วัฒนธรรมชาวพุทธ มารยาท การดูแลสุขภาพ พิธีกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

วัฒนธรรมชาวพุทธโต๊ะหมู่บูชา

โต๊ะหมู่บูชา


     การทำบุญบำเพ็ญกุศลถือว่าเป็นงานมงคล  อันมีองค์พระปฏิมากรหรือพระพุทธรูปองค์แทนของพระพุทธเจ้าเป็นประธาน  พระพุทธรูปนั้นจึงควรตั้งประดิษฐานบนโต๊ะบูชาที่มีระดังสูงพอสมควร ให้อยู่เหนือระดับอาสนะสงฆ์เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความเคารพสักการะ โต๊ะหมู่บูชาที่นิยมใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา ประกอบด้วย   โต๊ะหมู่ ๕  หมู่ ๗  และหมู่ ๙
 

 
น่าเสียดายถ้าไม่รู้ 

  • หากไม่มีโต๊ะหมู่จะใช้ตั่งหรือโต๊ะอื่น ๆ ที่พอเหมาะลักษณะไม่สูงไม่ต่ำ และไม่ใหญ่เกินไปที่สะอาดแทนก็ได้
  • ถ้าชุบน้ำมันยางที่ใส่เทียนและที่ปลายธูปสักเล็กน้อยก่อนจุดไฟ จะช่วยให้จุดง่ายขึ้น
  • การตั้งเครื่องบูชานั้น ควรจัดให้เรียบร้อยงามตา  อย่าให้มีสิ่งใดบังพระพุทธรูป ไม่ควรเอาเครื่องบูชาตั้งเสมอพระพุทธรูป
  • การตั้งโต๊ะหมู่ ควรตั้งเบื้องขวาของพระสงฆ์เสมอ โดยเรียงเป็นแถวแนวเดียวกัน ถ้าหากพื้นที่มีจำกัดก็ให้พระพุทธรูปผินพระพักตร์มาทางพระสงฆ์  โดยไม่ตรงแถวเดียวกันก็ได้

 

เครื่องสักการะบูชาพระรัตนตรัย

          ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา  ทั้งงานมงคลและงานอวมงคล มีเครื่องสักการะ 3 อย่างคือ  
 ๑.  ธูป    ๒.  เทียน    ๓.  ดอกไม้


ธูปสำหรับบูชาพระพุทธเจ้า

      ๑. นิยมจุด ๓ ดอกเป็นอย่างน้อย  โดยหมายถึง พระพุทธคุณ ๓ ประการคือ พระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณ  จึงใช้ธูป ๓ ดอก จุดบูชาพระคุณทั้ง ๓ นี้

       ๒. แต่บางท่านก็อธิบายว่า ธูป ๓ ดอกนั้นบูชาพระพุทธเจ้า ๓ ประเภท  คือ พระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต                พระพุทธเจ้าทั้งหลายในอนาคต  พระพุทธเจ้าทั้งหลายในปัจจุบัน

     ๓. ธูปมีกลิ่นหอม  ที่แตกต่างจากกลิ่นหอมใด ๆ ในทางโลก เมื่อบุคคลสูดกลิ่นแล้ว ทำให้กิเลสยุบตัวลงทำให้จิตใจสงบไม่ฟุ้งซ่าน  ธูปนั้นแม้ไฟไหม้หมดแล้ว กลิ่นยังหอมอบอวลอยู่ในบริเวณนั้นเป็นเวลานาน ดั่งพระคุณของพระพุทธเจ้าก็เป็นที่ซาบซึ้งถึงจิตใจของบุคคลทั้งหลายสิ้นกาลนาน


เทียนสำหรับบูชาพระธรรม

     นิยมจุดบูชาครั้งละ ๒ เล่มเป็นอย่างน้อย โดยหมายถึง พระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ แยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ  

      ๑.  พระวินัย สำหรับฝึกหัดกาย  วาจาให้เป็นระเบียบเรียบร้อย

   ๒.  พระธรรม สำหรับอบรมจิตใจ ให้สงบระงับจากความชั่วทุจริตทุกประการนำแสงสว่างแห่งปัญญามาสู่จิตใจ เหมือนแสงเทียนกำจัดความมืด นำความสว่างมาสู่ที่นั้น ๆ

 

ดอกไม้สำหรับบูชาพระสงฆ์        

    ดอกไม้เมื่ออยู่ในที่เกิดของมัน ย่อมงดงามตามควรแก่สภาพของพันธุ์ไม้นั้น ครั้นนำมากองรวมกันมิไม้จัดสรร ก็หาความเป็นระเบียบมิได้ ไม่น่าดู ไม่น่าชมแต่หากช่างดอกไม้ผู้ฉลาดมาจัดสรรใส่แจกันหรือจัดใส่พานให้เป็นระเบียบ ย่อมเกิดความเรียบร้อยสวยงาม  น่าดู  น่าชม        สงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็เช่นกัน เมื่อยังเป็นคฤหัสถ์ ย่อมมีกิริยามารยาททาง กาย  วาจา  ใจ  เรียบร้อยตามสมควรแก่ภูมิชั้นแห่งตระกูลของตนๆ หยาบบ้าง ปานกลางบ้าง ละเอียดบ้าง        ครั้นคฤหัสถ์เหล่านั้น มีศรัทธาเข้ามาบวชอยู่ร่วมกันพระพุทธเจ้า เปรียบดั่งช่างทำดอกไม้ผู้ชาญฉลาด ทรงวางพระธรรมวินัยไว้เป็นแบบแผนประพฤติปฏิบัติ  จัดให้สงฆ์สาวกเหล่านั้นอยู่ในระเบียบเดียวกัน จึงเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยน่าเคารพสักการบูชา          ดอกไม้ นิยมให้เพรียบพร้อมด้วยลักษณะ ๓ ประการ คือ สีสวย กลิ่นหอม กำลังสดชื่น จึงนิยมจัดเปลี่ยนให้สดอยู่เสมอ  อันจะแสดงให้เห็นถึงความสดชื่นความเจริญรุ่งเรือง ไม่นิยมปล่อยให้เหี่ยวแห้งเพราะความเหี่ยวแห้ง เป็นนิมิตหมายของความหดหู่ใจความเสื่อมโทรม

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

วัฒนธรรมชาวพุทธทั้งหมด

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล