัง  โหตุฯ 

แปลว่า
ทานที่ข้าพเจ้าให้แล้วด้วยดี ขอจิตของข้าพเจ้านี้จงสิ้นอาสวะกิเลสเถิด 
     

       เมื่อใส่บาตรเสร็จแล้วนิยมทำการกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศลผลบุญแก่ผู้อื่นอันเป็นที่รักด้วย ช่วยทำให้เกิดความอิ่มเอิบใจ เป็นสุขให้แก่ผู้ปฏิบัติ     

 

พิธีถวายสังฆทาน  

      ถวายสังฆทาน  คือการถวายวัตถุที่ควรเป็นทานแก่สงฆ์ มิได้เจาะจงแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง  หากถวายเจาะจงเฉพาะรูป เรียกว่า "ปาฏิบุคลิกทาน"  ไม่ต้องมีพิธีกรรมอะไรในการถวาย ส่วนสังฆทานนั้นเป็นการถวายกลาง ๆ ให้สงฆ์ เฉลี่ยกันใช้สอย จึงมีพิธีกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะการถวายและการอนุโมทนาของสงฆ์ 

       สังฆทานมีแบบแผนมาแต่ครั้งพุทธกาล ผู้รับจะเป็นภิกษุหรือสามเณร หรือ พระสังฆเถระหรือ      พระอันดับชนิดไร ๆ เมื่อสงฆ์จัดไปให้ ผู้ถวายต้องตั้งใจต่อพระอริยสงฆ์  คือ อุทิศถวายเป็นสงฆ์จริง ๆ      ผู้รับรับในนามของสงฆ์เป็นส่วนรวม จึงเป็นการถวายสังฆทานด้วยใจที่เป็นกุศล  อิ่มเอิบเบิกบานในการถวาย      ทานวัตถุที่ถวายจะมากน้อยอย่างไรตามแต่สมควร  ประกอบด้วยภัตตาหารและบริวารของใช้ที่เหมาะแก่สมณะ บริโภค ถวายกี่รูปก็ได้แล้วแต่ศรัทธา  จะถวายที่วัดหรือสถานที่อื่น ๆ เช่น ที่บ้านหรือสถานที่ประกอบพิธีก็ได้

       การถวายสังฆทานนั้น เริ่มด้วยการจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย (ถ้ามี)  แล้วอาราธนาศีล และสมาทานศีล จากนั้นผู้ถวายทานประนมมือ ตั้งนะโม ๓ จบแล้วกล่าวคำถวายสังฆทาน เสร็จแล้วประเคนทานวัตถุแด่พระภิกษุสงฆ์

     หลังจากประเคนถวายพระสงฆ์แล้ว เมื่อพระสงฆ์ผู้นำสวดอนุโมทนาด้วยบท “ยะถา วาริ วหา....” ผู้ถวายทานเริ่มกรวดน้ำ จนถึงบทที่พระสงฆ์ผู้นำสวดถึง “.....มณิโชติ รโส ยะถา”  ก็ให้หยุดกรวดน้ำ แล้วประนมมือรับพรพระต่อไปจนจบ


การอาราธนาศีลและสมาทานศีล

     เบื้องต้นของการบำเพ็ญกุศลของพุทธศาสนิกชน ต้องมีพิธีรับสรณคมน์และศีลก่อนแล้วจึงค่อยอาราธนาพระปริตรถ้าบำเพ็ญบุญเกี่ยวกับการเทศน์จึงจะอาราธนาธรรม การที่ขอเบญจศีลก่อนเสมอไปทุกพิธีนั้น เพื่อชำระจิตให้บริสุทธิ์ ให้เป็นผู้มีศีลสมควรแก่การรองรั พระธรรมสรณคมน์ หมายความว่าขอถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งก่อนอาราธนาควรกราบพระพุทธรูป     ที่โต๊ะหมู่บูชาและบูชาพระก่อนแล้วจึงกล่าวคำอาราธนาตามด้วยการสมาทานศีล

        วิธีอาราธนานั้น บางแห่งให้มีผู้กล่าวอาราธนาแต่ผู้เดียว บางแห่งอาราธนาพร้อมกันทั้งหมด


คำอาราธนาศีล ๕ 

     (คำกล่าวนำ) บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า ศีลเป็นเบื้องต้น เป็นที่ตั้ง เป็นบ่อเกิดแห่งคุณความดีทั้งหลาย และเป็นประธานแห่งธรรมทั้งปวง บุคคลใดชำระศีลให้บริสุทธิ์แล่วจะเป็นเหตุให้เว้นจากความทุจริตจิตจะ      ร่าเริงแจ่มใส และเป็นท่าหยั่งลงมหาสมุทร คือ นิพพาน ดังนั้น ขอเรียนเชิญทุกท่าน พึงตั้งใจกล่าว คำอาราธนาศีล โดยพร้อมเพรียงกัน (นะครับ/นะค่ะ)

มะยัง  ภันเต  วิสุง  วิสุง  รักขะณัตถายะ, ติสะระเณนะ  สะหะ,  ปัญจะ  สีลานิยาจามะ,
ทุติยัมปิ  มะยัง  ภันเต  วิสุง  วิสุง  รักขะณัตถายะ, ติสะระเณนะ  สะหะ,  ปัญจะ  สีลานิยาจามะ,
ตะติยัมปิ  มะยัง  ภันเต  วิสุง  วิสุง  รักขะณัตถายะ, ติสะระเณนะ  สะหะ,  ปัญจะ  สีลานิยาจามะ,


คำถวายสังฆทาน

     (บทกล่าวนำ)  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า สัปบุรุษย่อมให้ทาน เช่น ข้าวและน้ำที่สะอาดประณีต ตามกาลอยู่เป็นนิจ  แก่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์  ซึ่งเป็นบุญเขตอันเยี่ยม  สำหรับผู้ให้เครื่องบริโภคนั้นได้ ชื่อว่าให้ฐานะห้าประการแก่ปฏิคาหก ดังต่อไปนี้คือ ให้อายุ  วรรณ  สุขะ  พละ  และปฏิภาณ  ผู้ให้ย่อมได้ ฐานะห้าประการนั้นด้วย  ท่านสาธุชนทั้งหลาย  บุญเท่านั้นที่เป็นที่พึ่งของพวกเราทั้งหลาย ดังนั้นขอเรียนเชิญทุกท่านพึงตั้งใจ กล่าวคำถวายภัตตาหารเป็นสังฆทานโดยพร้อมเพรียงกัน(นะครับ/นะค่ะ)

(กล่าวนำ – หันทะ มะยัง พุทธัสสะ ภะคะวะโต  ปุพพะภาคะนะมะการัง กะโรมะเส.)

นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ. (๓ ครั้ง)

อิมานะ มะยัง ภันเต, ภัตตานิ, สะปะริวารานิ, ภิกขุสังฆัสสะ, โอโณชะยามะ, สาธุโน ภันเต, ภิกขุสังโฆ,

อิมานะ, ภัตตานิ, สะปะริวารานิ, ปะฏิคคัณหาตุ, อัมหากัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ นิพพานายะจะ,

ข้าแต่พระภิกษะสงฆ์ผู้เจริญ, ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ขอน้อมถวาย, ภัตตาหาร, พร้อมด้วยบริวารทั้งหลายเหล่านี้,

แด่พระภิกษุสงฆ์, ขอพระภิกษุสงฆ์, จงรับ, ภัตตาหาร, พร้อมด้วยบริวารทั้งหลายเหล่านี้,  

ของข้าพเจ้าทั้งหลาย,เพื่อประโยชน์, เพื่อความสุข, เพื่อมรรคผลนิพพาน,

แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนาน เทอญ. 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

วัฒนธรรมชาวพุทธทั้งหมด

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล